ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

แม้ทางการอังกฤษให้คำมั่นลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ แต่ผลการศึกษาล่าสุดกลับตอกย้ำว่าคนจนในอังกฤษยังคงเจ็บป่วยยาวนานกว่าและเสียชีวิตเร็วกว่าคนรวย

สถิติโดยกระทรวงสาธารณสุขอังกฤษสะท้อนว่า ช่องว่างสุขภาพระหว่างคนรวยและคนจนยังคงขยายตัว

Denis Campbell, Health policy editor ของ The Guardian สื่อมวลชนอังกฤษ เขียนถึงความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพในประเทศของตนว่า แม้ทางการอังกฤษให้คำมั่นลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพทั้งในแง่อายุคาดเฉลี่ยและความเปราะบางต่อความพิการและโรคภัยไข้เจ็บ แต่ประชาชนยากจนในอังกฤษก็ยังคงมีความเสี่ยงสูงกว่าต่อการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร การเสียชีวิตหลังคลอด รวมถึงการเข้าโรงพยาบาลด้วยเหตุฉุกเฉิน ดังที่นายกรัฐมนตรีเทเรซา เมย์ชี้ว่าความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพระหว่างคนรวยและคนจนเป็น ‘ความอยุติธรรมอย่างร้ายแรง’

ข้อมูลรายงานประจำปีของกระทรวงสาธารณสุขอังกฤษชี้ว่า ความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพขยายตัวขึ้นในหลายพื้นที่ตั้งแต่ปี 2553 โดยผลต่างอายุคาดเฉลี่ยของผู้ชายระหว่างย่านคนจนและย่านคนรวยเพิ่มขึ้นจาก 9.1 ปีเป็น 9.2 ปีเมื่อปี 2558 และส่วนต่างของผู้หญิงเพิ่มขึ้นจาก 6.8 ปีเป็น 7.1 ปี

เดวิด บัค (David Buck) นักวิเคราะห์อาวุโสขององค์กรคิงส์ฟันด์ซึ่งเป็นผู้ชำนาญการด้านสาธารณสุขและความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพสะท้อนถึงความรุนแรงของปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพของอังกฤษ ซึ่งมีแนวโน้มจะรุนแรงยิ่งขึ้นไปอีกทั้งที่เป็นประเทศพัฒนาแล้ว

“การเสียชีวิตก่อนวัยอันควรและปัญหาสุขภาพกลายเป็นเคราะห์ซ้ำกรรมซัดสำหรับคนยากจนในอังกฤษครับ คนจนจะเสียชีวิตเร็วกว่า ขณะเดียวกันก็ต้องทนทรมานกับปัญหาสุขภาพอีกว่า 20 ปีเมื่อเทียบกันกับคนรวย รัฐบาลต้องทำอะไรสักอย่างแล้วครับ”

เขาชี้ด้วยว่าแนวโน้มทางลบนี้สะท้อนถึงความล้มเหลวของรัฐบาลและ NHS (National Health Service หรือบริการสุขภาพแห่งอังกฤษ) ในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ

อีกด้านหนึ่งการศึกษาวิจัยโดยมหาวิทยาลัยแมสเชสเตอร์เผยว่า ประชาชนที่อาศัยอยู่ทางเหนือมีแนวโน้มที่จะเสียชีวิตก่อนอายุ 75 ปีสูงกว่าร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับประชาชนทางภาคใต้

ข้อมูลโดยกระทรวงสาธารณสุขซึ่งประเมินจากตัวชี้วัด 15 ข้อชี้ว่า อัตราการเสียชีวิตจากมะเร็ง หัวใจวาย และสโตรกกำลังเพิ่มสูงขึ้นในหมู่ประชาชนในย่านคนจนเทียบกับผู้ที่อาศัยอยู่ในย่านคนรวย

ขณะที่ช่องว่างอายุคาดเฉลี่ยของการมีสุขภาพดี (ประเมินจากการปลอดจากความพิการและโรคภัยไข้เจ็บ) กว้างขึ้นเป็นร่วม 20 ปี นอกจากนี้ยังพบปัญหาการเข้าถึงบริการและคุณภาพการบริการศัลยกรรมซึ่งมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นในหมู่คนยากจน

ทอม คอตตัม (Tom Cottam) ผู้จัดการนโยบายของศูนย์แมคมิลลานแคนเซอร์ซัพพอร์ตแสดงความเป็นห่วงถึงช่องว่างด้านสังคมเศรษฐฐานะที่ส่งผลไปถึงความเสี่ยงการเสียชีวิตจากโรค

