ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ยาเหลือใช้เป็นปัญหาสำคัญที่กำลังได้รับความสนใจในปัจจุบันทั้งในด้านผลกระทบต่อระบบสาธารณสุข ปัญหาด้านกระบวนการและผลลัพธ์จากการรักษาโรคด้วยยา ความสูญเสียด้านมูลค่ายา และผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการกำจัดยาด้วยวิธีการที่ไม่เหมาะสม

โดยพบว่าการศึกษาปัญหายาเหลือใช้ได้รับความสนใจจากหลากหลายประเทศทั่วโลก ทั้งในทวีปยุโรป ออสเตรเลีย แอฟริกา และเอเชีย รวมถึงประเทศไทย และแม้ว่าประเทศเหล่านั้นจะมีความแตกต่างด้านคุณลักษณะประชากร สังคมและระบบบริการสาธารณสุข รวมถึงความแตกต่างด้านระบบการสั่งยาและการกระจายยา แต่ปัญหายาเหลือใช้ก็ยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องได้รับการแก้ไข

ย้อนรอยการศึกษาปัญหายาเหลือใช้ในประเทศไทย

ในประเทศไทยมีการศึกษาปัญหายาเหลือใช้มาตั้งแต่ พ.ศ.2541 โดย สุวรรณี เจริญพิชิตนันท์ ได้ศึกษายาเหลือใช้จากยาที่ผู้ป่วยนำมาบริจาคที่โรงพยาบาลรัฐบาลแห่งหนึ่งเป็นระยะเวลา 3 เดือน พบว่า จำนวนยาเหลือใช้ทั้งหมดเท่ากับ 1,550 รายการมูลค่ารวม 140,202 บาท โดยกลุ่มยาแก้ปวดหรือลดไข้ ยาต้านการอักเสบและยาในโรคเกาต์ เป็นกลุ่มยาที่ถูกนำมาคืนเป็นจำนวนมากที่สุด 253 รายการ และกลุ่มยาโรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นกลุ่มยาที่มีมูลค่าการคืนยามากที่สุดคือ 36,927 บาท

ต่อมาในปี พ.ศ. 2547 โพยม วงศ์ภูวรักษ์และคณะ ได้สำรวจยาเหลือใช้จากประชาชน 931ครัวเรือนในจังหวัดสงขลา พบรายการยาเหลือใช้ทั้งหมด 1,004 รายการ จาก 453 ครัวเรือน โดยมีกลุ่มยาแก้ปวดกล้ามเนื้อและข้อเป็นกลุ่มยาที่ถูกนำมาคืนบ่อยที่สุด

สาเหตุหลักของการมียาเหลือใช้คือ ผู้ป่วยคิดว่าไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาอีกต่อไปเนื่องจากไม่มีอาการหรือหายจากโรคแล้ว โรคที่เป็นไม่รุนแรงและไม่จำเป็นต้องใช้ยาให้หมด อีกทั้งผู้จ่ายยาไม่ได้ย้ำว่าต้องใช้จนหมด

กระทั่งในปี พ.ศ. 2555 ณธร ชัยญาคุณาพฤกษ์และคณะ ได้ศึกษาขนาดและผลกระทบทางการคลังของการครอบครองยาเกินจำเป็นและการแก้ปัญหาเชิงนโยบายโดยใช้วิธีการศึกษาย้อนหลังจากโรงพยาบาลศูนย์ 2 แห่ง และโรงพยาบาลทั่วไป 1 แห่ง ร่วมกับการสัมภาษณ์เชิงลึกผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย พบว่า การสูญเสียทางการคลังจากการครอบครองยาเกินจำเป็นมีมูลค่าประมาณ 25.3 ล้านบาทต่อปี

โดยพบสาเหตุหลักเนื่องจากระบบบริการของโรงพยาบาลที่ไม่ได้คำนึงถึงการครอบครองยาเกินจำเป็น สิทธิการรับยาฟรี และรูปแบบของบรรจุภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสมสำหรับการจ่ายยาให้ตรงกับจำนวนวันที่ผู้ป่วยต้องได้รับยาเป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมารายจ่ายสุขภาพรวมของประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยเพิ่มขึ้นจากมูลค่า 127,655 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2537 เป็นมูลค่า 392,368 ล้านบาทในปี พ.ศ. 2553 การเพิ่มขึ้นของรายจ่ายด้านสุขภาพนี้ คิดเป็นร้อยละ 3.6ของผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติโดยเป็นรายจ่ายสุขภาพรวมต่อคนต่อปีเท่ากับ 2,160 บาท และในปี พ.ศ. 2553 พบว่าร้อยละ 73.2 ของรายจ่ายสุขภาพเป็นรายจ่ายสำหรับการดำเนินงานด้านสุขภาพที่ดำเนินการโดยโรงพยาบาล ซึ่งเป็นรายจ่ายค่ายาและเวชภัณฑ์สำหรับผู้ป่วยนอกร้อยละ 5.2

