ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประธาน กมธ.สาธารณสุขแนะ ก.พ.คิดใหม่ จัดสรรอัตราข้าราชการตามปริมาณงาน ชี้ไทยมีผู้สูงอายุมากขึ้นทุกปี ถ้างานเพิ่มก็ควรต้องเพิ่มอัตรากำลังให้ด้วย พร้อมเตรียมจัดสัมมนาต้นเดือนหน้าสะท้อนปัญหาขาดแคลนบุคลากรในระบบสาธารณสุข

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์

นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ ประธานกรรมาธิการ (กมธ.) การสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เปิดเผยว่า กมธ.ได้เชิญ 7 วิชาชีพสาธารณสุข เข้ามาชี้แจงประกอบหนังสือร้องเรียนขอความเป็นธรรมในการบรรจุเป็นข้าราชการเมื่อวันที่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งจากการรับฟังปัญหาพบว่ากลุ่มวิชาชีพเหล่านี้เป็นลูกจ้างชั่วคราวและพนักงานกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมองไม่เห็นอนาคตที่จะได้รับการบรรจุเป็นข้าราชการเนื่องจากมีอัตราว่างน้อยมาก รวมทั้งรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจเมื่อเปรียบเทียบกับวิชาชีพพยาบาลที่เรียกร้องแล้วได้บรรจุ แต่วิชาชีพเหล่านี้ไม่ได้รับการเหลียวแล

ทั้งนี้ กมธ.จะได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อสะท้อนความเดือดร้อนของบุคลากร แต่จะดำเนินการอย่างไรเป็นอำนาจหน้าที่ของฝ่ายบริหาร ขณะที่ กมธ.ซึ่งอยู่ในฝ่ายนิติบัญญัติมีอำนาจเพียงการเสนอแนะข้อคิดเห็นเท่านั้น

นพ.เจตน์ กล่าวอีกว่าในภาพใหญ่แล้วก็น่าเห็นใจสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) เพราะขณะนี้มีจำนวนข้าราชการทั้งประเทศกว่า 2.2 ล้านคน ถือว่าเป็นจำนวนที่เยอะมาก อย่างไรก็ดีคิดว่าการใช้สูตรสำเร็จรูปกับทุกกระทรวง ทุกหน่วยงาน ตรงนี้อาจต้องถึงเวลาคิดใหม่ เช่น อาจต้องจัดอัตรากำลังให้ตามปริมาณงานที่เกิด หากมีปริมาณงานเพิ่มก็ต้องให้อัตราตำแหน่งเพิ่ม จะใช้ข้ออ้างอื่นๆ เพื่อกีดกันก็คงไม่ถูกและต้องใช้กับทุกตำแหน่งทุกวิชาชีพด้วย

“สาธารณสุขแตกต่างจากข้าราชการกระทรวงอื่นตรงที่จำนวนผู้สูงอายุในประเทศไทยจะมากขึ้นทุกปี ตอนนี้เรากำลังพยายามหาตัวเลขผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน และพยายามสะท้อนให้ฝ่ายบริหารเห็นว่านี่คือตัวเลขที่จะเพิ่มปริมาณงานเข้ามา อย่างผู้ป่วยนอกที่พอมีตัวเลขอยู่คือเพิ่มจาก 2 กว่าๆ มาเป็น 3.5 หรือเพิ่มเกิน 1 ใน 10 ปี หมายถึงปริมาณผู้ป่วยนอกเพิ่มมาอีก 48 ล้านคน ปริมาณงานเยอะแต่เจ้าหน้าที่ไม่ได้เพิ่ม ก็ยังปล่อยให้โรงพยาบาลช่วยเหลือตัวเอง ต้องรับลูกจ้างเข้ามา เงินที่ได้น้อยอยู่แล้วก็น้อยลงไปใหญ่” นพ.เจตน์ กล่าว

ทั้งนี้ กมธ.สาธารณสุข เตรียมจัดสัมมนาในช่วงต้นเดือน ส.ค.นี้ เพื่อสะท้อนปัญหาในภาพกว้างเรื่องการขาดแคลนบุคลากรของระบบสาธารณสุขทั้งระบบ โดยจะเชิญตัวแทน ก.พ.มาร่วมสัมมนาเพื่อหาดูว่าจะมีช่องทางอย่างไรที่จะช่วยแก้ปัญหาให้ทุกสาขาวิชาชีพในขณะนี้