ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เวทีประชาพิจารณ์ กม.บัตรทอง ระอุ “กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคกลาง” จัดเวทีคู่ขนานนอกห้องประชุม คัดค้านร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พร้อมนอนหน้าห้องประชุม แสดงสัญลักษณ์ “แก้ กม.ข้ามหัวประชาชน” แถมโผล่มือที่ 3 ป่วนภาคประชาชน แย่งป้ายคัดค้าน ดึงปลั๊กเครื่องขยายเสียงของภาคประชาชน ขณะที่ตำรวจเข้าคุมเข้ม เพื่อเดินหน้าเวทีประชาพิจารณ์ฯ ต่อเนื่อง ด้าน “วรากรณ์” ยันประชาพิจารณ์ฯ 4 ภาค ไม่ล้มเหลว เดินหน้าเวทีปรึกษาสาธารณะต่อ เสนอ รมว.สธ. 18 ก.ค. นี้ ขณะที่ “หมอพลเดช” สรุป 4 เวที มีผู้ร่วมประชาพิจารณ์ประมาณ 2 พันคน

ที่โรงแรมเซ็นทารา ศูนย์ราชการ และคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ – เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน 2560 เมื่อเวลา 09:00 น. นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ และประธานคณะอนุกรรมการดำเนินการประชาพิจารณ์พิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (ฉบับที่...) พ.ศ. ... เป็นประธานในพิธีเปิดเวทีประชาพิจารณ์ (Public Hearing)เรื่อง “การแก้ไขเพิ่มเติม (ร่าง) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ โดยเป็นการจัดประชาพิจารณ์ในระดับภูมิภาคเป็นครั้งสุดท้าย ภายหลังจากที่ได้ดำเนินที่ภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคอีสานก่อนหน้านี้ ทั้งนี้มีผู้ร่วมลงทะเบียนแสดงความเห็นในเวทีประชาพิจารณ์นี้ประมาณ 600 คน

ทั้งนี้ก่อนถึงเวลาเปิดเวทีประชาพิจารณ์ 5 นาที กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพและเครือข่ายผู้ป่วย นำโดย นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ นายอภิวัฒน์ กวางแก้ว ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์แห่งประเทศไทย นายธนพลธ์ ดอกแก้ว ประธานชมรมเพื่อนโรคไต ได้เปิดเวทีคู่ขนานด้านนอกห้องประชุมเพื่อแสดงความเห็น โดยคัดค้านร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม และไม่ร่วมการประชาพิจารณร่างกฎหมายนี้ โดยมีการชูป้ายข้อความ อาทิ “ถ้าแก้แล้วแย่ อย่าแก้ดีกว่า” พร้อมอ่านแถลงการณ์ “กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาพกลาง ตะวันตก ตะวันออก และ กทม. ขอให้ยุติกระบวนการทั้งหมดและเริ่มต้นใหม่ให้สมดุล” นอกจากนี้ยังได้พร้อมใจล้มตัวลงนอนหน้าห้องประชุมเป็นการแสดงสัญลักษณ์ว่า เป็นการแก้ไขกฎหมายที่ข้ามหัวประชาชน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเริ่มต้นของการเปิดเวทีคู่ขนานได้เกิดเหตุชุลมุนขึ้น โดยมีกลุ่มบุคคลคนไม่ทราบฝ่ายได้ดึงปลั๊กเครื่องกระจายเสียงพร้อมกับแย่งป้ายของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ ทำให้กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพส่วนหนึ่งลุกฮือขึ้น ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ควบคุมความสงบได้เข้ารักษาความปลอดภัยจนเกิดความวุ่นวาย โดยภายหลังเจ้าหน้าที่ตำรวจได้มีการควบคุมตัวชายไม่ทราบชื่อออกไปจากบริเวณที่กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพเคลื่อนไหว พร้อมกันนี้ พ.ต.ท.ปริญญา กลิ่นเกษร ผบ.กองร้อยควบคุมฝูงชน บ.ชน.2 ได้เข้าเจรจากับแกนนำกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพโดยขอให้ชุมนุมโดยสงบ ไม่ชูป้ายหมิ่นเหม่คัดค้านการประชุม ไม่รบกวนเวทีประชาพิจารณ์ พร้อมขอให้งดการใช้เครื่องกระจายเสียงลง และหากต้องการแสดงความเห็นอยากให้เข้าไปในที่ประชุม

