ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงพยาบาลเอกชนย่านบางนา หลังได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนว่ากระทำการโดยประมาทจนเป็นเหตุให้เด็กแรกเกิดต้องเสียชีวิต ให้รู้ผลภายใน 7 วัน

จากกรณีที่มีชายคนหนึ่งเดินทางเข้าแจ้งความที่สถานีตำรวจนครบาลบางนา เพื่อให้ดำเนินคดีกับ รพ.เอกชน แห่งหนึ่งย่านบางนา ที่กระทำการประมาททำให้เด็กแรกคลอดเสียชีวิต โดยแจ้งว่านำภรรยาซึ่งมีอาการตกเลือดระหว่างตั้งครรภ์ไปรับการรักษาที่ รพ.เอกชนดังกล่าว แต่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลแนะนำว่าให้ไป รพ.ที่มีขนาดใหญ่ เนื่องจากอุปกรณ์ไม่พร้อมจึงได้เดินทางไป รพ.อื่นแต่ได้รับแจ้งว่าสิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าของตนอยู่ที่ รพ.เอกชนย่านบางนา หากรักษาที่ รพ.อื่นจะมีค่าใช้จ่ายสูงจึงได้ย้อนกลับมาที่ รพ.เอกชนย่านบางนา กระทั่ง รพ.รับภรรยาเข้าห้องไอซียู ซึ่งต่อมาเจ้าหน้าที่ได้ตัดสินใจผ่าเอาเด็กออกจากครรภ์ แต่พบว่าเด็กได้เสียชีวิตแล้วนั้น

บ่ายวันนี้ (18 กรกฎาคม 2560) นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) และ ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ ผู้อำนวยการสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ พร้อมด้วยพนักงานเจ้าหน้าที่จากสำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ และกองกฎหมาย ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงที่ รพ.เอกชนดังกล่าว

นพ.ธงชัย ให้สัมภาษณ์ว่า กรม สบส.ได้นำพนักงานเจ้าหน้าที่เข้าพบกับผู้เสียหาย และโรงพยาบาล เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทั้ง 2 ฝ่าย โดยมุ่งตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ทั้ง 3 ประเด็น คือ

1) การที่ผู้ป่วยเดินทางมาถึง รพ.ในภาวะฉุกเฉินแต่ รพ.แจ้งว่าอุปกรณ์ของตนไม่พร้อมที่จะให้การดูแลรักษาพยาบาลผู้ป่วยให้ไปรับบริการจาก รพ.อื่นแทน ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่จะตรวจสอบเวชระเบียน สถานที่ และเครื่องมือ ว่าในวันที่เกิดเหตุทาง รพ.มีการดำเนินการให้บริการตามขั้นตอนที่ถูกต้องแต่ที่ไม่สามารถรับตัวผู้ป่วยได้เนื่องจาก รพ.ขาดความพร้อมตามที่กล่าวอ้างหรือไม่

2) ขณะเกิดเหตุบุคลากรของ รพ.ที่ให้คำแนะนำในการรักษาและส่งต่อผู้ป่วยเป็นแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญจริง หากผู้ให้คำแนะนำมิใช่แพทย์ หรือมีการให้คำแนะนำที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานวิชาชีพ ผู้ดำเนินการสถานพยาบาล ฃจะถือว่ามีความผิดฐานไม่ควบคุมและดูแลให้ผู้ประกอบวิชาชีพในสถานพยาบาลปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายเกี่ยวกับการประกอบวิชาชีพของตน และในส่วนของผู้ประกอบวิชาชีพจะส่งเรื่องให้สภาวิชาชีพพิจารณา ดำเนินการต่อไป

3) รพ.เอกชนดังกล่าวมีการประเมิน และช่วยเหลือเยียวยาแก่ผู้ป่วยฉุกเฉิน ซึ่งอยู่ในสภาพอันตรายและจำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลเพื่อให้พ้นจากอันตรายตามมาตรฐานวิชาชีพ หรือหากมีความจำเป็นจะต้องส่งต่อผู้ป่วยทาง รพ.ได้จัดให้มีการส่งต่อผู้ป่วยไปยังสถานพยาบาลอื่นอย่างเหมาะสมหรือไม่

“ให้รู้ผลภายใน 7 วัน หากพบมีการกระทำผิดจะดำเนินการตามกฎหมายโดยไม่ละเว้นแต่อย่างใด” นพ.ธงชัย กล่าว

ด้าน ทพ.อาคม กล่าวว่า ต้องขอเน้นย้ำให้สถานพยาบาลทุกแห่งปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด โดยยึดหลักคุณธรรม มนุษยธรรมเป็นหัวใจในการบริการ รวมทั้งไม่นำค่าใช้จ่ายมาเป็นเงื่อนไขการรักษาพยาบาลผู้ป่วย โดยเฉพาะผู้ป่วยที่เป็นสตรีตั้งครรภ์ที่ต้องให้การดูแล อย่างรอบคอบรัดกุมเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันและลดภาวะแทรกซ้อนระหว่างคลอดและหลังคลอด ไม่ว่าจะเป็นภาวะขาดออกซิเจนในทารกแรกเกิด และภาวะตกเลือดหลังคลอด ซึ่งเป็นสาเหตุในการเสียชีวิตของมารดาและทารก

หากประชาชนมีข้อคำถาม หรือข้อร้องเรียนโรงพยาบาลเอกชนสามารถแจ้งได้ที่ กลุ่มโรงพยาบาล สำนักสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ กรม สบส.หมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7000 ต่อ 18406