ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ข้าพเจ้าผ่านการทำงานมาจาก หัวหน้าฝ่ายเภสัชกรรมที่ต้องรับผิดชอบมากมายหลายบทบาท ซึ่งต้องทำงานทุกอย่างเหมือนฝ่ายเภสัชกรรมโรงพยาบาลชุมชนทั่วไปที่ต้องเป็นการให้บริการแบบ “One Stop Service” ทำได้เบ็ดเสร็จและต้องมีคุณภาพ

เมื่อวันหนึ่งมาถึงวันที่จะทำให้ผมได้เปลี่ยนผันชีวิต จากบทบาทเภสัชกรโรงพยาบาลชุมชน มาสู่เภสัชกรครอบครัว วันที่หัวหน้ากลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระนองได้มอบหมายให้ผมไปเป็นตัวแทนจังหวัดระนองในการเป็นภาคีเครือข่าย เขต 11 ซึ่งมี กลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขสุราษฎร์ธานี เป็นเจ้าของโครงการ โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนมาจาก คคส. และ สสส. ผมได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และทำโครงการด้านความปลอดภัยในการใช้ยาในชุมชน โดยจัดทำโครงการ ASU Corner ณ รพ.สต. ภายในอำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง มันเป็นงานที่ท้าทายผมมากเพราะต้องเป็นงานที่ต้องตอบโจทย์ สปสช.เขต 11 เรียกได้ว่าทำงานทีเดียว ได้งานสามงานเลยก็ว่าได้ ทั้งการตอบโจทย์ เจ้าของงบประมาณฯ และงานประจำ รวมถึงงานที่ต้องลงสู่ชุมชนในระดับปฐมภูมิ

งานนี้ทำให้ผมได้ไปสู่ระดับประเทศ โดยมีส่วนร่วมในการใช้ยาอย่างปลอดภัยในชุมชน ทำให้ผมได้เป็นตัวแทน จังหวัดระนองในการนำร่องงานเภสัชกรรมปฐมภูมิ โดยมีทีมสหสาขาวิชาชีพ ภายใน คปสอ.สุขสำราญ เข้ามามีส่วนร่วมและช่วยเหลือให้งานนั้นได้ก้าวกระโดดสู่วิถีชุมชน มันเป็นงานที่ท้าทายผมเป็นอย่างมาก

จนกระทั่ง วันหนึ่งก็มาถึงวันที่จะต้องก้าวเข้าสู่งานเภสัชกรรมปฐมภูมิอย่างจริงจังและเต็มรูปแบบ ผมได้รับหน้าที่โดยหัวหน้ากลุ่มงาน คบ. สสจ.ระนองคนเดิม ให้ไป Defense งบประมาณ จาก สปสช เขต 11 เพื่อนำงบประมาณมาทำโครงการที่ผมได้คิดขึ้นมาในหัวข้อโครงการ “เภสัชกร (ครอบครัว) ประจำบ้านบริบาลเภสัชกรรม” และได้นำงบประมาณที่ได้มาจัดทำโครงการดังกล่าวจนสำเร็จ โดยทำให้ได้เข้าถึงปัญหาของยาในชุมชนที่แท้จริง

ในขณะที่งานผู้ป่วยโรค NCD ที่เรื้อรัง ทั้งเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ก็ถาถมเข้ามารับบริการในโรงพยาบาลสุขสำราญ นับวันก็มีจำนวนมากยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากโครงการค้นหาผู้มีภาวะเสี่ยงของกลุ่มงานเวชศาสตร์ครอบครัว และงานบริการปฐมภูมิ แต่ก็ต้องขอบคุณกลุ่มงานเวชฯ และฝ่ายการพยาบาล รพ.สุขสำราญที่ได้ยกระดับปัญหาผู้ป่วยล้นโรงพยาบาลขึ้นมาเป็นประเด็น และเพื่อให้ทีมสหสาขาวิชาชีพได้ร่วมเข้ามาแก้ไข โดยมีทีมงาน รพ.สต.เข้ามามีส่วนร่วมช่วยแก้ไขปัญหา ซึ่งเป็นการตกลงกันเพื่อนัดผู้ป่วยได้ลงไปรับยาที่ รพ.สต.ทุกวันศุกร์ โดยมีการตั้งเกณฑ์สำหรับผู้ป่วยที่สามารถคุมสภาวะให้เป็นไปตามเกณฑ์ได้ภายใต้การให้บริการแบบใกล้บ้านใกล้ใจ จึงทำให้ฝ่ายเภสัชกรรมได้มีโอกาสจัดตั้งขึ้นเป็นงานโครงการนำร่องเภสัชกรรมปฐมภูมิ โดยมีการจัดตั้งคลังยาสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรังและโรคทั่วไปขึ้น ณ รพ.สต. มีทีมงานทั้งแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล กายภาพบำบัดได้ลงไปดูแลผู้ป่วยให้ครบวงจร กอปรกับการเยี่ยมบ้านผู้ป่วย โดยนำงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสาธารณสุขเข้ามาร่วมด้วย เพื่อให้งานที่มีอยู่ได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นและเป็นการเติมเต็มการให้บริการผู้ป่วยเชิงรุก