พร้อมกันนี้ พ.ต.ท.ปริญญา ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนว่า ได้ขอให้เก็บป้ายข้อความและงดใช้เครื่องกระจายเสีย หากยังดำเนินการสุ่มเสี่ยงต่อการจ้องล้มการประชุมเราคงยอมไม่ได้ ทั้งนี้สาเหตุการเข้ารักษาความสงบครั้งนี้ เนื่องจากทราบว่ามีการล้มการประชุมหลายครั้ง ทางผู้บังคับบัญชาจึงเกรงว่าจะมีเหตุดังกล่าวเกิดขึ้นอีก จึงได้ให้นำกำลังมาสแตนบายไว้ ไม่ได้มาใช้กำลังกับประชาชนแต่อย่างใด

ขณะเดียวกันการประชาพิจารณ์ฯ ภายในห้องประชุมยังดำเนินต่อไป มีผู้เข้าร่วมแสดงความเห็นประมาณ 300 คน โดยผู้แสดงความเห็นส่วนใหญ่เป็นฝ่ายผู้ให้บริการ โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานอยู่ในระบบ ซึ่งต่างเห็นด้วยกับการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ ในครั้งนี้ เนื่องจากมีการใช้มาร่วม 15 ปีแล้ว อาทิ นายสรัตน์ชัย ยิ้มสุข, นพ.ธีรพงศ์ ตุนาค, แพทย์หญิงอรรัตน์ จันทร์เพ็ญ, นางศิริวรรณ มุลิ, นพ.ศิริชัย ลิ้มสกุล, นางสาวนิลาวรรณ มัศยาอานนท์, นพ.ทรงพล ชวาลตันพิพันธ์, นพ.ทรงวุฒิ หุตามัย และ นพ.นำพล แดนพิพัฒน์ เป็นต้น โดยต่างสนับสนุนทั้งประเด็นการแยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว การขยายคุ้มครองผู้ให้บริการกรณีมีความเสียหายจากการบริการสาธารณสุข และการร่วมจ่ายที่ต้องมีหลักเกณฑ์ร่วมจ่ายที่ชัดเจนและการเพิ่มสัดส่วนบอร์ด สปสช.ในส่วนผู้ให้บริการ เป็นต้น

อย่างไรก็ตามยังคงมีภาคประชาชนบางส่วนที่รวมแสดงความเห็น อาทิ นางโสภิดา มลมาด, นางเบ็จภรณ์ อารยวุฒิ, นางสายชล สรทัตต์, นางสุนีปภา พงศ์ภัคประเสริฐ นายประพจน์ บุญมี และนางสาววาณี จาตะวงศ์ เป็นต้น โดยต่างแสดงความเป็นห่วงในประเด็นการระบุเรื่องร่วมจ่ายที่ยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะการร่วมจ่าย ณ จุดบริการที่อาจเป็นปัญหาต่อการเข้าถึงบริการของประชาชน การเข้าถึงยา รวมถึงสัดส่วนบอร์ด สปสช.ที่อยากให้เพิ่มในส่วนของประชาชน

สำหรับในส่วนของแถลงการณ์กลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพภาคกลาง ตะวันตก ตะวันออก และ กทม. ระบุว่า “กลุ่มคนรักหลักประกันฯ ประกาศยืนยันแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติครั้งนี้ ไม่ได้ลดความเหลื่อมล้ำ ไม่มีการเพิ่มสิทธิประชาชน มีแนวโน้มการร่วมจ่าย ทั้งมองบุคคลแค่เลข 13 หลัก และเขี่ยการมีส่วนร่วมของภาคประชาขน นอกจากนี้กระบวนการแก้กฎหมายยังไม่สมดุล ประชาชนไม่มีโอกาสมีส่วนร่วมตั้งแต่ต้น ที่สำคัญไม่มีคำตอบว่า การจัดเวทีความเห็นที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาสาระของกฎหมายได้ดีขึ้นอย่างไร จึงเรียกร้องให้หยุดกระบวนการทั้งหมด และเริ่มกระบวนการแก้ไขกฎหมายใหม่ที่สมดุลและมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย”

