ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.-ศูนย์สันติวิธีสาธารณสุข จัดประชุมคัดเลือก “หน่วยงานต้นแบบแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียนบริการทางการแพทย์ระดับประเทศ ปี 2560” สู่การจัดระบบไกล่เกลี่ย แก้ปัญหาความขัดแย้ง ลดการฟ้องร้องในระบบสาธารณสุข “รพ.ระยอง” คว้า รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 “รพ.พระพุทธชินราช” คว้าอันดับ 2 ส่วน รพ.หาดใหญ่ รพ.เชียงรายประชานุเคราะห์ และ รพ.ภูเขียวเฉลิมพระเกียรติ อันดับ 3

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2560 ที่โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการฯ – นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เป็นประธานเปิดการประชุมคัดเลือก “หน่วยงานต้นแบบในการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนการให้บริการทางการแพทย์ระดับประเทศ ปีงบประมาณ 2560” (2 P Safety Best Practice Award) เพื่อค้นหาหน่วยงานต้นแบบในการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนการให้บริการทางการแพทย์ดีเด่น ที่นำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมใหม่เพื่อนำไปสู่การคุ้มครองสิทธิ จัดโดย สปสช. และศูนย์สันติวิธีสาธารณสุข สำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่ง รพ.ระยอง คว้ารางวัลชนะเลิศอันดับ 1

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดเรื่อง “คุณภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วย” (Patient Safety) เป็นประเด็นที่ทุกประเทศต้องให้ความสำคัญเพื่อขับเคลื่อนพัฒนาระบบบริการสาธารณสุข โดยประเทศไทยได้ประยุกต์ขับเคลื่อนในประเด็น “ความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข” 2P Safety : Patient and Personnel Safety) เนื่องจากมองว่าความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้ ทุกภาคส่วนทั้งผู้ให้บริการและผู้รับบริการต้องมีความสุขและปลอดภัย ซึ่ง ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รมว.สาธารณสุข กำหนดเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินระบบสาธารณสุข และที่ผ่านมาทั้ง สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (สรพ.) กระทรวงสาธารณสุข และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้ร่วมกันพัฒนายกระดับคุณภาพและมาตรฐานบริการที่เป็นมาตรการป้องกัน

แต่ด้วยระบบสาธารณสุขมีหลายสิ่งยากป้องกัน โอกาสความขัดแย้งย่อมเกิดขึ้นได้ จึงต้องมีกระบวนการจัดการความขัดแย้งทางการแพทย์และสาธารณสุข ลดความรุนแรงขัดแย้ง สร้างความพึงพอใจ และลดการฟ้องร้อง สู่การฟื้นฟูความสัมพันธ์ผู้ให้และผู้รับบริการ เน้นเคารพสิทธิและศักดิ์ศรีซึ่งกันและกัน ที่ผ่านมานอกจากการดำเนินงานโดยศูนย์สันติวิธีสาธารณสุขแล้ว ยังดำเนินการผ่านศูนย์บริการหลักประกันสุขภาพในหน่วยบริการ และศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติภาคประชาชน ตามมาตรา 50 (5) เหล่านี้เป็นองค์ความรู้สะสม และเพื่อให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ นำไปสู่การพัฒนาระบบและบูรณาการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนมการให้บริการทางการแพทย์ร่วมกัน รวมถึงสร้างขวัญกำลังใจให้กับผู้ปฏิบัติงานและผู้เกี่ยวข้องการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนการให้บริการทางการแพทย์ สปสช.จึงได้ร่วมกับ ศูนย์สันติวิธีสาธารณสุขจัดโครงการคัดเลือก “หน่วยงานต้นแบบในการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนการให้บริการทางการแพทย์ระดับประเทศ ปีงบประมาณ 2560” ซึ่งเป็นการจัดขึ้นเป็นครั้งแรก

ด้าน ศ.นพ.วันชัย วัฒนศัพท์ ประธานคณะกรรมการคัดเลือกหน่วยบริการต้นแบบในการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนการให้บริการทาการแพทย์ระดับประเทศ ปีงบประมาณ 2560 กล่าวว่า คณะกรรมการฯ ซึ่งมาจากหลายภาคส่วนเป็นผู้ที่อยู่ในแวดวงการพัฒนาคุณภาพและเข้าใจกระบวนการสันติวิธีได้พิจารณาการดำเนินงานของ 12 หน่วยบริการต้นแบบในการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนฯ ระดับเขต ที่เข้าร่วมนำเสนอผลงาน โดยมีหลักเกณฑ์พิจารณาในกระบวนการจัดการ ภายหลังการอบรมหลักสูตรแนวคิดพื้นฐานการจัดการข้อร้องเรียน ฟ้องร้องทางการแพทย์และสาธารณสุขโดยการเจรจาไกล่เกลี่ยด้วยสันติวิธี และหลักสูตรนักเจรจาไกล่เกลี่ยทางการแพทย์และสาธารณสุขให้แก่บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานเกี่ยวจ้องกับงานรับเรื่องร้องเรียน ซึ่งจากผลการคัดเลือกหน่วยต้นแบบในการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนการให้บริการทางการแพทย์ระดับประเทศ ดังนี้

รางวัลชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ โรงพยาบาลระยอง จ.ระยอง

ชนะเลิศอันดับที่ 2 ได้แก่ โรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก

ชนะเลิศอันดับที่ 3 จำนวน 3 รางวัล ได้แก่ 1.โรงพยาบาลหาดใหญ่ จ.สงขลา 2.โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ จ.เชียงราย และ 3.โรงพยาบาลภูเขียวเฉลิมพระเกียรติ จ.ชัยภูมิ

นอกจากนี้ยังได้มอบ รางวัลชมเชย จำนวน 7 รางวัล ได้แก่ 1.โรงพยาบาลชัยนาทนเรนทร์ จ.ชัยนาท 2.โรงพยาบาลบางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา 3.โรงพยาบาลมหาสารคาม จ.มหาสารคาม 4.โรงพยาบาลนครพนม จ.นครพนม 5.โรงพยาบาลบึงโขงหลง จ.บึงกาฬ 6.โรงพยาบาลสุราษฎร์ธานี จ.สุราษฎร์ธานี และ 7.โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรุงเทพมหานคร

“การคัดเลือกหน่วยงานต้นแบบในการแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียนฯ นี้ แต่ละแห่งมีจุดเด่นการจัดการที่ดี จึงไม่ได้เป็นการประเมินเพื่อแข่งขันแพ้ชนะ แต่เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อนำไปสู่การพัฒนาการจัดการปัญหาเรื่องร้องเรียน ซึ่งนับวันจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องมีกระบวนจัดการ ซึ่งหน่วยบริการมีบทบาทสำคัญในเรื่องนี้ และหลังจากนี้อยากให้มีการต่อยอดเพื่อพัฒนาเป็นเครือข่ายร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การลดความขัดแย้งในระบบสาธารณสุข” ศ.นพ.วันชัย กล่าว