ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แอปพลิเคชั่น “อสม.ออนไลน์” ซึ่งพัฒนาขึ้นโดยบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส นับเป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดีในการนำเทคโนโลยีไอทีมาประยุกต์ใช้กับงานบริการสาธารณสุข โดยแอปฯนี้ถูกออกแบบมาเป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารใน Layer ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) กับเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในพื้นที่ ซึ่งประโยชน์ที่เห็นชัดเจนคือช่วยอำนวยความสะดวกในการติดต่อสื่อสารและการส่งข้อมูล ประหยัดเวลา ลดภาระการเดินทาง ทำให้การทำงานของ รพ.สต.และ อสม.โดยรวมมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ความสำเร็จของแอปฯนี้ การันตีโดยรางวัลชนะเลิศด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ส่งเสริมกระบวนการทำงาน การเรียนรู้และสุขภาพ ประจำปี 2017 (WSIS 2017 Prizes Winner) จากสหภาพโทรคมนาคมนานาชาติ (International Telecommunication Union หรือ ITU) และองค์การสหประชาชาติ (United Nations หรือ UN) ในประเภท e-Employment (Social Network for Health Promoting Hospital) ซึ่งแม้จะมีแอปพลิเคชั่นอื่นๆ ส่งเข้าร่วมประกวดอีกหลายแอปฯ แต่เหตุผลที่คณะกรรมการตัดสินให้ อสม.ออนไลน์ ได้รางวัลเนื่องจากเป็นแอปฯ ที่มีการนำไปใช้งานและเกิดผลเป็นรูปธรรมได้จริง

และเพื่อส่งเสริมให้ รพ.สต.นำแอปฯ ดังกล่าวไปใช้งานอย่างแพร่หลายมากขึ้น ทางเอไอเอสจึงได้จัดประกวดการใช้งานแอปฯ อสม.ออนไลน์ รวมทั้งยังได้เชิญสื่อมวลชนลงพื้นที่ดูงาน รพ.สต.บ้านแก้ง อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ เมื่อวันที่ 26 ก.ค.2560 ที่ผ่านมา เพื่อแสดงให้เห็นตัวอย่างการนำแอปพลิเคชั่นไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเกิดผลเป็นรูปธรรมจริง

วิพล โชคบัณฑิต

วิพล โชคบัณฑิต ผู้อำนวยการ รพ.สต.บ้านแก้ง ให้ข้อมูลว่า รพ.สต.แห่งนี้รับผิดชอบพื้นที่รวม 63 ตร.กม. มีประชากรในความรับผิดชอบ 5,663 คน จาก 1,266 ครัวเรือน แต่มีเจ้าหน้าที่เพียง 5 คน คือตัวผู้อำนวยการ พยาบาลวิชาชีพ 1 คน ทันตาภิบาล 1 คนและลูกจ้างอีก 2 คน ถือว่ามีจำนวนน้อยเพื่อเทียบกับพื้นที่ความรับผิดชอบ ทำให้งานบริการต่างๆ ทำได้ไม่ครอบคลุม ด้วยเหตุนี้ตนจึงพยายามหาเครื่องมือใหม่ๆ มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน จนกระทั่งได้มาเจอแอปพลิเคชั่น อสม.ออนไลน์ ซึ่งคิดว่าน่าจะตอบโจทย์การทำงานได้ จึงทดลองสมัครและนำไปใช้ในเดือน ต.ค. 2559

“ก่อนหน้านี้เครื่องมือในการติดต่อสื่อสารที่รวดเร็วที่สุดคือการใช้โทรศัพท์ติดต่อกับประธาน อสม.ตำบลหรือในแต่ละหมู่บ้าน หากไม่เร่งด่วนก็ใช้เอกสารจดหมายหรือรอการประชุมร่วมกันที่จัดขึ้นเดือนละครั้ง การส่งงานหรือการได้รับรายงานจาก อสม.จะเกิดขึ้นในวันประชุมประจำเดือน ในบางกรณี รพ.สต.ต้องการข้อมูลด่วนจาก อสม. ก็ต้องให้ประธาน อสม.หมู่นั้นๆ ติดตามจาก อสม.ในพื้นที่แล้วนำมาส่งเข้ามือถืออีกทอดหนึ่ง หรือหากเป็นการติดตามการลงพื้นที่ทำงานของ อสม.โดยเฉพาะการเฝ้าระวังโรคระบาดหรือการเยี่ยมผู้ป่วยติดเตียงหรือกลุ่มที่เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังซึ่งต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด ทาง รพ.สต.ก็จะได้รับรายงานจาก อสม.ในวันประชุม ผมเลยพยายามหาเครื่องมือต่างๆ มาช่วย อย่างการตั้งกลุ่มไลน์ก็เคยใช้ แต่มันมีลักษณะเป็นข้อมูลที่ไม่เป็นประโยชน์ ส่วนใหญ่กลายเป็นการคุยเล่นกันมากกว่า ผมเลยอยากได้แอปฯ ที่มีลักษณะเป็นระบบปิด มีฟังชั่นการแจ้งข้อมูล ก็เลยศึกษาแอปฯ อสม.ออนไลน์ดูว่าบริษัทเขาทำเพื่อหวังเงินหรือต้องการทำเพื่อตอบแทนสังคมจริงๆ ผมศึกษาอยู่เดือนหนึ่งจนมั่นใจได้ว่าบริษัทนี้ไม่ได้ทำเพราะเงิน ก็เลยลองสมัครดู” วิพล กล่าว

สำหรับขั้นตอนการนำแอปฯ ไปใช้งาน วิพลวางแผนเฟสแรกไว้ 6 เดือน โดยสำรวจพื้นฐานของ อสม.ในพื้นที่ก่อนว่ามีโทรศัพท์สมาร์ทโฟนรองรับการทำงานมากน้อยแค่ไหน จากนั้นก็ทำความเข้าใจกับ อสม.ในพื้นที่ว่า หลังจากนี้จะนำแอปฯ นี้มาใช้ ซึ่งระยะแรกก็มีแรงต่อต้านอยู่บ้างจากกลุ่ม อสม.ชายที่เป็นผู้สูงอายุ แต่ทางวิพลใช้กลยุทธ์การจับคู่บั๊ดดี้ ให้ อสม.หญิงที่อายุน้อยกว่าจับคู่กับ อสม.ชายที่มีอายุมาก แล้วให้ อสม.หญิงคอยสอนการใช้งาน รวมทั้งพยายามให้กำลังใจด้วยคำพูดต่างๆ เช่น ถ้าเด็กๆ ใช้งานเป็น ผู้ใหญ่ก็ทำได้เหมือนกัน หรือบอกว่าไม่มีใครทำเป็นมาแต่เกิด เมื่อก่อนมีโทรศัพท์มือถือกันใหม่ๆ ก็ใช้ไม่เป็นแต่ต่อมาก็ยังใช้กันได้ ทำไมจะใช้แอปฯ นี้ไม่ได้ ฯลฯ

“ผมไม่บังคับว่าเดือนนี้ต้องทำได้แบบนี้ๆ เบื้องต้นขอแค่ว่าถ่ายรูปเป็น แล้วส่งรูปเข้ามาในระบบได้ก็พอ แล้วระหว่างลงพื้นที่เยี่ยมชาวบ้าน ก็จะให้ อสม.สูงอายุหัดใช้โดยมี อสม.หญิงคอยให้คำแนะนำ จนในที่สุด อสม.ที่ต่อต้านก็เริ่มให้การยอมรับและเริ่มใช้แอปฯ นี้เป็น” วิพล กล่าว

สำหรับผลลัพธ์หลังนำแอปฯ อสม.ออนไลน์มาใช้งาน วิพล กล่าวว่า สิ่งที่ตอบโจทย์ที่สุดคือการบริหารจัดการข้อมูล เพราะก่อนหน้านี้ปัญหาของ รพ.สต.คือข้อมูลไม่ครบ เช่น การให้วัคซีน ชาวบ้านบางคนก็ไปรับบริการจากที่อื่น ก็ทำให้ข้อมูลสูญหายไม่สมบูรณ์ แต่เมื่อนำแอปฯ นี้มาใช้ ให้ อสม.ถ่ายรูปใบรายงานประจำเดือนแล้วส่งต่อเข้า รพ.สต. ก็ทำให้ได้รับข้อมูลได้รวดเร็วและสมบูรณ์ขึ้น จนทำให้ รพ.สต.บ้านแก้งขยับแร้งกิ้งการจัดทำฐานข้อมูลจากอันดับที่ 12 ขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ขอ งรพ.สต.ในพื้นที่ทั้งหมด 15 แห่ง

นอกจากนี้ งานป้องกันโรค งานดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียงก็มีประสิทธิภาพมากขึ้น เวลา อสม.ตรวจลูกน้ำยุงลาย ก็มีการถ่ายรูปส่งให้ดู รพ.สต.ก็คอยให้คำแนะนำต่างๆ หรือการส่งรูปผู้ป่วยติดเตียงให้ดู ถ่ายรูปยาให้ดู ก็ทำให้เจ้าหน้าที่ รพ.สต.สามารถมอนิเตอร์อาการ ประเมินสถานการณ์และให้คำแนะนำในการดูแลผู้ป่วยได้ทันที

“ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือพื้นที่เรามีโรคระบาดประจำถิ่นที่ต้องเฝ้าระวังคือโรคไข้เลือดออก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูฝนเป็นประจำทุกปี แต่หลังจากนำแอปพลิเคชั่นนี้มาใช้ มีการส่งรูปการตรวจลูกน้ำยุงลายให้ดู และ รพ.สต.ให้คำแนะนำกลับไปยัง อสม.อย่างรวดเร็ว ก็ทำให้ปีนี้เรายังไม่พบผู้ป่วยไข้เลือดออกในพื้นที่เลยสักราย” วิพล กล่าว

วิพล กล่าวอีกว่า นอกจาก รพ.สต.จะได้ประโยชน์แล้ว ตัว อสม.ก็ได้ประโยชน์ด้วย เพราะประหยัดเวลา ไม่ต้องเดินทางมารพ.สต.เดือนละหลายครั้ง ไม่เช่นนั้นค่าตอบแทนเดือนละ 600 บาทก็คงไม่พอค่าเดินทาง การแจ้งข้อมูลข่าวสารก็ทำได้รวดเร็วครบถ้วนมากขึ้น ซึ่งเมื่อเร็วๆ นี้ตนได้ทำแบบทดสอบประเมินความพึงพอใจของ อสม. ก็พบว่ามีความพึงพอใจถึง 90% เลยทีเดียว

สำหรับการใช้งานในเฟสต่อไป วิพลมองไปที่การใช้งาน Mapping Location เช่น การพล๊อตจุดที่พบโรคระบาดว่าเกิดที่บ้านหลังนี้ๆ แล้วพิจารณาความชุก การกระจายตัวของโรค เพื่อนำข้อมูลที่ได้ไปวิเคราะห์สาเหตุหรือวางแผนป้องกันโรคได้ดีขึ้น รวมทั้งการพล็อตจุดเกิดอุบัติเหตุทางถนน หรือจุดเสี่ยงที่เด็กจมน้ำ เพื่อให้สามารถวางแผนการป้องกันร่วมกับ อบต.ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ผมคิดว่าแอปฯ นี้เหมาะกับ รพ.สต.ที่มีจำนวนเจ้าหน้าที่น้อย หรือ รพ.สต.ที่มีเจ้าหน้าที่มากก็นำไปใช้ได้ อย่าง รพ.สต.เรามีเจ้าหน้าที่น้อย ถ้าไม่นับทันตาภิบาลก็มีผมกับพยาบาลทำงานเชิงรุกกัน 2 คน เราก็ต้องหาเทคโนโลยีมาช่วยเรื่องประสิทธิภาพ ซึ่งแต่ก่อนเรา Lost ข้อมูลมาก แต่พอเอาเทคโนโลยีมาใช้ ก็ทำให้เรามีแร้งกิ้งฐานข้อมูลขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ได้แม้จะมีเจ้าหน้าที่ 2 คนก็ตาม” วิพล กล่าวทิ้งท้าย

ด้าน วรณี รุญสำโภ ประธาน อสม.ตำบลบ้านแก้ง กล่าวว่า สิ่งที่ตนเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนคือการติดต่อสื่อสารจาก รพ.สต.นั้น ทำผ่านแอปฯ ทำให้ อสม.ทุกคนรู้ได้ทันทีพร้อมๆ กัน ไม่ต้องผ่านตนซึ่งเป็นคนกลางสื่อสารไปยัง อสม.คนอื่นๆ ต่อ ทำให้ อสม.ทุกคน ได้รับข้อมูลจาก รพ.สต.อย่างรวดเร็ว ทันสถานการณ์ และข้อมูลก็ถูกต้อง แม่นยำ เพราะมาจาก รพ.สต.โดยตรง

นอกจากนี้หากมีข้อสงสัยก็สามารถรับส่งข้อมูลกับทาง รพ.สต.หรือสอบถามผู้อำนวยการและเจ้าหน้าที่ รพ.สต.ได้ทันที โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อต้องเฝ้าระวังโรคระบาดในพื้นที่ เมื่อ อสม.รู้ข่าวสารพร้อมกัน ก็จะรีบนัดหมายกันเพื่อลงพื้นที่ติดตามและป้องกันโรคได้อย่างทันท่วงที

“การส่งใบงานประจำเดือนก็สามารถทำได้โดยผ่านแอปฯ นี้ตรง ประธาน อสม.ไม่ต้องมีภาระในการติดตามรายงานจาก อสม.คนอื่นๆ อีก ทั้งช่วยประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางที่ต้องการเข้าไปส่งเอกสารรวมทั้งค่าใช้จ่ายในการล้างอัดรูปภาพกิจกรรมการลงพื้นที่ของ อสม.เพื่อประกอบรายงานส่งให้ทาง รพ.สต.ด้วย เพราะสามารถถ่ายรูปส่งให้ รพ.สต.จัดเก็บไว้ได้เลย” วรณี กล่าว

อุทัย แงวกุดเรือ อสม.หมู่บ้านวังศิลา ต.บ้านแก้ง อายุ 67 ปี กล่าวว่าเมื่อมีการนำแอปฯ นี้มาใช้ เริ่มแรกก็ใช้ไม่เป็น แต่ก็อาศัยลูกหลานช่วยสอนอยู่นานจนตอนนี้ใช้งานเป็นแล้ว ซึ่งหลังจากใช้งานแล้วพบว่าช่วยอำนวยความสะดวกได้อย่างมาก เมื่อก่อนจะส่งรายงานประจำเดือนก็ต้องปั่นจักรยานไปส่งที่ รพ.สต. แต่ตอนนี้แค่ถ่ายรูปก็ส่งผ่านมือถือได้ อยู่ท้องไร่ท้องนาก็ส่งได้

“สำหรับคนที่อายุพอๆ กับผมก็อยากให้ฝึกลองใช้ดู เพราะถ้าใช้เป็นแล้วจะสะดวกมากขึ้น อย่างผมตื่นเช้ามาก็จะเปิดดูแอปฯ ก่อนว่าวันนี้ รพ.สต.มีข้อมูลอะไร มีกิจกรรมอะไรที่เราต้องทำบ้าง มันสะดวกมาก อย่าไปกลัว ต้องลองหัดดู” อุทัย กล่าว

ด้าน วิไล เคียงประดู่ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานประชาสัมพันธ์ของเอไอเอส กล่าวว่า ปัจจุบันมี รพ.สต.ที่ใช้งานแอปฯ อสม.ออนไลน์ 452 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งทางเอไอเอสเห็นว่าหาก รพ.สต.และ อสม.นำไปใช้งานกันอย่างต่อเนื่องและกว้างขวาง จะเกิดประโยชน์ต่อประชาชนและสังคมอย่างแท้จริง จึงมีแนวทางในการส่งเสริมการใช้งานแอปฯนี้ โดยร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม จัดประกวดการใช้งานแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ โดยวัดผลทั้งเชิงปริมาณ และคุณภาพเมื่อนำไปใช้งาน โดยมีรางวัล 2 ระดับ ได้แก่ รางวัลดีเด่นระดับประเทศ รางวัลละ 100,000 บาท จำนวน 10 รางวัล และรางวัลดีเด่นระดับจังหวัด (77 จังหวัด) รางวัลละ 40,000 บาท จังหวัดละ 2 รางวัล รวม 154 รางวัล เปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ ถึง 31 ส.ค. 2560 โดยหน่วยบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ และรพ.สต.ที่สนใจเข้าร่วมประกวดฯ สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมที่www.ais.co.th/aorsormor, Facebook อสม.ออนไลน์ หรือสอบถามเพิ่มเติมที่โทร.06 2520 1999