ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แนวคิด :

ระบบบริการสาธารณสุขปฐมภูมิถือว่ากลไกและยุทธศาสตร์สำคัญในการพัฒนาระบบสาธารณสุขของประเทศ โดยความเข้มแข็งของระบบบริการสาธารณสุขปฐมภูมินั้นมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับภาวะสุขภาพของประชาชนในประเทศ และระบบบริการสาธารณสุขปฐมภูมิ มีบทบาทสำคัญในการทำให้สุขภาพและการเข้าถึงบริการสุขภาพของประชาชนดีขึ้น

งานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพก็เป็นอีกกลไกหนึ่งที่ในปัจจุบันได้ถูกบรรจุลงไปในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (พ.ศ.2555-2559) ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าวิชาชีพเภสัชกรรมนั้นมีบทบาทสำคัญต่องานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ โดยการคุ้มครองผู้บริโภคในภาครัฐ กฎหมายจะกำหนดให้เภสัชกรเป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินงานคุ้มครองผู้บริโภคในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่

เรื่องเล่า :

หลังจากจบการศึกษาระดับปริญญาตรี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้บรรจุรับราชการที่โรงพยาบาล 30 เตียงแห่งหนึ่งใน จังหวัดกาฬสินธุ์ ปฏิบัติงานจ่ายยาทุกวันแม้วันหยุดเนื่องจากสมัยนั้นเภสัชกรถูกผลิตออกสู่ภาครัฐเป็นจำนวนน้อยกว่าปัจจุบัน โดยทั้งอำเภอมีเภสัชกรอยู่เพียง 2 คนเรียกได้ว่าเป็นที่ “ฮักแพง” หรือ “เป็นที่รัก” ของผู้อำนวยการโรงพยาบาล แม้จะเป็นเพียงโรงพยาบาลเล็กๆ แต่จำนวนคนไข้ไม่เล็กตามขนาดของโรงพยาบาลเลย ดังนั้นการจ่ายยาให้แม่นยำ, รวดเร็วและถูกต้องจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ด้วยเหตุนี้การได้รับประทานอาหารเที่ยงตรงเวลานั้นคงเป็นเรื่องยากที่เภสัชกร 2 ท่านจะได้รับประทานพร้อมกัน

2 ปีที่ชีวิตเภสัชกรอย่างดิฉันต้อง “อยู่หลังเคาน์เตอร์จ่ายยา” ต้องมานั่งทบทวนว่าเราจบออกมาเราจะทำหน้าที่เพียงจ่ายยาไปวันๆ หรืออย่างไร ประจวบเหมาะกับสมัยนั้นกระทรวงสาธารณสุขได้ปฏิรูประบบราชการใหม่นั่นคือ “ระบบบริการสาธารณสุขปฐมภูมิ” และในระบบบริการสาธารณสุขปฐมภูมิมีงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพให้ต้องดำเนินงานโดยเภสัชกร

จึงได้เริ่มลงพื้นที่เพื่อเฝ้าระวัง “ยาสเตียรอยด์ในร้านชำ” จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดแรงบันดาลใจที่จะเริ่มหันหลังให้ “เคาน์เตอร์จ่ายยา.…มุ่งหน้าสู่ชุมชน” เพราะคิดว่าจะสามารถทำประโยชน์ให้แก่ประชาชนของพระองค์เจ้าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชที่เรียกสั้นๆ ว่า “ข้าราชการ”ของพ่อหลวง จึงมุ่งมั่นที่จะศึกษา “การคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ” จนจบปริญญาโทด้านการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และได้มีโอกาสเป็นเภสัชกรคนแรกในกลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลขอนแก่น และมุ่งมั่นที่จะทำระบบบริการสาธารณสุขปฐมภูมิภายใต้ชื่องานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ให้ประชาชนได้คุ้มครองสุขภาพของตนเองให้ได้ด้วยตนเอง

