ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การชันสูตรพลิกศพในประเทศไทยนั้น มีหลักฐานว่าเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยอยุธยา กล่าวคือในสมัยพระเจ้าทรงธรรม มีหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าชาวโปรตุเกสเป็นแพทย์ชันสูตรศพครั้งแรกในสมัยนั้น จากกรณีการตายของพ่อค้าชาวอังกฤษชื่อ เบนจามิน แฟร์ ซึ่งมีการสันนิษฐานว่าน่าจะเสียชีวิตจากการถูกวางยาพิษ จึงให้แพทย์ชาวโปรตุเกสทำหน้าที่ชันสูตรศพ

อันสอดคล้องกับหลักฐานการตั้งโรงพยาบาลโดยชาวโปรตุเกสในอยุธยา ในปี พ.ศ. 2162 โดยมีจดหมายจากอุปราชโปรตุเกสแห่งเมืองกัวมาถึงกัปตันกาซปาร์ ปาเชกู ที่ได้รับแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าชุมชนโปรตุเกสในอยุธยา เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2162 ชักชวนให้ผู้คนร่วมกันสร้างเรือนรักษาหรือโรงพยาบาลขึ้นที่ท่าเรือเหมือนที่เคยมีมาก่อน สันนิษฐานว่าเรือนรักษาหรือโรงพยาบาลนี้จะทำหน้าที่ในการดูแลรักษาชนชาติยุโรปอื่นๆ นอกเหนือจากชาวโปรตุเกสด้วย

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของการชันสูตรพลิกศพในประเทศไทย เริ่มชัดเจนมากขึ้นในปี ร.ศ.116 หรือ พ.ศ. 2440 อันเป็นช่วงที่ประเทศไทยได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติปกครองท้องที่ ร.ศ.116 มาตรา 47 ข้อ 1 ซึ่งมีข้อความว่า "ถ้าผู้ถูกกระทำร้ายจะทำการชันสูตรบาดแผลของตนเพื่อเป็นหลักฐานในทางคดีความก็ตามหรือพรรคพวกผู้ตายจะขอให้ชันสูตรศพเพื่อเป็นหลักฐานในเหตุความตายนั้นก็ตาม ทั้งนี้เป็นหน้าที่ของกรมการอำเภอ ที่จะทำการชันสูตรตามวิธีที่บังคับไว้ในกฎหมาย ถ้าการชันสูตรนั้นจะมาทำยังที่ว่าการอำเภอไม่ได้ กรมการอำเภอก็ต้องไปชันสูตรให้ถึงที่"

ภายหลังปี พ.ศ. 2441 หลังจากพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าวประกาศใช้ได้เพียง 1 ปี กรมพลตระเวนซึ่งต่อมาคือกรมตำรวจหรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติในปัจจุบัน ซึ่งมีเจ้ากรมคนแรกคือ นายอีริก เจ ลอว์สัน ชาวอังกฤษ ได้มองเห็นความสำคัญของการมีสถานที่รักษาพยาบาลเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เจ็บป่วย พร้อมกับช่วยชันสูตรบาดแผลและชันสูตรศพเพื่อประกอบการพิจารณาคดีต่าง ๆ ในด้านของตำรวจ จึงได้จัดตั้งสถานพยาบาลของตำรวจขึ้นที่ตำบลพลับพลาไชย มีชื่อเรียกว่า "โรงพยาบาลวัดโคก" หรือโรงพยาบาลกลาง ในปัจจุบัน โดยมีนายแพทย์ชาวต่างประเทศหลายคนมาช่วยดำเนินการ และในเวลาต่อมาจึงมีนายแพทย์ชาวไทยที่สำเร็จวิชาแพทย์จากโรงพยาบาลศิริราชมาร่วมงานด้วย เช่น ร.ต.อ.ขุนแพทย์พลตระเวน หรือหลวงบริบาลเวชกิจ และ ร.ต.อ.ขุนเจนพยาบาล หรือ พ.ต.ท.หลวงเจนพยาบาล เป็นต้น

ในเวลาต่อมา พ.ศ. 2457 ได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติชันสูตรศพ พ.ศ. 2457 และในปี พ.ศ. 2479 ได้ประกาศใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา พ.ศ. 2478 เรื่องการชันสูตรพลิกศพ ให้อยู่ในมาตรา 148 ถึงมาตรา 156 ต่อมาในปี พ.ศ. 2496 กรมตำรวจได้จัดตั้ง "ฝ่ายนิติเวชวิทยา" ขึ้นเป็นแห่งแรกในโรงพยาบาลกรมตำรวจ เพื่อทำหน้าที่ในการชันสูตรพลิกศพผู้ตาย

ต่อมาพ.ศ. 2503 ได้ประกาศใช้พระราชกฤษฎีกา แบ่งส่วนราชการกองแพทย์ กรมตำรวจ ออกเป็น 4 แผนก โรงพยาบาลตำรวจเป็นแผนกหนึ่งของกองแพทย์ แบ่งออกเป็น 13 แผนกวิชา ฝ่ายนิติเวชวิทยาได้เปลี่ยนฐานะเป็น "แผนกวิชานิติเวชวิทยา " และสร้างตึก "ตวงสิทธิ์อนุสรณ์" เป็นที่ทำงานของฝ่ายนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจในปี พ.ศ. 2506 พร้อมกับจัดตั้งกรมตำรวจสร้างอาคาร 3 ชั้น เป็นที่ทำงานใหม่ของฝ่ายนิติเวชวิทยา โดยไม่ขึ้นตรงกับหน่วยงานใดในปี พ.ศ. 2515

กระทั่งปี พ.ศ. 2523 แผนกนิติเวชวิทยาได้ปรับฐานะขึ้นเป็น "กองบังคับการ" เป็นหนึ่งในสี่ของกองบังคับการในสังกัดสำนักงานแพทย์ใหญ่ กรมตำรวจ ใช้ชื่อว่า "สถาบันนิติเวชวิทยา" ตามคำสั่งกรมตำรวจที่ 35/2523 เป็นองค์กรรับผิดชอบงานนิติเวชศาสตร์ของประเทศไทยนับแต่นั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน

เก็บความจาก

หอจดหมายเหตุและพิพิธภัณฑ์สุขภาพไทย.ประวัติศาสตร์สุขภาพไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา. แหล่งที่มา: http://www.nham.or.th/content/30/1/

วิกิพีเดีย สาราณุกรมเสรี.การชันสูตรพลิกศพในไทย. แหล่งที่มา: https://th.wikipedia.org/wiki/