ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุขพัฒนาโรงพยาบาลเสาไห้เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา โรงพยาบาลต้นแบบด้านแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกระดับเขต ให้เป็น Smart Hospital ภายในปี 2569

เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2560 นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลเสาไห้เฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา จังหวัดสระบุรี ว่า โรงพยาบาลเสาไห้ฯ นับเป็นโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษาแห่งที่ 10 ที่กระทรวงสาธารณสุขสร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนพรรษา 80 พรรษา 5 ธันวาคม 2550 โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงเสด็จเปิด ป้ายโรงพยาบาลเสาไห้ฯเมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2554 เป็นโรงพยาบาล 30 เตียง เป็นโรงพยาบาลต้นแบบด้านแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือกระดับเขต ที่ได้รับรางวัลโรงพยาบาลคุณธรรม ประจำปี 2560

เนื่องจากพบว่า ผู้ป่วยที่มาใช้บริการ ส่วนใหญ่ป่วยด้วยโรคปวดกล้ามเนื้อเป็นอันดับ 1 มีการใช้ยาลดอาการปวดจำนวนมาก และโรคกระเพาะซึ่งมีผลจากการใช้ยาแก้ปวด รวมทั้งผู้รับบริการส่วนใหญ่เป็นโรคที่ป้องกันได้ เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคเกี่ยวกับกล้ามเนื้อ ดังนั้นโรงพยาบาลจึงได้นำระบบบริการแพทย์แผนไทยที่เป็นภูมิปัญญาไทยมาผสมผสานกับการแพทย์แผนปัจจุบัน รวมทั้งการจัดทำกายภาพบำบัดร่วมกันดูแลผู้ป่วย เพื่อลดการใช้ยาแก้ปวด โดยการให้บริการต่างๆ จะคำนึงถึงความจำเป็นให้ประชาชนได้รับบริการทั้ง 4 มิติ คือ การส่งเสริมคุณภาพ ป้องกัน รักษาพยาบาล และฟื้นฟูสุขภาพ

นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาคุณให้ได้มาตรฐานในทุกๆ ด้านเป็นสถานที่ศึกษาดูงานทั้งในประเทศและต่างประเทศ เป็นสถานที่ฝึกปฏิบัติของนักศึกษาในหลายสาขา เช่น ทันตแพทย์ พยาบาล เภสัชกร แพทย์แผนไทยและการฝังเข็ม

โดยภายในปี 2569 จะพัฒนาโรงพยาบาลเสาไห้ฯ ให้เกิด Smart Hospital โดยการบูรณาการกิจกรรมที่สร้างให้เกิดค่านิยมร่วม ความสัมพันธ์ที่ดี ในการจัดบริการ ให้สอดรับนโยบายทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาตามหลักการดำเนินงาน 5 ด้านของโรงพยาบาลเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา ได้แก่

1.ให้ประชาชนมีส่วนร่วมบริหารจัดการ ยึดหลักธรรมาภิบาล โปร่งใส ตรวจสอบได้ ความคล่องตัวและมีประสิทธิภาพ

2.ทำงานร่วมกับชุมชนและ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น

3.เน้นงานเวชศาสตร์ครอบครัว การส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันควบคุมโรค การรักษา และการฟื้นฟูสภาพแบบองค์รวม ในระดับปฐมภูมิ และระดับทุติยภูมิ

4.มีจิตอาสา

5.มีการบริหารจัดการที่ดี

เพื่อให้เป็นแบบอย่างของโรงพยาบาลชุมชนทั้งในด้านบริหาร บริการ และวิชาการที่เหมาะสมกับสภาพชุมชนในพื้นที่ มีจุดเด่นที่แตกต่างกันของแต่ละโรงพยาบาล ภายใต้อัตลักษณ์เดียวกันคือ “โรงพยาบาลที่เป็นมากกว่าโรงพยาบาล” (More than Hospital)