ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์เตือนพ่อแม่ ผู้ปกครอง สังเกต 9 สัญญาณอาการเสี่ยงโรคไข้เลือดออก แม้ว่าไข้เริ่มจะลดลงอย่าชะล่าใจควรต้องไปพบแพทย์ พร้อมแนะเกราะภูมิคุ้มกัน 3 ชั้นให้ลูกน้อยห่างไกลไข้เลือดออก ระบุกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเสียชีวิตสูงเมื่อป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก คือ กลุ่มเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี กลุ่มผู้สูงอายุ คนท้อง คนอ้วน หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคเลือด เป็นต้น

นพ.ธีรพล โตพันธานนท์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า โรคไข้เลือดออกเป็นโรคที่มาพร้อมกับ “ยุงลาย” ที่มีอายุสั้นเพียง 7 วันเท่านั้น ซึ่งโรคไข้เลือดออกสามารถเป็นได้ทุกฤดูกาล ขอเพียงมีแหล่งน้ำขัง ที่สามารถเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายได้ แต่ในฤดูฝนมีความเสี่ยงสูงขึ้นเพราะปริมาณน้ำมากทำให้เกิดแหล่งน้ำขังได้ในหลายพื้นที่ โดยกลุ่มอายุที่พบเป็นโรคดังกล่าวมาก คือ กลุ่มเด็กอายุระหว่าง 10-14 ปี ในขณะที่กลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเสียชีวิตสูงเมื่อป่วยเป็นโรคไข้เลือดออก คือ กลุ่มเด็กเล็กที่มีอายุน้อยกว่า 1 ปี กลุ่มผู้สูงอายุ คนท้อง คนอ้วน หรือผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ โรคเลือด เป็นต้น

ซึ่งผู้ป่วยที่เข้าข่ายความเสี่ยงนี้ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดจากทีมแพทย์พยาบาลที่มีประสบการณ์ กรมการแพทย์ โดยสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในการดูแลรักษาโรคเด็กที่ยุ่งยาก ซับซ้อน รักษาเด็กป่วยที่ส่งต่อมาจากทั่วประเทศ พร้อมทั้งเป็นหน่วยงานที่มีศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านไข้เลือดออก โดยเป็นผู้นำในการทำแนวทางการวินิจฉัย รักษา และฟื้นฟูสภาพผู้ป่วย ลดการเสียชีวิตหรือลดความพิการที่เกิดจากโรคไข้เลือดออก โดยได้รับการยอมรับในระดับโลกจากองค์การอนามัยโลกให้เป็น WHO Collaborating Center ด้านการดูแลรักษาโรคไข้เลือดออก

นพ.สมเกียรติ ลลิตวงศา ผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี เปิดเผยว่า การป้องกันโรคไข้เลือดออกสามารถทำได้ 3 ขั้นตอน เปรียบเสมือนเป็นการสร้างเกราะภูมิคุ้มกันถึง 3 ชั้น โดย

เกราะคุ้มกันชั้นที่ 1 แนะนำให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออกในเด็กอายุตั้งแต่ 9 ปี จนถึงผู้ใหญ่อายุ 45 ปี แบ่งการฉีดเป็น 3 เข็ม ระยะห่างกัน 6 เดือน (0, 6, 12 เดือน) แต่ไม่แนะนำให้ฉีดในเด็กอายุน้อยกว่า 9 ปี ซึ่งเป็นวัคซีนสำหรับป้องกันโรคไข้เลือดออกจากไวรัสเดงกี่เท่านั้น จากการวิจัยพบว่า ป้องกันการติดเชื้อได้ 60 % ป้องกันการเกิดโรครุนแรงได้ 90% แต่ถ้าร่างกายของผู้รับการฉีดวัคซีนเคยมีการติดเชื้อไวรัสเดงกี่อยู่แล้ว จะเป็นการเสริมภูมิป้องกันได้ดียิ่งขึ้น

เกราะคุ้มกันชั้นที่ 2 คือ การช่วยกันกำจัดทำลายแหล่งเพาะพันธ์ยุงลาย เช่น แหล่งน้ำขังในบ้าน การป้องกันตัวเองและบุตรหลานไม่ให้ยุงกัด ด้วยการนอนในมุ้ง ทายากันยุง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างสม่ำเสมอ

เกราะคุ้มกันชั้นที่ 3 คือการไปพบแพทย์เมื่อป่วยเป็นไข้ ควรติดตามอาการ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ โดยเฉพาะไข้เลือดออกที่เป็นมากจะมีโอกาสเกิดภาวะช็อกเมื่อไข้เริ่มลด พ่อแม่ผู้ปกครองจึงไม่ควรประมาท ควรสังเกต 9 สัญญาณอาการเสี่ยงที่จะเป็นโรคไข้เลือดออก คือ

1.ไข้ลงหรือไข้ลดลงแต่อาการเลวลง ยังเบื่ออาหาร ไม่ค่อยเล่น และอ่อนเพลีย

2.คลื่นไส้ อาเจียน ตลอดเวลา

3.ปวดท้องมาก

4.มีเลือดออกมาก เช่น เลือดกำเดาไหล อาเจียน หรือถ่ายอุจจาระเป็นสีดำ

5.พฤติกรรมของเด็กเปลี่ยนไปจากปกติ

6.กระหายน้ำตลอดเวลา

7.ร้องกวนมากในเด็กเล็ก

8.ตัวเย็น สีผิวคล้ำลง หรือตัวลาย

และ 9.ปัสสาวะน้อยลง หรือไม่ถ่ายปัสสาวะนานเกิน 4- 6 ชั่วโมง

ถ้ามีอาการดังกล่าวแม้ว่าไข้เริ่มจะลดลงแล้วควรต้องไปพบแพทย์ ทั้งนี้ สามารถปรึกษาปัญหาสุขภาพเด็กหรือโรคไข้เลือดออกได้ที่ศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านไข้เลือดออก โทร. 1415 ต่อ 3904 และ www.childrenhospital.go.th