ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กล่าวกันว่าการดูแลรักษาสุขภาพของคนอีสานมีลักษณะเป็นแบบบูรณาการ และที่สำคัญคือสอดคล้องกับธรรมชาติ ดังสุภาษิตที่ว่า “เฮ็ดอยู่เฮ็ดกิน”หรือ “กินข้าวเป็นหลัก กินผักเป็นยา กินปลาเป็นอาหาร” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าคนอีสานให้ความสำคัญกับการกินเพื่อให้มีกำลังในการทำงานและเพื่อให้มีชีวิตอยู่มากกว่ารูปลักษณ์ของอาหาร และการกินอยู่ของคนอีสานยังให้ความสำคัญกับฤดูกาลที่เปลี่ยนไปเพื่อปรับสมดุลภายในให้สอดคล้องกับสิ่งแวดล้อมภายนอก

การดูแลสุขภาพจึงเป็นไปในลักษณะที่เป็นการพึ่งตนเองก่อน เมื่อไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้จึงหันไปพึ่งหมอยาภายในชุมชน หรือนอกชุมชน แนวปฏิบัติเช่นนี้ยังพบเห็นได้ในชุมชนชนบททั่วไป

ดังนั้นกรอบในการดูแลสุขภาพจึงประกอบด้วยเรื่องของอาหาร การจัดภูมิทัศน์รอบบ้าน การบำบัดทางจิตข้อคะลำ (ข้อห้าม) ต่างๆ ที่จะทำให้สุขภาพเป็นปกติ สามารถจำแนกการดูแลสุขภาพของคนอีสานได้เป็น 2 ส่วน คือการดูแลแบบพึ่งพาตนเองและการพึ่งพาผู้อื่น

ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการพึ่งพาตนเองประกอบด้วย อาหารและการจัดภูมิทัศน์รอบบ้าน ซึ่งความรู้ทางด้านนี้เป็นการสืบทอดภายในครอบครัว จากรุ่นสู่รุ่น ส่วนการพึ่งพาผู้อื่น ได้แก่ การรักษากับหมอพื้นบ้าน มีทั้งการใช้สมุนไพรและพิธีกรรมบำบัด และสถานพยาบาลของรัฐ

หากจะกล่าวถึงตำรับตำรายาอีสาน เมื่อมองย้อนดูสังคมอีสานแต่เดิมนั้นเป็นสังคมแบบมุขปาฐะ การถ่ายทอดองค์ความรู้จึงเป็นแบบบอกเล่ามากกว่าการจดบันทึก กล่าวกันว่าในอดีตดินแดนแถบอีสานและลาวเริ่มมีการใช้อักษรเขียนเป็นภาษาอีสานหรือภาษาไทย-ลาวเมื่อสมัยพุทธศตวรรษที่ 21

ถึงแม้ว่าในอดีตคนอีสานจะมีอักษรที่ใช้ในการบันทึกข้อมูลแต่การจดบันทึกองค์ความรู้ส่วนใหญ่เกิดขึ้นในชุมชนของพระสงฆ์เสียมากเนื่องจากการเรียนการสอนโดยใช้ตัวหนังสือมีปรากฏเฉพาะภายในวัดเท่านั้น การบันทึกอักษรในอดีต เป็นการบันทึกโดยใช้อักษรธรรมและอักษรไทยน้อย วัสดุที่ใช้ในการบันทึกคือใบลาน การจดบันทึกเพื่อจัดทำตำราทั้งหลายต้องเริ่มจากการเรียนรู้โดยที่การเรียนรู้อาจเกิดได้หลายช่องทาง เช่น การเรียนรู้จากผู้รู้หรือครู การเรียนรู้ด้วยตนเองไม่ว่าจะเป็นการอ่านจากตำราหรือการทดลองเรียนรู้ด้วยตนเอง เมื่อนำผลจากการเรียนมาวิเคราะห์สังเคราะห์จนกลายเป็นองค์ความรู้ สามารถนำไปสู่การจดบันทึกหรือการจัดทำตำราทั้งเพื่อการใช้ประโยชน์ในอนาคตของผู้จดบันทึกเอง หรือเพื่อการสืบทอดองค์ความรู้เหล่านั้น

การจดบันทึกสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบ เช่น บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ภาพวาด เป็นต้น

ทั้งนี้กลุ่มชาติพันธุ์ที่เข้ามาอยู่ในอีสานที่มีรากฐานทางด้านวัฒนธรรมและภาษาแตกต่างกัน แบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มชาติพันธุ์เขมร และกลุ่มชาติพันธุ์ลาว กลุ่มชาติพันธุ์เขมรอยู่ทางตอนล่างของภาคอีสานหรือที่เรียกว่า “อีสานใต้” พบว่าการจดบันทึกตำรายาของกลุ่มชาติพันธุ์เขมรที่พบในประเทศไทยเป็นการบันทึกลงบนศิลา ในราว พ.ศ. 1720-1760 ซึ่งสร้างขึ้นในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 จำนวน 5 หลักคือ

1. ศิลาจารึกปราสาทตาเหมือนโต๊จ จังหวัดสุรินทร์

2. ศิลาจารึกสุรินทร์ จังหวัดสุรินทร์

3. ศิลาจารึกปราสาท จังหวัดสุรินทร์

4. ศิลาจารึกด่านประคำ จังหวัดบุรีรัมย์

5. ศิลาจารึกพิมาย จังหวัดนครราชสีมา

ศิลาจารึกทั้ง 5 หลัก มีหลักในการบันทึกเป็นรูปแบบเดียวกัน ประกอบด้วยคำบรรยายที่เป็นรายละเอียดของแต่ละพื้นที่ เช่น จำนวนบุคลากร ศิลาที่ทำการบันทึกแบ่งออกเป็น 4 ด้าน

