ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เปิดเวทีเสวนาเรื่อง "บทบาทของ สวรส.ต่อการต่อยอด Routine to Research (R2R) สู่นโยบาย (Policy)" ในงานประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากงานประจำสู่งานวิจัย หรือ Routine to Research (R2R) ครั้งที่ 10 ประจำปี 2560 “ทศวรรษ R2R พัฒนาคนสู่สังคม 4.0” ร่วมจัดโดย กระทรวงสาธารณสุข สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และ สวรส. ที่อิมแพคฟอรั่ม เมืองทองธานี

ผศ.ดร.จรวยพร ศรีศศลักษณ์ ผู้จัดการงานวิจัย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า สวรส.ได้สนับสนุนการทำ R2R ของบุคลากรทางด้านสุขภาพทั้งในส่วนกลางและภูมิภาค หน่วยบริหาร หน่วยบริการ ทั้งในและนอกสังกัดกระทรวงสาธารณสุข มาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว วันนี้กระแส R2R ได้รับการยอมรับและมีการแผ่ขยายไปทั่วประเทศ เพราะทุกคนสามารถสร้างความรู้เองได้ด้วยงานวิจัย และเมื่อลงมือทำแล้วได้รู้ว่าการวิจัยไม่ใช่เรื่องยากอย่างที่คิด ปัจจุบันมีความต้องการให้คนทำงาน R2R มาช่วยตอบโจทย์ปัญหาระดับนโยบาย หรือ Research to Policy (R2P) เพราะที่ผ่านมางานวิจัย R2R สามารถช่วยในการพัฒนาและเปลี่ยนแปลงงานบริการในสถานพยาบาลได้ดี ทั้งนี้ หากจะมีการใช้ข้อมูลและความรู้จากงานวิจัย R2R มาสู่ R2P เพื่อสนับสนุนการตัดสินใจของผู้กำหนดนโยบาย เชื่อว่าบุคลากรที่ทำ R2R สามารถที่จะพัฒนาไปให้ถึงเป้าหมายนี้ได้ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพที่มั่นคง มั่งคั่ง (Wealth) และคนไทยมีภาวะสุขภาพที่ดีขึ้น (Well being)

ดร.ปรียนุช ชัยกองเกียรติ นักวิจัยเครือข่าย สวรส. จากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนี ยะลา ได้รายงานผลการศึกษาเรื่อง “การวิเคราะห์สภาพการณ์การดำเนินงานวิจัยจากงานประจำในเขตสุขภาพที่ 11 และ 12” โดยการสนับสนุนทุนวิจัยของ สวรส. พบว่า มีผลงานวิจัย R2R หลายชิ้นสามารถขยายผลสู่นโยบายในระดับจังหวัดได้ เช่น การพัฒนารูปแบบการส่งเสริมทันตสุขภาพในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านซีเย๊าะ ต.บาโงยซิแน อ.ยะหา จ.ยะลา หรือที่รู้จักกันในชื่อ "บาโงยซิแนโมเดล" ที่มีรูปแบบการให้บริการทันตกรรมเชิงรุก เพื่อควบคุมฟันผุ ด้วยวิธี Smart Technique มีการอบรม dental nurse ให้ความรู้แก่ผู้ดูแลเด็ก จนเกิดศูนย์ฯ ต้นแบบการพัฒนาด้านทันตสุขภาพ ที่มีการขยายผลการดำเนินงานไปสู่ทุกตำบลในจังหวัดยะลา และผลงานเรื่องการพัฒนาแนวทางการดูแลผู้ป่วยต่อเนื่องที่บ้าน ที่พัฒนาระบบการส่งต่อเป็นโปรแกรม Home Health Care ของโรงพยาบาลยะลา ขยายผลไปทั้งจังหวัดยะลา ปัตตานี และนราธิวาส เป็นต้น

นักวิจัยชี้โอกาสในการพัฒนางาน R2R สู่ R2P ว่า ควรจัดให้มีโครงการพัฒนาศักยภาพนักวิจัยเพื่อส่งเสริมให้เกิดนักวิจัยหน้าใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี มีการพัฒนาศักยภาพเครือข่ายงาน R2R ทุกเขตสุขภาพ ที่สำคัญคือให้เชื่อมโยงกับงาน Service Plan ของพื้นที่ จากนั้นต้องมีการพัฒนากลวิธีในการทำงาน เช่น ควรรวบรวมความรู้ที่มีอยู่อย่างกระจัดกระจายจากทุกจังหวัด ด้วยการจัดการที่ดี มี database เพื่อให้สังเคราะห์ได้ว่า มีข้อมูลใดที่ตอบโจทย์นโยบายหรือแผนยุทธศาสตร์ในเรื่องนั้นๆได้ ขณะที่นโยบายระดับเขต ควรมีการตั้งคำถามเพื่อแก้ไขปัญหาสุขภาพของประชากรในเขต และมีข้อมูลของพื้นที่ที่เจาะจงเพื่อให้ได้คำตอบที่ตรงกับคำถามหรือเพื่อปรับเปลี่ยนระบบอะไรอย่างไร ที่สำคัญที่สุดคือการมีส่วนร่วมจากผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่ขั้นวางแผนงานการทำงานด้วยกัน ไม่แยกส่วนกันของกรรมการในระดับเขตสุขภาพทุกชุด เป็นต้น

นพ.พีรพล สุทธิวิเศษศักดิ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข กล่าวว่า ในปี 2560 นี้ สวรส.ให้ความสำคัญกับการสร้างนักวิจัยหน้าใหม่ ด้วยกลไก R2P โดยใช้กระบวนการ Implementation Research หรือการวิจัยเพื่อนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติ ให้สามารถประยุกต์ใช้กับงานในลักษณะเชิงนโยบายได้อย่างเหมาะสมต่อไป โดยได้เริ่มพัฒนาโมเดลการทำงานกับ รพ.สมเด็จพระยุพราชด่านซ้าย จ.เลย ซึ่งประเด็นที่พื้นที่ให้ความสนใจคือ การประเมินผลการทำงานการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานของพื้นที่อำเภอด่านซ้าย เช่น ผู้ป่วยในพื้นที่สามารถควบคุมค่าน้ำตาลให้อยู่ในค่าปกติได้หรือไม่ มีภาวะแทรกซ้อนจากโรคอื่นหรือเปล่า ดีกว่าพื้นที่อื่นหรือไม่อย่างไร และอะไรเป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดผลสำเร็จและไม่สำเร็จ เป็นต้น เพื่อเรียนรู้ว่าระบบงานที่ทำอยู่มีประสิทธิผลมากน้อยเพียงใด งานลักษณะเช่นนี้ สวรส.คาดหวังให้เกิดขึ้นเพื่อให้โรงพยาบาลระดับอำเภอสามารถประเมินงานและสร้างนักวิจัยในพื้นที่ได้ ที่สำคัญคือเกิดแนวทางการดำเนินงานที่สามารถยกระดับไปเป็นนโยบายในอนาคตได้

นพ.พีรพล กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ สวรส. ได้สนับสนุนใน 4 เรื่องหลักๆ แก่พื้นที่ คือ

1.มีทีมวิจัยช่วยสนับสนุนการเขียนข้อเสนอโครงการวิจัย (Proposal)

2.จัดหาที่ปรึกษาที่มีความเชี่ยวชาญ

3.ทีมที่ปรึกษาจะช่วยในการค้นข้อมูลที่เกี่ยวข้อง พร้อมการฝึกหัดให้นักวิจัยทำข้อเสนอโครงการวิจัยที่มีประโยชน์ต่อระบบสุขภาพ

และ 4.จัดทีมพัฒนาระบบ Information จากแหล่งข้อมูลต่างๆ ให้เชื่อมโยงและประเมินผลได้

ทั้งนี้ สวรส. มีนโยบายสนับสนุนการทำวิจัยในพื้นที่ โดยกำหนดกรอบการวิจัยใน 5 เรื่อง ประกอบด้วยโรคเบาหวาน วัณโรค หอบหืด ภาวะตกเลือดหลังคลอด และระบบบริการดูแลวัยรุ่นที่ใช้ยาเสพติด

ด้าน พญ.ดวงดาว ศรียากูล รองผู้อำนวยการกลุ่มภารกิจปฐมภูมิ รพ.เพชรบูรณ์ กล่าวว่า “ที่ผ่านมาศูนย์เพื่อการคัดกรองยาเสพติด รพ.เพชรบูรณ์ มีการทำงานภายใต้เจตนารมณ์ “ผู้เสพ” คือ “ผู้ป่วย” นำกลุ่มวัยรุ่นผู้ใช้สารเสพติดเข้าสู่การบำบัดฟื้นฟู สามารถลดการกลับมาเสพซ้ำลงจาก 20% เหลือ 5.71% โดย 80% ของเด็กและเยาวชน 972 ราย ที่เข้าสู่กระบวนการดูแลของโรงพยาบาลนั้นปลอดภัย สามารถกลับไปใช้ชีวิตปกติกับครอบครัวและสร้างคุณค่าให้สังคมได้ต่อไป

ความสำเร็จนี้เกิดจากการเรียนรู้หน้างาน โดยพบว่าการรักษาหรือบำบัดเป็นเพียงการแก้ปัญหาที่ปลายทาง กระบวนการทำงานจึงได้พัฒนาไปใน 2 ทาง คือ 1.การพัฒนากระบวนการบำบัดโดยให้ภาคีต่างๆ มีส่วนร่วมและ 2.การย้อนรอยโดยวิเคราะห์ประวัติชีวิตของวัยรุ่นที่ใช้ยาเสพติด เพื่อเรียนรู้ว่าปัจจัยใดบ้างที่มีผลชักนำให้เยาวชนเข้าไปสู่การใช้สารเสพติด ทั้งนี้ การทำงานใน 2 รูปแบบดังกล่าว เป็นที่มาของการสร้างโปรแกรมบำบัด โปรแกรมติดตาม และโปรแกรมการเฝ้าระวัง ค้นหากลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น เด็กติดเกมส์ ขาดเรียน มีผลการเรียนต่ำ กลุ่มที่มีการมั่วสุม เป็นต้น เพื่อเข้าสู่การบำบัดติดตามที่เหมาะสม ซึ่งหมดนี้ได้ใช้โรงเรียนเป็นฐานบำบัดดูแล (School-Base Integrated Care) ล่าสุดทางจังหวัดได้มอบหมายให้ทางศูนย์ฯ ขยายรูปแบบการดูแลให้ครอบคลุม 50 โรงเรียนมัธยมในจังหวัดเพชรบูรณ์”

นอกจากนี้ ปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญอีกอย่างก็คือ การเชื่อมโยงคนทำงานจาก 8 หน่วยงานในพื้นที่มาทำงานเรื่องนี้ โดยทุกฝ่ายได้เปลี่ยนทัศนคติหรือแนวคิดการทำงานไปจากเดิม โดยมองว่าการแก้ปัญหาการใช้ยาเสพติดของวัยรุ่นต้องอยู่บนหลักการ 4 ข้อ คือ 1.ความรัก 2.การให้อภัย 3.การค้นหาศักยภาพ และ 4.การสร้างคุณค่าให้ชีวิต อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของพื้นที่ที่ผ่านมา ยังต้องการการติดตามประเมินผล เพื่อถอดบทเรียนความสำเร็จให้มีความชัดเจนขึ้น โดยผ่านกระบวนการ Implementation Research เพื่อมาดูกันต่อไปว่าจะสามารถนำโมเดลนี้ไปใช้ต่อในพื้นที่อย่างไร หรือนำไปใช้ในจังหวัดอื่นได้หรือไม่ หรือจะประยุกต์ใช้กับงานในลักษณะเชิงนโยบายให้เหมาะสมต่อไปอย่างไร ซึ่งอยู่ระหว่างการพัฒนาข้อเสนอโครงการ โดยการสนับสนุนของ สวรส. ในการพัฒนางานร่วมกับพื้นที่