ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.รพ.ประจวบคีรีขันธ์ชี้ การผูกเงินเดือนกับงบรายหัวโดยหวังให้เกิดการกระจายบุคลากร เป็นหลักคิดที่ดีแต่ทำไม่ได้ในทางปฏิบัติ ตลอด 15 ปีที่ผ่านมาไม่เคยเจอใครขอย้ายด้วยเหตุผลเพราะโรงพยาบาลอื่นให้ค่ารายหัวมากกว่า ย้ำแยกเงินเดือนออกจะช่วยต้นทุนบริการมากขึ้น และการใช้กรอบอัตรากำลังตามภาระงานของสธ.น่าจะตอบโจทย์ปัญหาการกระจายมากกว่า

นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์

นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลประจวบคีรีขันธ์ กล่าวถึงการแก้กฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในประเด็นการแยกเงินเดือนออกจากเงินเหมาจ่ายรายหัวว่า การเอาเงินเดือนมาผูกกับเงินเหมาจ่ายรายหัวโดยหวังว่าจะทำให้มีการกระจายไปอยู่ในโรงพยาบาลที่ขาดแคลนบุคลากรนั้น หลักคิดนี้ดีมากแต่เป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ ตลอดเวลา 15 ปีที่ผ่านมา ตนยังไม่เคยเห็นใครเขียนใบขอย้ายโดยให้เหตุผลว่าโรงพยาบาลอื่นมีประชากรน้อยและมีเงินรายหัวมากกว่า

“ในมุมมอง รพ.ประจวบฯ ซึ่งผมเชื่อว่าหลายโรงพยาบาลมีประเด็นคล้ายๆ กันคือเจ้าหน้าที่ค่อนข้างอายุมาก เพราะฉะนั้นอัตราเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง ฯลฯ พอเอาเงินเดือนมาผูกมันก็เยอะและเงินเดือนเพิ่ม 6% ทุกปี แต่งบรายหัวไม่รู้เลยว่าเพิ่มเท่าไหร่ รู้แต่ว่าบางปีคงที่ บางปีขึ้น 2-3% แต่เงินเดือนขึ้น 6% สุดท้ายเงินที่ดูแลคนไข้อาจจะแทบไม่ได้ขึ้นเลย นอกจากนี้ ในโรงพยาบาลที่มีวิกฤติการเงินก็คือข้าราชการที่อยู่มาก่อนเก่าแก่ เป็นกลุ่มที่มีบ้านมีครอบครัวในพื้นที่ การจะบอกว่าค่าแรงเยอะจำเป็นต้องลดคน คำถามคือใครคนตัดสินใจและตัดสินใจจะให้ใครย้าย ภายในโรงพยาบาลเองแค่ให้ย้ายจากตึกนี้ไปตึกนี้ก็ไม่ง่าย นี่ให้ย้ายที่อยู่ ย้ายข้ามจังหวัด ข้ามภาคยิ่งไม่ง่าย ดังนั้นในทฤษฎีโอเคแต่มันเป็นไปไม่ได้ในทางปฏิบัติ” นพ.อนุกูล กล่าว

นพ.อนุกูล กล่าวต่อว่า สิ่งที่กระทรวงสาธารณสุขพยายามแก้ปัญหาการกระจุกกระจาย โดยคำนวณกรอบอัตรากำลังตามภาระงานเพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการจัดสรรคนใหม่ลงไป ควบคุมไม่ให้จ้างเพิ่มถ้าเต็มกรอบ และควบคุมในการให้ตำแหน่งข้าราชการ ส่วนตัวคิดว่าวิธีนี้จะตอบโจทย์การกระจายได้ดีกว่าการเอาเงินเดือนมาผูกกับงบเหมาจ่ายรายหัวซึ่ง 15 ปีที่ผ่านมาไม่เคยสำเร็จ

นพ.อนุกูล กล่าวด้วยว่า รพ.ประจวบฯ เองได้งบบัตรทอง เฉพาะกองผู้ป่วยนอก เมื่อหักเงินเดือนแล้วเหลือ 20 ล้านบาท แต่มีค่าใช้จ่ายในการให้บริการประชาชนปีละ 51-52 ล้านบาท บวกกับให้เงินโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลอีก 10-12 ล้านบาท รวมปีละ 60 กว่าล้าน แค่สตาร์ทต้นปีขาดทุนแล้ว 40 ล้าน ดังนั้น การแยกเงินเดือนออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว จะช่วยสะท้อนต้นทุนมากกว่าและเป็นธรรมเท่าเทียมในแต่ละพื้นที่ มีงบดำเนินการด้านสุขภาพใกล้เคียงกัน

“ถ้าเราเอาเงินเดือนออกไปแล้วกลัวว่าคนจะไหลเข้าโรงพยาบาลในเมือง มันทำไม่ได้เพราะโดนล็อกด้วยกรอบอัตรากำลังไว้แล้ว ดังนั้นประเด็นการไหลเข้าไม่น่าต้องกังวลมากนัก” นพ.อนุกูล กล่าวทิ้งท้าย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

‘หมอเจษฎา’ หนุนแก้ กม.บัตรทอง ชี้ควรปรับการใช้งบป้องกันโรค ดูแลบุคลากรที่ได้รับผลกระทบ

นักวิชาการแนะนับหนึ่งใหม่แก้ กม.บัตรทอง

สธ.แจงเหตุขอแยกเงินเดือนจากงบเหมาจ่ายรายหัว

สสจ.สิงห์บุรี เผยแก้ กม.บัตรทองคือทางออก แยกเงินเดือน ช่วย รพ.พ้นวิกฤตการเงิน

ประธาน สพศท.ชี้ปมเห็นต่างแก้ กม.บัตรทอง ต่อให้นับ 1 ใหม่จนถึง 10 ก็ไม่จบ หากมีมุมมองแบ่งฝ่าย

ประธานชมรม รพศ./รพท.ชี้ แก้ กม.บัตรทอง ควรยึดหลัก ปชช.ไม่เสียสิทธิ รพ.อยู่ได้

รพ.พระนั่งเกล้าหนุนแก้ กม.บัตรทอง เห็นด้วยแยกเงินเดือนจากงบรายหัว

อดีต ผอ.รพ.พรานกระต่ายชี้ปมแยกเงินเดือนจากงบรายหัว กระทบ รพ.ที่จ้างบุคลากรนอกงบประมาณ

‘ผอ.รพ.รามัน’ ขวางแยกเงินเดือนบุคลากร หวั่นกระทบ รพ.ขนาดเล็ก-ประชาชน

'รพ.สิงห์บุรี' ย้ำลดต้นทุนทุกวิธีแต่ยังเอาไม่อยู่ เชื่อแยกเงินเดือนช่วยได้มาก

ผอ.รพ.ตากใบ หวั่นผลกระทบลูกโซ่แยกเงินเดือนจากรายหัว ชี้ รพ.ชุมชนอ่วม

‘ผอ.รพ.บ้านแพ้ว’ ชี้ ข้อดี-ข้อเสียแยกเงินเดือนจากงบรายหัวบัตรทอง