ด้านที่ 1 เป็นคำประกาศในการจัดตั้งโรงพยาบาล

ด้านที่ 2 บรรยายถึงประวัติการจัดตั้งโรงพยาบาลในแต่ละพื้นที่

ด้านที่ 3 บรรยายการจัดพิธีกรรม เครื่องพลีทานรวมทั้งตำรับยา

ด้านที่ 4 เป็นบทสวดสรรเสริญพระเจ้าแผ่นดินและพระพุทธเจ้า

ในส่วนของกลุ่มชาติพันธุ์ลาว ในอดีตนอกจากจะมีภาษาพูดเป็นของตนเองแล้วยังมีภาษาเขียนที่เรียกว่าอักษรธรรมและอักษรไทยน้อย การบันทึกเรื่องราวต่างๆเป็นอักษรธรรมและอักษรไทยน้อยจะมีความแตกต่างกับการบันทึกในระบบทั่วๆ ไปคือไม่มีการบันทึกในเชิงพรรณนาหรือประวัติศาสตร์ของท้องถิ่น การบันทึกบนใบลานด้วยอักษรธรรมและอักษรไทยน้อยส่วนใหญ่ทำใน 2 ลักษณะ คือ

1) บันทึกบนใบลานขนาดยาวประมาณ 50 เซนติเมตร เป็นการบันทึกหรือคัดลอกพระไตรปิฎก เพื่อเป็นพุทธบูชา ทั้งหมดเป็นการใช้อักษรธรรมในการบันทึก เนื่องจากถือว่าเป็นของสูง

และ 2) บันทึกลงในใบลานขนาดสั้นความยาวประมาณ 20 เซนติเมตร มีชื่อเรียกในท้องถิ่นว่า “หนังสือก้อม” หรือ “หนังสือคองใช้” ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการบันทึกกรอบแนวปฏิบัติและสาระสำคัญในการดำรงชีวิต หนังสือก้อมยังจัดเป็นของศักดิ์สิทธิ์ ต้องเก็บไว้บนหิ้งบูชา

ทั้งนี้การบันทึกบนใบลานมีหลักการนับหน้าคือ 1 ผูก มี 12 ใบ มีพื้นที่ในการบันทึก 24 หน้า แต่ในการบันทึกตำรายาไม่มีการจำกัดจำนวน ดังจะเห็นได้จากใบลานตำรายาที่โครงการอนุรักษ์ใบลานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้ทำการรวบรวมไว้แต่ละฉบับมีจำนวนหน้าไม่เท่ากัน

เช่น ตำรายาวัดมงคลเทพประสิทธิ์ บ้านโนนสัง ตำบลหนองบอน อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ฉบับที่ 1 มี 13 ลาน จำนวน 26 หน้า บันทึกด้วยอักษรธรรม ส่วนตำรายาของวัดอัมพนาราม บ้านหนองโกตำบลแพง อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม ฉบับที่ 2 มี 21 ลาน 41 หน้า บันทึกด้วยอักษรไทยน้อย เป็นต้น

การบันทึกหรือการจารอักษรลงบนใบลานถือได้ว่าเป็นการปฏิบัติเพื่อเป็นพุทธบูชาจึงมีความเชื่อว่าการบันทึกเกี่ยวกับตำรับยาบนใบลานน่าจะมีลักษณะทำนองเดียวกัน โดยเป็นการลอกต่อๆ กันมาเช่นเดียวกับเรื่องราวในพระไตรปิฎก

ดังนั้นจึงสรุปได้ว่าการบันทึกตำรายาส่วนใหญ่เกิดในวัด สำหรับตำรายาที่อยู่นอกวัดหรือที่เป็นตำรายาส่วนบุคคลส่วนใหญ่จาร (เขียน) โดยคนที่เคยบวชเรียนมาก่อนเมื่อลาสิกขาบทออกมามีครอบครัวและได้มีโอกาสใช้ความรู้ทางด้านสมุนไพรหรือได้รับความรู้จากผู้อื่นมาก็จะทำการบันทึกไว้เป็นส่วนตัว

อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาวิจัย พบว่าองค์ความรู้ที่ปรากฏในตำรายาบางส่วนได้สูญหายไปจากการรับรู้ของการแพทย์พื้นบ้านอีสานที่ได้มีการปฏิบัติกันอยู่ในปัจจุบัน เช่น อาการต่างๆ ของไข้หมากไม้ ที่หมอพื้นบ้านไม่ได้ให้ความสำคัญต่ออาการย่อยต่างๆ ที่เกิดตามมา เช่น การออกเหือดจม การออกตุ่มแบบต่างๆองค์ความรู้เหล่านี้ยังคงปรากฏในตำรายาแต่ไม่ได้นำมาใช้ในการวินิจฉัยโรคของหมอพื้นบ้านในปัจจุบัน การรวบรวมตำรา การวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลที่ปรากฏในตำรายาจึงเป็นความจำเป็นเร่งด่วนเพื่อให้เกิดการฟื้นฟู และปกป้ององค์ความรู้เหล่านี้ต่อไป

เก็บความจาก

สำนักวิชาการ กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข.รายงานการสาธารณสุขไทย ด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก 2552-2553 .2553

ขอบคุณรูปภาพจาก: www.manager.co.th