ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อภ.วิจัยพัฒนายาขับเหล็กสูตรใหม่ กินเพียงวันละ 1 เม็ด จากวันละ 3-4 ครั้ง คาดสามารถผลิตได้ในปี 63 ลดนำเข้าจากต่างประเทศที่มีราคาเม็ดละ 500 บาท คิดเป็นค่ายาต่อคนต่อเดือน 15,000 บาทในราคาที่จะถูกว่ายานำเข้าจากต่างประเทศ

ภก.พิพัฒน์ นิยมการ

ภก.พิพัฒน์ นิยมการ รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม เปิดเผยว่า ในประเทศไทยปัจจุบันมีประชากรที่เป็นพาหะโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ประมาณ 18-24 ล้านคน มีผู้ป่วยที่เป็นโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย ประมาณ 630,000 คน โดยผู้ป่วยที่มีภาวะเหล็กเกินจะต้องได้รับยาขับเหล็ก ประมาณ 60,000 คน ซึ่งแนวทางการรักษานั้น หากโรคมีความรุนแรงจะต้องได้รับการปลูกถ่ายไขกระดูก ให้เลือดและยาขับธาตุเหล็ก ตัดม้าม หากรุนแรงปานกลางจะต้องมีการให้เลือดและยาขับธาตุเหล็ก ตัดม้าม และหากมีอาการรุนแรงน้อยก็จะมีการให้เลือดและยาขับธาตุเหล็ก ซึ่งผู้ป่วยส่วนหนึ่งต้องถ่ายเลือดเป็นประจำ และเมื่อได้รับเลือดจะทำให้มีธาตุเหล็กเกินจำเป็นจึงต้องได้รับยาขับเหล็ก ถึงแม้จะไม่ได้รับเลือด ผู้ป่วยในกลุ่มนี้ก็มีภาวะเหล็กในร่างกายสูงกว่าปกติ เนื่องจากได้รับธาตุเหล็กจากการดูดซึมจากอาหาร ทำให้เกิดภาวะเหล็กเป็นพิษ และอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

ภก.พิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ก่อนหน้านี้ประมาณปี 2544 ยาขับเหล็กที่มีใช้อยู่เดิมเป็นยาชนิดฉีด มีราคาแพง และต้องให้โดยการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ผู้ป่วยเข้าถึงยาได้ยาก และวัตถุดิบที่ใช้ในการผลิตยาขับเหล็กที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศเช่นกัน ราคากิโลกรัมละประมาณ 40,000 บาทและมีแหล่งผลิตที่จำกัด อภ.จึงได้วิจัยพัฒนายาขับเหล็ก ชนิดรับประทานที่มีชื่อสามัญว่า ดีเฟอรีโฟรน (deferiprone) อย่างครบวงจรมาตั้งแต่ปี 2545 ตั้งแต่การสังเคราะห์วัตถุดิบจนถึงผลิตเป็นยาเม็ด และยาน้ำรับประทาน จนได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเรียบร้อยแล้ว

โดยยาดังกล่าวได้ผ่านการศึกษาประสิทธิผลและความปลอดภัยของยาแบบสหสถาบันในโรงเรียนแพทย์ชั้นนำ โดยองค์การฯเป็นผู้สนับสนุนยาและงบประมาณเกือบ 10 ล้านบาท อาทิ โรงพยาบาลศิริราช โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า โรงพยาบาลนครปฐม และสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี จนได้รับการยืนยันประสิทธิผลการรักษาเทียบเท่ากับยาต้นแบบ โดยยามีราคาเพียงเม็ดละ 3.50 บาท ในขณะนั้นที่ยาต้นแบบมีราคาเม็ดละ 60-70 บาท จึงช่วยให้ผู้ป่วยได้เข้าถึงยามากขึ้น และลดค่าใช้จ่ายการนำเข้ายาจากต่างประเทศ และสามารถทำให้ประเทศพึ่งพาตนเองได้

ปัจจุบันยาดังกล่าวยังมีการขึ้นทะเบียนและจำหน่ายในประเทศมาเลเซีย เมียนมาร์ ลาว เวียดนาม บรูไน และกัมพูชาแล้ว นอกจากนั้นยังได้ทำการวิจัยพัฒนาและผลิตขึ้นทะเบียนยาขับเหล็กชนิดน้ำขึ้นมาอีก 1 ตำรับ สำหรับเด็กเพื่อให้รับประทานง่ายขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาองค์การเภสัชกรรมได้สนับสนุนยาเม็ดขับเหล็กเกินผ่านระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยตามคำวินิจฉัยของแพทย์

และล่าสุดเพื่อให้ผู้ป่วยรับประทานยาได้ง่ายขึ้น อภ.จึงได้วิจัยยาขับเหล็กยาเม็ด Deferasirox ขนาด 250 mg ซึ่งมีความสะดวกในการรับประทานมากขึ้นโดยรับประทานเพียงวันละ 1 ครั้ง ต่างจากเดิมซึ่งจะต้องรับประทานวันละ 3 – 4 ครั้ง ซึ่งยาชนิดนี้ปัจจุบันต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ในราคาเม็ดละ ประมาณ 500 บาทซึ่งคิดเป็นค่ายาจะตกเดือนละ15,000 บาทต่อคน ซึ่งยาตัวใหม่นี้องค์การฯคาดว่าจะสามารถผลิตเป็นยาออกมาใช้รักษาผู้ป่วยได้ประมาณปี 2563 ราคาจะถูกลงกว่ายานำเข้าจากต่างประเทศอย่างแน่นอน

“การผลิตยาดีเฟอรีโฟรน (deferiprone) อย่างครบวงจรนี้เป็นก้าวสำคัญของการพึ่งพาตัวเองด้านยาของประเทศ ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีการผลิตวัตถุดิบทางยาน้อยมาก และส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยีที่ถ่ายทอดมาจากต่างประเทศ ขอให้ผู้ป่วยและประชาชนได้เกิดความมั่นใจในเรื่องของการใช้ยาดังกล่าว ซึ่งองค์การเภสัชกรรมมีศักยภาพและมีความพร้อมในการผลิต เพียงพอสามารถรองรับผู้ป่วยในประเทศ และขณะนี้พร้อมที่จะช่วยเหลือผู้ป่วยประเทศเพื่อนบ้านอีกด้วย” รอง ผอ.อภ. กล่าว

ยาดีเฟอรีโฟรน (deferiprone)