การออกเภสัชกรรมปฐมภูมิจากปี พ.ศ.2555 จนถึงปัจจุบันนี้ ทำให้ปัญหาในชุมชนได้เริ่มมีการวางแผนแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์ที่ต้องแก้ไขไปจนกว่าผู้ป่วยจะได้รับบริการขั้นปฐมภูมิอย่างดีที่สุดเท่าที่ เภสัชกร คนนึงและทีมสหสาขาวิชาชีพพอจะทำได้อย่างเต็มความสามารถ และเต็มแรงกายแรงใจ ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณ สำนักวิชาเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ที่ได้เล็งเห็นถึงคุณค่าเภสัชกรตัวเล็กๆ อย่างผมให้ได้มีโอกกาสดีๆ ที่จะได้พัฒนางานเภสัชกรรมปฐมภูมิ ให้ได้ชื่อว่าเภสัชกรไทยก็ไม่แพ้เภสัชกรใดๆ ในโลก โดยเฉพาะเภสัชกรฝั่งตะวันตกที่เขาเป็นผู้คิดค้นริเริ่ม “เภสัชกรครอบครัว”

วันนี้คุณได้มาช่วยสังคมแล้วหรือยัง อย่างน้อยคุณก็สามารถเข้ามามีส่วนช่วยงานเภสัชกรรมปฐมภูมิได้..จากเภสัชกรทั่วไป (General Pharmacist) สู่เภสัชกรครอบครัว (Family Pharmacist) วันนี้เรามี Theme อยู่ที่ทำให้งานที่เราตั้งใจให้สำเร็จว่า “ททท”....ทำทันที! แล้ววันนี้เราจะรออะไรครับโอกาสนั้นมาถึงคุณแล้วครับ

และจากประสบการณ์สำหรับการเยี่ยมบ้านครั้งแรกของผมที่ประทับใจคือการได้ออกเยี่ยมบ้านกับทีมงานสหวิชาชีพซึ่งในทีมงานนั้นก็มีผู้อำนวยการโรงพยาบาลสุขสำราญเป็นผู้นำทีมเยี่ยมบ้าน ซึ่งท่านเองก็ได้เข้าคอร์ส เรียนบอร์ดเวชศาสตร์ครอบครัว เป็นแพทย์หนึ่งเดียวที่ออกฝึกงานในพื้นที่ที่ท่านดูแลอยู่

เคสแรกที่เราได้เข้าไปดูแลเป็นเคสที่ทีมงานเราได้ทำงานกันทุกคน ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาล และกายภาพบำบัด เรียกได้ว่าแทบยกโรงพยาบาลไปดูแลกันเลยก็ว่าได้ เคสนี้เป็นหญิงชราที่มีชื่อว่าป้าติ๋ม นิ่มเจริญ เนื่องจากเป็นเคสที่ซับซ้อน ถ้าใครไม่ได้เข้าไปสัมผัสจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าปัญหานั้นมีการซ่อนเร้นด้วยระบบครอบครัวที่ซับซ้อนและความหลากหลายของศาสนา

ซึ่งบ้านหลังนี้ลูกสาวผู้ดูแลป้าติ๋มจะมี 2 คนจากลูกทั้งหมด 3 คน โดยสลับกันดูแล ระหว่างลูกสาวคนโตซึ่งออกเรือนแล้วโดยเข้าศาสนาอิสลาม ส่วนน้องคนกลางแต่งงานออกเรือนไปแล้วเช่นกันและก็ไปอยู่กับแฟนที่เมืองนอกส่งมาแต่เงินและอาหารเสริม ส่วนลูกสาวคนเล็กออกเรือนเช่นกันและมีบ้านอยู่ใกล้ๆ กับป้าติ๋ม ในขณะที่ป้าติ๋มเองก็มีน้องสาวมาอาศัยอยู่ด้วยโดยยึดพื้นที่หลังบ้านเป็นที่อยู่อาศัยแต่ไม่ได้ช่วยอะไรป้าเพราะก็ชราภาพเช่นกัน แต่โชคดีที่ไม่ได้เป็น เบาหวาน-ความดันโลหิตสูง

ในการเข้าไปเยี่ยมบ้านโดยทีมงานในครั้งนี้เพื่อเข้าไปดูแลป้าติ๋ม ซึ่งป้าติ๋มเองเคยมีอาการซึมเศร้าจากร่างกายที่เกิดจากอัมพาตครึ่งซีก

จากการเข้าไปดูแล ทำให้เราทราบตั้งแต่ ด้านร่างกาย จิตใจ สิ่งแวดล้อม ฐานะเศรษฐกิจของป้า รวมถึงสังคมความเป็นอยู่ ป้าติ๋มอยู่ในสภาพพี่ค่อนข้างขาดคนดูแลเอาใจใส่ จากการค้นหาปัญหาพบว่าป้าต้องดูแลตัวเองทั้งเรื่องส่วนตัวและการกินยา ครั้งหนึ่งเคยมีญาติเข้ามาทำที่ออกกำลังกายให้แกออกกำลังกาย แต่แกก็ขาดแรงบันดาลใจในการออกกำลังกายทำให้แขนขาลีบเล็ก

เนื่องจากป้าติ๋มต้องอยู่บ้านคนเดียวอย่างเหงาๆ ทีมเราจึงระดมความคิดเพื่อที่จะดูแลป้าติ๋ม โดยแบ่งงานกันทำโดยให้ทีมพยาบาลดูแลด้านสุขลักษณะการทำแผล และการดูแลด้านชีวิตประจำวัน อาหาร ความเป็นอยู่ แพทย์ก็ตรวจอาการเพื่อทำการรักษาที่ต่อเนื่อง ทันตแพทย์ประเมินสุขภาพในช่องปาก และดูแลเรื่องฟันปลอมตามโครงการฟันปลอมพระราชทาน ส่วนกายภาพบำบัดก็ประยุกต์ชักรอกให้ป้าติ๋มออกกำลังกายให้อยู่ในสภาพที่ตรงต่อสรีระวิทยาที่ควรจะเป็นตามหลักการกายภาพบำบัด

ส่วนเภสัชกรอย่างเราก็รู้หน้าที่ โดยเราเองก็ปฏิบัติตามวิชาชีพโดยการดูแลด้านยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร รวมถึง การดูแลแบบองค์รวมอื่นๆ ที่ช่วยดูแลได้ และไม่ทิ้งงานคุ้มครองผู้บริโภคด้วย เช่น การตรวจยาลูกกลอน เพื่อตรวจหาสารสเตียรอยด์ที่ปนปลอม

จากการค้นหาปัญหาด้านยาพบว่า ป้าติ๋มได้ใช้ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ลูกสาวส่งมา พบว่าฉลากข้างขวดระบุถึงแอลกอฮอล์ถึง 10 เปอร์เซ็นต์ ตามหลักการแล้ว ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวถ้าเป็นยา เราจะเรียก ได้ว่ามันคือ ยา Elixir ซึ่งมีแอลกอฮอล์ผสมค่อนข้างมาก และผลิตภัณฑ์ดังกล่าวก็เป็นผลิตภัณฑ์ที่ป้าติ๋มชอบและโปรดปรานมาก เพราะทำให้ป้ามีความสุข ยามป้าติ๋มเหงาๆ ป้าแกก็จะย้อมใจด้วยผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเป็นประจำ และผลิตภัณฑ์นี้นี่เองที่ทำให้ป้าติ๋มยังคงมีความดันโลหิตสูงมาตลอดเพราะป้าได้รับแอลกอฮอล์ และการขาดยา ซึ่งก็เป็นปัญหาที่ทางทีมก็ต้องนำมาสรุปเพื่อแก้ไขกัน