และในปี 2558 ได้ผลักดันให้เกิดอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านสาขาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพที่เข้มแข็งขึ้นในเขตเมือง ซึ่งเป็นการสร้างเครือข่ายสุขภาพให้แกนนำประชาชนที่ดูแลชุมชนด้วยชุมชน จนชุมชนได้รับรางวัลชนะเลิศอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านอันดับ 3 ระดับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สาขาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ปี 2558 คือคุณแม่บังอร แก้วเพชร ผู้นำอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านชุมชนบ้านดอนหญ้านาง ซึ่งถือเป็นเรื่องเล่าที่ดิฉันภาคภูมิใจยิ่งนัก

คุณแม่บังอร แก้วเพชร

“จากเคาน์เตอร์จ่ายยา…มุ่งหน้าสู่ชุมชน” ดิฉันมุ่งมั่นปฏิบัติหน้าที่จนเกิดแกนนำที่เข้มแข็งในการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ ชุมชนบ้านดอนหญ้านาง ตำบลในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น ซึ่งเป็นชุมชนเมืองที่ประชาชนมีลักษณะต่างคนต่างอยู่ทุกคนให้ความสำคัญต่อการทำงานเพื่อหาเลี้ยงครอบครัวเป็นหลัก จึงเกิดสถานประกอบการด้านสุขภาพขึ้นมากมายเช่น ตลาดสด, ร้านอาหาร, ร้านชำ เป็นต้น นำมาซึ่งการใส่ใจต่อสุขภาพย่อมน้อยลง

สถานประกอบการด้านสุขภาพเหล่านี้มีบทบาทสำคัญต่อชุมชนเป็นอย่างมากและแน่นอนความเสี่ยงด้านสุขภาพก็ย่อมเกิดขึ้นเช่นกัน หากแต่ชุมชนนี้ไม่ได้ใส่ใจดูแลสุขภาพตนเองและคนอื่นในชุมชนย่อมเกิดปัญหาสุขภาพตามมา ซึ่งในช่วงหนึ่งเกิดปัญหาโรคอุจจาระร่วง, โรคกระเพาะอาหารและปัญหาการกระจายยาเสตียรอยด์ในชุมชนเป็นต้น เมื่อเกิดความเข้มแข็งขึ้นในแกนนำอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ชุมชนดอนหญ้านาง ภายใต้แกนนำการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพคือคุณแม่บังอร แก้วเพชร ปัญหาสุขภาพในชุมชนก็เริ่มจะควบคุมได้

การดำเนินงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านชุมชนดอนหญ้านางนั้น สำเร็จได้ด้วยการทำงานกันเป็นทีมและเครือข่าย โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐก็คือ งานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ กลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลขอนแก่นและฝ่ายอาหารปลอดภัย เทศบาลนครขอนแก่นเป็นที่ปรึกษาและแรงขับเคลื่อนหลัก ทำให้เกิดความยั่งยืนในระบบบริการปฐมภูมิขึ้นแม้จะเป็นจุดเล็กๆ ชุมชนเล็กๆ ที่เกิดขึ้นในจังหวัดขอนแก่น

ดิฉันจึงภาคภูมิใจที่การตัดสินใจ “จากเคาน์เตอร์จ่ายยา.…มุ่งหน้าสู่ชุมชน” และเป็นส่วนหนึ่งของสมาคมเวชกรรมสังคมแห่งประเทศไทย จวบจนวันนี้ดิฉันมั่นใจว่าความผูกพันระหว่างชุมชนดอนหญ้านางกับดิฉันในการเกื้อกูลกันและกันจนเกิดความเข้มแข็งจะพัฒนาให้เกิดระบบบริการสาธารณสุขปฐมภูมิที่หยั่งยืน อย่างน้อยๆ ก็มีจุดเริ่มต้นที่ดีในการร่วมกันดูแลประชาชน

ผู้เขียน : ภญ.รัตติกาล แสนเย็น งานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ กลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลขอนแก่น

ภญ.รัตติกาล แสนเย็น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง