ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สช.จัดเวทีรับฟังความเห็นต่อ (ร่าง) แนวปฏิบัติตามมาตรา ๗ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ หวังคุ้มครองข้อมูลสุขภาพส่วนบุคคล วางแนวป้องกันเวชระเบียนผู้ป่วยถูกเผยแพร่สู่ภายนอก เกิดการละเมิดสิทธิ กระทบชีวิต ครอบครัว และการทำงาน

วันที่ ๑๙ กรกฎาคม ๒๕๖๐ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดการประชุมรับฟังความคิดเห็น “(ร่าง) แนวปฏิบัติตามมาตรา ๗ พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ สำหรับผู้ประกอบวิชาชีพ ผู้ปฏิบัติงานในสถานพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุข” ณ ห้องประชุมริชมอนด์บอลรูม โรงแรมริชมอนด์ นนทบุรี โดยมีผู้แทนของหน่วยงานและองค์กรที่เกี่ยวข้อง สภาวิชาชีพด้านสุขภาพ หน่วยงานวิชาการด้านสุขภาพ และบุคลากรด้านสุขภาพ นักกฎหมาย และภาคประชาชน เข้าร่วมกว่า ๑๒๐ คน

นพ.วิชัย โชควิวัฒน

นพ.วิชัย โชควิวัฒน ประธานกรรมการที่ปรึกษาการส่งเสริมการใช้สิทธิและหน้าที่ด้านสุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ข้อมูลส่วนบุคคลด้านสุขภาพ มีความสำคัญและได้รับความคุ้มครองสิทธิไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะมาตรา ๗ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ กำหนดว่าเป็นความลับส่วนบุคคล ผู้ใดจะนำไปเปิดเผย ทำให้เกิดความเสียหายไม่ได้ เว้นแต่เป็นไปตามประสงค์ของบุคคลนั้นโดยตรง หรือมีกฎหมายเฉพาะบัญญัติไว้ให้ต้องเปิดเผย ซึ่งที่ผ่านมา สช. ได้มี แนวทางปฏิบัติในการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ของผู้ประกอบวิชาชีพด้านสุขภาพ มาแล้ว และขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำ แนวปฏิบัติเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคลด้านสุขภาพหรือเวชระเบียน เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้เป็นแนวทางปฏิบัติงานต่อไป

“การจัดทำแนวปฏิบัตินี้ จะต้องพิจารณาอย่างรอบด้านว่าทั่วโลกเขาปฏิบัติอย่างไร ปรับให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย รวมทั้งคำนึงถึงจุดสมดุลระหว่างข้อมูลส่วนบุคคลกับประโยชน์สาธารณะด้วย แต่เนื้อหาทั้งหมดต้องผ่านกระบวนการศึกษาและรับฟังความคิดเห็นจากองค์กรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในทุกมิติ ก่อนนำข้อมูลมาประมวลผลต่อไป”

นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า การจัดทำแนวปฏิบัติตามมาตรา ๗ แห่ง พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ จะช่วยสร้างความชัดเจนในการทำงานแก่ผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุข และผู้ปฏิบัติงานในสถานพยาบาลและสถานบริการสาธารณสุข วันนี้ สช. จึงได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็น เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับข้อมูลส่วนบุคคล และเกิดกระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการยกร่างอย่างแท้จริง

ต่อมาเป็นการนำเสนอ (ร่าง) แนวปฏิบัติฯ ตามมาตรา ๗ แห่งพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๕๐ โดย อ.ไพศาล ลิ้มสถิตย์ จากศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งจัดทำขึ้นโดยอาศัยหลักเกณฑ์จากองค์กรต่างประเทศ เช่น ปฏิญญาลิสบอน องค์การอนามัยโลก (WHO) และแพทยสมาคมโลก มาเป็นแนวทาง โดยประกอบไปด้วย ๕ หมวด คือ ๑.การรักษาความลับของข้อมูลส่วนบุคคลด้านสุขภาพหรือเวชระเบียน ๒.การเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลด้านสุขภาพที่อาจทำให้บุคคลนั้นเสียหาย ๓.ข้อยกเว้นในการเปิดเผยข้อมูลด้านสุขภาพของบุคคล ๔.สิทธิของผู้รับบริการสาธารณสุขหรือผู้ป่วยในการเข้าถึงข้อมูลของตนเอง และ ๕.คำแนะนำในการจัดทำนโยบายหรือระเบียบสำหรับสถานพยาบาล สถานบริการสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

“สถานพยาบาลต่างๆ ควรจัดทำนโยบายหรือระเบียบปฏิบัติเรื่องข้อมูลส่วนบุคคลด้านสุขภาพ หรือข้อมูลเวชระเบียนผู้ป่วย พร้อมระบบรักษาความปลอดภัยที่มีมาตรฐานในการจัดเก็บ วางแนวทางการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างสถานพยาบาล และหลีกเลี่ยงการส่งข้อมูลผ่านสื่อออนไลน์ เช่น โซเชียลมีเดียต่างๆ ที่ไม่สามารถรักษาความปลอดภัยได้”

โดยที่ประชุมฯ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ อาทิ ร่างแนวปฏิบัติฯ นี้ ครอบคลุมข้อมูลผู้ป่วยคนต่างด้าวหรือไม่ รวมถึงกรณีการนำข้อมูลผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวีไปใช้ประกอบการสมัครงาน การส่งต่อข้อมูลผู้ป่วยเพื่อใช้ในสิทธิประโยชน์ เช่น ประกันสังคม การรักษาพยาบาลข้าราชการ ประกันชีวิต พร้อมข้อเสนอแนะให้มีแนวทางป้องกันข้อมูลที่ส่งผ่านแอพพลิเคชั่นหรือวิธีการที่ไม่มีระบบรักษาความปลอดภัยเช่นการใช้โปรแกรมไลน์ส่งเวชระเบียนไปยังบุคคลหลายคน เป็นต้น

ในช่วงท้ายการประชุม นพ.วิชัย ได้ให้แนวทางการทำงานในระยะต่อไปว่า ควรเป็นการรวบรวมทบทวนข้อมูลวิชาการทั้งในระดับสากลอย่างรอบด้าน โดยใช้หลักการประโยชน์สาธารณะเป็นหลัก ให้สมดุลกับหลักความเป็นส่วนตัว (Privacy) โดยให้ทีมวิชาการที่เชี่ยวชาญในแต่ละด้านมาช่วยพิจารณาปรับปรุงร่างฯ ให้มีความถูกต้อง เหมาะสม ครอบคลุม มีความสมบูรณ์ มากยิ่งขึ้น และอนาคตควรมีการเตรียมการในส่วนของการให้คำปรึกษา (Consult unit) เพื่อรองรับในเรื่องนี้ด้วย