“โอกาสที่เราจะเสียชีวิตจากมะเร็งไม่ควรขึ้นอยู่กับพื้นที่ที่เราอาศัยหรือพื้นเพครอบครัว และการที่ช่องว่างระหว่างคนจนที่สุดและคนรวยที่สุดกำลังขยายตัวก็เป็นเรื่องที่น่าวิตกมากครับ”

“รัฐบาลอังกฤษ NHS และหน่วยงานดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็งจำเป็นต้องประสานความร่วมมือ เพื่อแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมและยกระดับการรอดชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งไม่ว่าจะมาจากท้องที่ใดก็ตาม”

ศ.นีนา โมดี (Professor Neena Modi) ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์และสุขภาพเด็กแห่งอังกฤษ เปิดเผยว่า นโยบายของรัฐบาลนั่นเองที่มีส่วนซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพ

“สุขภาพทารกและเด็กเป็นพื้นฐานของสุขภาพตลอดชีวิต ซึ่งทำให้เราเป็นห่วงอย่างยิ่งที่พบว่าช่องว่างอัตราตายในทารกกำลังขยายตัว ทั้งที่อังกฤษเองก็เป็นหนึ่งในประเทศร่ำรวยที่สุดของโลก”

“ข้อมูลใหม่นี้เป็นหลักฐานที่ตอกย้ำว่านโยบายปัจจุบันไม่เพียงล้มเหลวในการแก้ปัญหาสุขภาพ หากยังทำให้ปัญหายิ่งรุนแรงขึ้น การยกระดับสุขภาพและสุขภาวะของประชากรต้องอาศัยความมุ่งมั่นและเป้าหมายที่แน่ชัด ทว่าเรากลับเห็นการแยกส่วนบริการรักษาพยาบาล รวมถึงการแตกกองทุนตามผู้ให้บริการซึ่งมุ่งแสวงกำไร และการกีดกันบุคลากรต่างชาติออกจากภาคสาธารณสุขอย่างต่อเนื่องในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังเห็นความล้มเหลวในมาตรการรณรงค์เรื่องอาหารขยะ ลดมลพิษอากาศ และการขับเคลื่อนบริการรักษาพยาบาลเชิงป้องกัน”

ขณะที่ บัค มองว่า NHS กำลังล้มเหลวในการรับมือกับความท้าทายสำคัญ 3 ประการ “บริการผู้ป่วยนอกของ NHS ยังไม่ดีพอ เช่นเดียวกันกับการแก้ไขปัญหาภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉิน และลดการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรครับ”

ด้านโฆษกกระทรวงสาธารณสุขอังกฤษยอมรับว่า ความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพเป็นปัญหาที่แก้ไขได้ยาก

“ความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพเป็นเรื่องท้าทายและซับซ้อน เนื่องจากเป็นปัญหาที่ฝังรากลึก อีกทั้งยังมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายตัว ถึงแม้เราได้เห็นความคืบหน้าในด้านอัตราการรอดชีวิตจากโรคมะเร็งซึ่งทำสถิติสูงสุด และอัตราการสูบบุหรี่ที่ต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ แต่ผลลัพธ์ด้านอื่นก็ยังคงน่าผิดหวัง” และว่ารัฐบาลกำลังจัดสรรงบประมาณแก่ส่วนท้องถิ่นอีก 16,000 ล้านปอนด์ในระยะ 5 ปีเพื่อยกระดับบริการสาธารณสุข

ด้าน Norman Lamb แกนนำฝ่ายค้านให้ความเห็นว่า “ความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพที่ขยายตัวออกไป มองได้อย่างเดียวว่าเป็นความล้มเหลวของตัวนโยบาย และจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องผลักดันยุทธศาสตร์ระดับชาติเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพโดยเร่งด่วน”

ด้านโฆษก NHS กล่าวว่า “ความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพเป็นเรื่องเป็นเรื่องตาย แม้จะมีสัญญาณว่าอัตราการเสียชีวิตและอัตราการสูบบุหรี่กำลังลดลง แต่แนวทางแก้ไขที่ชัดเจนก็ยังคงมีความจำเป็นเมื่อพิจารณาจากผลลัพธ์ด้านสุขภาพในภาพรวม

แปลและเรียบเรียงจาก Health inequality gap ‘is still growing’ in England, new Department of Health data shows : www.theguardian.com