จนในที่สุดทางทีมงานก็ได้สรุปว่า เราจะต้องนำปัญหาทั้งหมดมาร่วมแก้ไขกัน ทั้งด้านกายภาพบำบัด สุขภาพช่องปาก แผลที่เกิดจากการนอนติดเตียงนานๆ รวมถึงยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ป้าติ๋มต้องปรับใหม่แบบบูรณาการและยกเครื่อง

ป้าติ๋มขาดยามานาน และต้องมีการวางแผนบำบัดการติดแอลกอฮอล์ เนื่องจากผลิภัณฑ์เมืองนอกที่ป้าติ๋มโปรดปรานจากลูกคนกลางที่ส่งมาจากเมืองนอก และหลังจากการกลับมาเราก็ได้จัดเตรียมแก้ไขปัญหาและนำกลับไปแก้ไข โดยเน้นการนำบุคลากรคนสำคัญที่สุดในชุมชนที่เราขาดไม่ได้ในการกระตุ้นชุมชนนั่นก็ คือ อสม. โชคดีที่ป้าติ๋มมีหลานเป็น อสม. ชื่อน้องบี เราจึงได้เชิญหลานป้าติ๋มซึ่งเป็น อสม. มาช่วยเป็นหนึ่งในทีมการดูแลเยี่ยมบ้านอีกแรงหนึ่งเวลาที่พวกเราทีมงานไม่ได้ลงไปเยี่ยมดูแลป้าติ๋ม

จากวันนั้นถึงวันนี้ป้าติ๋ม มีสภาพชีวิตที่ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดเฉพาะพัฒนาการด้านการเคลื่อนไหวโดยการดูแลจากกายภาพบำบัด การรักษาโรคที่ถูกต้องจากแพทย์ที่ลงดูแลผู้ป่วยโดยตรง ช่องปากที่มีฟันพร้อมรอยยิ้มจากทันตแพทย์

ป้าติ๋มได้รับยา Lorazepam แทนผลิตภัณฑ์แอลกอฮอล์ และยาแก้ซึมเศร้า Fluoxetine ซึ่งทำให้ป้าติ๋มมีความสุขมากขึ้นกว่ากินผลิตภัณฑ์เสริมอาหารผสมแอลกอฮอล์ ป้าติ๋มได้รับยารักษาโรคตรงกับแพทย์เพื่อรักษาโรค รวมถึงการกินยาที่ตรงเวลามากขึ้นจาก อสม. ที่อาสามาช่วยเภสัชกรด้านการติดตามการกินยา

ความรู้สึกเหล่านี้ก็เหมือนๆ กับผู้ที่ออกเยี่ยมบ้าน คือการเป็นผู้ให้นั้น มีความสุขกว่าที่จะเป็นรับ สิ่งที่พวกเราอยากได้มากกว่าเงินทองก็คือชีวิตใหม่ที่จากชีวิตเก่าๆ ที่รอวันที่จะจากไป อย่างน้อยชีวิตหนึ่งที่รอวันจากไปนั้น ก็ยังมีอีกหลายๆ ชีวิตที่มีความคิดว่าถ้าเราจะเสียสละเวลาบางส่วนของชีวิตเรามาให้ชีวิตใหม่กับป้าคนหนึ่งที่ขาดการดูแลเอาใจใส่จากครอบครัวหรือสังคม อย่างน้อยเราก็ยังได้ความภาคภูมิใจที่เกิดมาเพื่อเป็นผู้ให้ เพราะคำว่าการให้ที่มีความสุขที่แท้จริงนั้น คือการให้ที่ไม่หวังสิ่งใดๆ ตอบแทน

เรื่องเล่าจาก …..ภก.นวเรศ เหลืองใส รพ.สุขสำราญ จ.ระนอง

***Elixirs หรือ ยาอิลิกเซอร์ เป็นสารละลายใสชนิด hydro alcohol ที่มีกลิ่นหอมและรสหวาน และใช้รับประทานเท่านั้น ตัวทำละลายหรือน้ำกระสายยาที่สำคัญคือ alcohol โดยแอลกอฮอล์จะเป็นตัวทำละลายตัวยาที่ไม่ละลายน้ำ มี alcohol ผสมน้ำในอัตราส่วนต่าง ๆ หรืออาจเป็นตัวทำละลายอื่นที่ไม่ใช่น้ำโดยปกติมี alcohol อยู่ 2.7-44% (สุธี เวคะวากยานนท์ และวัชรี คุณกิตติ, 2541)

ภก.นวเรศ เหลืองใส