พร้อมระบุถึงประเด็นที่ควรปรับแก้เพื่อนำไปสู่การปฏิรูประบบบริการสุขภาพ อาทิ แก้ไขมาตรา 9, 10 และ 11 เพื่อให้มีบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐานและมีคุณภาพ รวมถึงเป็นสิทธิประโยชน์เดียวสำหรับทุกคน, คัดค้านการ่วมจ่ายที่หน่วยบริการ แต่สนับสนุนให้จัดเก็บภาษีเพิ่มเติมแทน, การให้อำนาจ สปสช.ในการจัดซื้อยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ราคาแพงที่เป็นปัญหาเข้าถึง และคัดค้านการเพิ่มโครงสร้างผู้ให้บริการในบอร์ด สปสช.เป็นต้น

ด้าน ศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการยกร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติฯ กล่าวถึงภาพรวมประชาพิจารณ์ฯ ระดับภูมิภาคทั้ง 4 ครั้งว่า เป็นตัวอย่างการทำประชาพิจารณ์ฯ และไม่ได้เรียกว่าล้มเหลว เพราะเรามีถึง 4 ช่องทางในการสื่อสารความเห็น ทั้งการแสดงความเห็นผ่านเว็บไซต์ การให้ข้อมูลโดยการคีย์ผ่านคอมพิวเตอร์ การเขียนลงกระดาษ และการพูด 3 นาที ซึ่งทั้ง 4 ภาค มีเพียงภาคอีสาน ขอนแก่นเพียงที่เดียวที่เหลือเพียง 3 ช่องทาง แต่ประชาพิจารณ์วันนี้ดำเนินการครบ 4 ช่องทาง ส่วนการแสดงออกภาคประชาชนเป็นประชาธิปไตย เป็นสิ่งที่รับได้ สำหรับในส่วนการจัดเวทีปรึกษาสาธารณะยังคงเดินหน้าเหมือนเดิม ซึ่งจะเป็นรูปแบบของแสดงความเห็นกลุ่มย่อยเพื่อประมวลความเห็นทั้งหมดอีกครั้ง

ส่วนกรณีที่ภาคประชาชนเสนอขอให้เริ่มต้นร่างกฎหมายใหม่นั้น ที่ผ่านมาเราได้ใช้เวลาเกือบ 3 เดือน มีความเห็นจากผู้รู้ทั้งหมด จึงเห็นว่าไม่มีอะไรต้องร่างใหม่ เพียงแต่หากมีข้อคิดอย่างไรก็ให้นำเสนอเข้ามาเพิ่มเติม เพราะการเริ่มต้นใหม่จะทำให้เสียเวลาเปล่าๆ โดยคณะกรรมการยกร่างฯ จะประชุมจัดทำร่าง และจะส่งให้ รมว.สาธารณสุขในวันที่ 18 กรกฎาคม นี้ เพื่อนำเสนอต่อ ครม. กฤษฎีกา และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ต่อไป

ขณะที่ นพ.พลเดช กล่าวว่า ภาพรวมแม้ว่าที่ขอนแก่นจะไม่มีการเปิดเวทีพูด เนื่องจากมีการยึดเวทีที่เป็นการละเมิดสิทธิผู้อื่น แต่ก็ยังมีอีก 3 ช่องทาง โดยภาพรวมประชาพิจารณ์ฯ ทั้ง 4 ภาคมีผู้ร่วมประชาพิจารณ์ประมาณ 2 พันคน โดยความเห็นที่เสนอเข้ามาจะมีการรวบรวมทุกช่องทางทั้งหมด รวมถึงแถลงการณ์ภาคประชาชน และจะทำการรวบรวมสรุปให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายน นี้ โดยจะมีการนำผลการรับฟังความเห็นส่งไปยังคณะกรรมการยกร่างฯ และเผยแพร่ให้ประชาชนรับทราบต่อไป