ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กพย. - แผนงานฯการอ่าน สสส. เผยผลศึกษา ใช้หนังสือนิทานภาพ “กุ๊กไก่เป็นหวัด” และ“กระจิบท้องเสีย” ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ช่วยให้เด็กเข้าใจการสร้างเสริมสุขนิสัย ปลดล็อกวิกฤตเชื้อดื้อยาในเด็ก หลังพบสถานการณ์คนไทยใช้ยาปฏิชีวนะ ไม่ถูกโรค ไม่ถูกวิธี เพิ่มเชื้อดื้อยาถึงขั้นวิกฤต

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ศูนย์การเรียนรู้เอนกประสงค์ อุทยานการเรียนรู้ TK park สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) , ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) , แผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน , กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ , สำนักงานอุทยานการเรียนรู้ ร่วมกันจัดงาน “ปลดล็อกวิกฤตเชื้อดื้อยา ด้วยรากฐานการอ่านในเด็กปฐมวัย” แถลงผลการศึกษาการใช้หนังสือ “กุ๊กไก่เป็นหวัด” และ “กระจิบท้องเสีย” ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก

ทพ.ศิริเกียรติ เหลียงกอบกิจ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวว่า 3 โรคยอดฮิตที่นิยมใช้ยาปฏิชีวนะหรือยาต้านแบคทีเรียโดยไม่จำเป็นคือ 1.โรคหวัด ไอ เจ็บคอจากไวรัส 2.ท้องเสียและอาหารเป็นพิษ และ 3.บาดแผลทั่วไป ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากยังคงสั่งยาต้านแบคทีเรียให้กับ 3 โรคโดยไม่จำเป็นโดยเฉพาะในเด็กเล็ก ซึ่งทำให้เกิดปัญหาเชื้อดื้อยาเพิ่มมากขึ้น โดยต้องรับยาแรงกว่าเดิมในการรักษา และมีความเชื่อที่ผิด เช่น “น้ำมูกเหลืองเขียวหมายถึงการติดเชื้อแบคทีเรีย” “เมื่อไม่สบายแม้เพียงเล็กน้อยก็ซื้อยาต้านแบคทีเรียมากินกันไว้ก่อน” หรือ “ไข้สูง ปวดเมื่อยมากควรฉีดยา” ซึ่งล้วนส่งผลซ้ำเติมปัญหาเชื้อดื้อยาเพิ่มมากขึ้น

ที่ผ่านมา สสส. กพย. กระทรวงสาธารณสุข และภาคส่วนต่างๆ มุ่งทำงานตรงไปที่บุคลากรทางการแพทย์และเภสัชกรในการจ่ายยาอย่างสมเหตุสมผลในโรงพยาบาลต่างๆ ในกว่า 30 จังหวัด รวมถึงในโรงพยาบาลของมหาวิทยาลัย และเครือข่ายเภสัชกรรมชุมชนในการให้คำแนะนำกับผู้บริโภค นอกจากนี้สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีได้จัดอบรมแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน นักศึกษาแพทย์ เภสัชกร ถึงทักษะในการสื่อสารเมื่อมีผู้ปกครองเรียกร้องให้ใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาเด็กโดยไม่จำเป็น

นางสุดใจ พรหมเกิด ผู้จัดการแผนงานสร้างเสริมวัฒนธรรมการอ่าน สสส. กล่าวว่า แผนงานฯ การอ่าน ร่วมกับ ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) ดำเนินโครงการอ่านสร้างเสริมสุขภาพ ได้ติดตามผลการใช้หนังสือนิทานภาพ 2 เรื่อง คือ กระจิบท้องเสีย และกุ๊กไก่เป็นหวัดเป็นสื่อการอ่านในการสร้างเสริมสุขภาพด้านการใช้ยาอย่างเหมาะสมในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กกว่า 720 ศูนย์ ได้ข้อมูลที่น่าสนใจคือ ผลจากการใช้หนังสือทำให้เด็กจดจำประโยคจากหนังสือ มีความสุขเมื่อได้ฟังคุณครูและเพื่อนอ่านหนังสือให้ฟัง ที่สำคัญคือ เด็กๆ จดจำพฤติกรรมและนำไปใช้ในการปฏิบัติของตนเอง เพื่อป้องกันและดูแลตนเองยามเจ็บป่วย เช่น ล้างมือก่อนทานอาหาร ล้างมือหลังเข้าห้องน้ำทุกครั้ง เพราะไม่อยากท้องเสียเหมือนกระจิบ ถ้าท้องเสียเด็กๆ จะขอให้ผู้ปกครองทำน้ำเกลือแร่ให้ดื่ม เมื่อเป็นหวัดก็บอกว่า คุณป้าหมอหมีบอกว่าไม่ต้องทานยา นอนพักผ่อน 2-3 วันก็หายหรือควรไปหาหมอก่อนซื้อยามากินเอง ปิดปากเวลาไอจาม และคอยเตือนเพื่อนว่าปิดปากด้วย