และสำหรับผู้ป่วยในเขตชุมชนเมืองซึ่งเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่สามารถเข้าถึงการบริการสาธารณสุขทุกรูปแบบได้อย่างสะดวกรวดเร็ว เนื่องจากเป็นเขตที่มีโรงพยาบาลหรือสถาบันทางการแพทย์จำนวนมากโดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร มีโรงเรียนแพทยท์ทั้งหมด 5 แห่ง โรงพยาบาลทั่วไป 26 แห่ง โรงพยาบาลและสถาบันเฉพาะโรค 13 แห่ง รวมทั้งศูนย์ บริการสาธารณสุข สังกัดสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีครอบคลุมครบทุกเขตการปกครองรวม 68 ศูนย์ และ76 สาขา ซึ่งการมีสถานพยาบาลจำนวนมากดังกล่าวนี้อาจจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยในเขตชุมชนเมืองส่วนใหญไม่ประสบกับภาวะขาดแคลนยาหรืออาจส่งผลให้มียาเหลือใช้จำนวนมาก

ผลวิจัยปัญหายาเหลือใช้ในเขตชุมชนเมือง

จากการศึกษาปัญหายาเหลือใช้ผ่านโครงการรณรงค์ให้ผู้ป่วยนำยาเหลือใช้มาคืน ณ คณะแพทยศาสตร์ วชิรพยาบาล ระหว่างเดือนธันวาคม 2553 - กุมภาพันธ์ 2555 โดยเภสัชกรเป็นผู้รับยาเหลือใช้คืนและบันทึกข้อมูลลงในฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ที่สร้างขึ้นโดยเฉพาะ

พบว่าจากผู้ป่วย 1,092 ราย ที่นำยาเหลือใช้กว่า 4,624 รายการมาคืนที่โรงพยาบาล ยาเหล่านี้มีชื่อการค้าแตกต่างกันถึง 722 แบบ และปริมาณยาเหลือใช้ทั้งหมดเท่ากับ 321,193 หน่วย มีมูลค่ายาเหลือใช้ทั้งหมดเท่ากับ 3,430,358.85 บาท ความชุกของปัญหายาเหลือใช้เท่ากับร้อยละ 0.14 ของรายการยาที่จ่ายทั้งหมด หรือร้อยละ 0.22 ของจำนวนผู้ป่วยทั้งหมด และร้อยละ 0.21 ของมูลค่ายาที่จ่ายทั้งหมด จำนวนรายการยาเหลือใช้เฉลี่ยเท่ากับ 4.23 รายการ 294.13 หน่วยและ 3,141.35 บาทต่อผู้ป่วยหนึ่งราย

และยังพบว่า รายการยาเหลือใช้ที่ถูกนำมาคืนบ่อยที่สุด ได้แก่ simvastatin, omeprazole และ enalapril

รายการยาเหลือใช้ที่ถูกนำมาคืนปริมาณสูงสุดได้แก่ hydralazine25 mg isosorbide mononitrate 20 mg และ doxazosin 2 mg

แต่ metformin, ferrous sulfate และ hydralazine เป็นยาเหลือใช้ที่ถูกนำมาคืนบ่อยที่สุดและมีปริมาณการคืนยามากที่สุด

erythropoietin 4000 u, abacavir 300 mg และ pramipexole250 mcg เป็นยาเหลือใช้ที่มีมูลค่าการคืนยารวมสูงสุด (เรียงลำดับตามชื่อการค้า)

clopidogrel 75 mg, erythropoietin 4000 u และ salmeterol/fluticasone accuhaler 50/250 mcg เป็นยาเหลือใช้ที่มีมูลค่าการคืนยารวมสูงสุด (เรียงลำดับตามชื่อสามัญทางยา)

โดยพบว่าสาเหตุของการนำยาเหลือใช้มาคืน ได้แก่ ผู้ป่วยเสียชีวิต มีการเปลี่ยนแปลงการรักษา ผู้ป่วยหยุดใช้ยา การเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา ได้รับยามากเกินกว่าที่ต้องการใช้จริง ไม่ได้ใช้ยาตามคำแนะนำ ได้รับยาจากสถานบริการมากกว่าหนึ่งแห่ง และยาหมดอายุ

กล่าวโดยสรุป ปัญหายาเหลือใช้ในเขตชุมชนเมืองมีผลกระทบต่อระบบยาทั้งในด้านปริมาณยาและมูลค่ายา โดยสาเหตุของการนำยาเหลือใช้มาคืนสะท้อนให้เห็นแนวทางการแก้ปัญหาและโอกาสพัฒนาของระบบยาในหลายมิติ เช่น การกำหนดปริมาณในการสั่งจ่ายยาให้กับผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ได้รับยาเป็นครั้งแรก การคำนวณปริมาณยาเดิมของผู้ป่วยโรคเรื้อรังก่อนที่จะมีการสั่งจ่ายยาครั้งต่อไป การทบทวนแนวทางการสั่งจ่ายยามูลค่าสูงบางรายการ การพัฒนาระบบคืนยาสำหรับผู้ป่วยที่พบอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา เป็นต้น

เก็บความจาก

วรรณพร เจริญโชคทวี และคณะ.รายงานวิจัย “การวิเคราะห์และจัดการปัญหายาเหลือใช้ในเขตชุมชนเมือง” .(วชิรเวชสาร ปีที่ 57 ฉบับที่ 3 กันยายน-ธันวาคม 2556). หน้า147-160.