“คุณครูส่วนใหญ่รู้สึกดีใจที่มีหนังสือที่สามารถทำให้เด็ก ๆ เข้าใจเรื่องการดูแลสุขภาพด้วยตัวเอง ซึ่งหนังสือแนวนี้ในท้องตลาดยังมีน้อย จึงคาดหวังว่าจะทำให้ผู้เกี่ยวข้อง ผู้ดูแลและพัฒนาเด็กได้ตระหนักถึงความสำคัญ ว่าหนังสือภาพ หนังสือนิทาน เป็นเครื่องมือทรงพลังที่สามารถสร้างเสริมสุขนิสัยและวิถีสุขภาวะให้กับเด็กๆ ยิ่งพิสูจน์ได้อย่างชัดเจนว่า การอ่านช่วยสร้างเสริมสุขภาพ และช่วยวางรากฐานกระบวนการเรียนรู้แทบทุกด้าน” นางสุดใจ กล่าว

ด้าน ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ผู้จัดการศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ปัญหาเชื้อดื้อยาต้านแบคทีเรีย(ยาปฏิชีวนะ) เป็นปัญหาร้ายแรงที่กำลังคุกคามคนทั้งโลก สำหรับประเทศไทยทุกๆ 15 นาที มีคนเสียชีวิตจากโรคต่างๆที่เกิดจากเชื้อดื้อยา 1 คน เฉลี่ย วันละ 100 คน สูงกว่าทั่วโลก ซึ่งส่งผลให้คนไทยเสียชีวิตอย่างน้อยปีละ 20,000 – 38,000 คน สำหรับในเด็ก สถานการณ์เชื้อดื้อยาตามรายงานของกระทรวงสาธารณสุข ในปี 2554 พบว่า ในรอบ 10 ปี มีปัญหาเชื้อแบคทีเรีย 4 ชนิดที่พบบ่อย และพบการดื้อยาปฏิชีวนะสูงขึ้น บางชนิดพบเพิ่มขึ้นกว่า 30 เท่าตัว ซึ่งสาเหตุสำคัญของปัญหาเชื้อดื้อยาเกิดจากพฤติกรรมการใช้ยาต้านแบคทีเรียอย่างพร่ำเพรื่อไม่สมเหตุผล

ทั้งนี้ กพย.เล็งเห็นว่า การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่เกิดผลสัมฤทธิ์นั้น จะต้องปลูกฝังตั้งแต่ในวัยเด็ก กพย.เห็นถึงความสำคัญ จึงผลิตสื่อที่เหมาะสมที่สุดนั่นคือ หนังสือนิทานภาพ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการใช้ยาต้านแบคทีเรีย นอกจากจะให้ความรู้และปลูกฝังพฤติกรรมการใช้ยาที่เหมาะสมให้กับเด็ก ผ่านภาพการ์ตูนที่น่ารักชวนจดจำ โดยคุณ na-ru และผู้แต่งหนังสือนิทานทั้งสองเรื่องนี้ คือ อาจารย์เรืองศักดิ์ ปิ่นประทีป หรือ ตุ๊บปอง ที่เลือกใช้คำที่เหมาะสม มีจังหวะจะโคน มีเสียงสูงเสียงต่ำ ทำให้เด็กๆ สนุกกับการอ่านมากยิ่งขึ้น

ผู้ที่สนใจ สามารถดาวน์โหลดหนังสือ กระจิบท้องเสีย และกุ๊กไก่เป็นหวัดได้ที่ www.thaidrugwatch.org และ www.happyreading.in.th

ขอบคุณข่าวและภาพจาก สำนักข่าวสร้างสุข

เรื่องที่เกี่ยวข้อง