ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กำเนิดและการพัฒนาทันตแพทย์ในประเทศไทย มีพัฒนาการมาอย่างน่าสนใจ ตั้งแต่ก่อน พ.ศ.2483 ซึ่งเป็นปีที่มีการเรียนการสอนวิชาทันตแพทยศาสตร์ขึ้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และทันตกรรมไทยก็เฟื่องฟูมานับแต่นั้น

หากจะกล่าวถึงอาชีพทันตแพทย์ในประเทศไทย พบว่าก่อนปี พ.ศ. 2483 ในยุคที่ยังไม่มีการสอนวิชาทันตแพทย์ในโรงเรียนหรือในมหาวิทยาลัย ผู้ที่มีความประสงค์จะเป็นทันตแพทย์จะต้องไปเรียนในแบบฝึกหัด ปฏิบัติงานกับผู้ที่ทำอาชีพนี้อยู่แล้ว เป็นเวลาหลายๆ ปีเมื่อแน่ใจว่าตนเองมีความสามารถที่จะออกไปเปิดสำนักงานเป็นเอกเทศได้แล้วก็จะแยกตัวออกมา เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีการควบคุมเรื่องคุณวุฒิและความสามารถ การฝึกหัดและถ่ายทอดความรู้เพื่อการเป็นทันตแพทย์ในแบบนี้จึงมีอยู่มากมาย เพราะประเทศไทยยังไม่มีโรงเรียนที่เปิดสอนวิชาทันตแพทยศาสตร์ และมีทันตแพทย์เป็นส่วนน้อยที่ได้รับการศึกษามาจากต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา เยอรมัน ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ฯลฯ ปฏิบัติงานอยู่บางส่วนในโรงพยาบาลและเปิดสำนักงานของตนเองบ้าง

นอกจากนี้ ยังมีทันตแพทย์ชาวจีนอีกกลุ่มหนึ่งได้เปิดสำนักงานทันตแพทย์ของตนเองขึ้นในกรุงเทพมหานคร และย่านที่มีทันตแพทย์ชาวจีนมากที่สุดก็คือ ถนนเจริญกรุง

ก่อนหน้าที่จะมีการตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์ขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นแห่งแรกในปี พ.ศ.2483 เกิดขึ้น กระทรวงสาธารณสุขได้มีความห่วงใยในสุขภาพของช่องปากของประชาชนอยู่เหมือนกัน โดยได้จัดตั้งโรงเรียนสอนวิชาทันตแพทย์ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข เรียกว่า “โรงเรียนทันตแพทย์ชั้นสอง” โดยมีจุดประสงค์ที่จะอบรมคนไทยให้เป็นทันตแพทย์ จำนวน 200 คน โรงเรียนนี้มี พ.อ.หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ เป็นผู้อำนวยการโรงเรียน แต่เมื่อดำเนินการมาระยะเวลาหนึ่งได้ทันตแพทย์ตามจำนวนที่ต้องการแล้วก็ได้เลิกกิจการไป ก่อนที่จะมีการเคลื่อนไหวจัดตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์ขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

พันเอก หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ ผู้ผลักดันพัฒนาทันตกรรมไทย

พ.อ.หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ เป็นผู้มีบทบาทหลักในการผลักดันจัดตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์ขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเหตุที่หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์มีความสนใจศาสตร์ด้านนี้ เนื่องด้วยเคยได้รับทุนสำเร็จการศึกษาชั้นปริญญาสาขาทัตแพทยศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเพนซิลวาเนีย ในเวลาใกล้เคียงกัน ศาสตราจารย์ พ.ท.สี สิริสิงห ได้รับพระราชทานทุนการศึกษา จากสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ให้เข้าศึกษาวิชาทันตแพทยศาสตร์ ในมหาวิทยาลัยเดียวกัน

ต่อมาหลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ ขณะดำรงตำแหน่งผู้บังคับบัญชาการกองเสนารักษ์ มณฑลทหารบกที่ 1 ใน พ.ศ. 2479 พยายามติดต่อกับศาสตราจารย์ นายแพทย์ แอลเลอร์ เอลลิส อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในขณะนั้นถึงเรื่องการจัดตั้งโรงเรียนทันตแพทย์ และได้เสนอโครงการจัดตั้งโรงเรียนทันตแพทย์สำหรับราชการทหารไปยัง จอมพล ป.พิบูลสงคราม ขณะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการตามโครงการที่เสนอนั้นได้ในกรมแพทย์ทหารบก และได้อนุมัติให้ ศาสตราจารย์ พ.อ.หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ เดินทางไปดูงานเกี่ยวกับการจัดโรงเรียนทันตแพทย์ในต่างประเทศ

เมื่อหลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ เดินทางกลับจากดูงานในต่างประเทศนั้น ประจวบกับเป็นเวลาที่ จอมพล ป.พิบูลสงคราม ได้เข้าดำรงตำแหน่งอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอยู่ด้วย จึงเปลี่ยนนโยบายจากการจัดตั้งโรงเรียนทันตแพทย์ในกรมแพทย์ทหารบกมาจัดตั้งขึ้นในจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ในวันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2483 จอมพล ป. พิบูลสงคราม อธิการบดีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ประกาศจัดตั้งแผนกอิสระทันตแพทยศาสตร์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยขึ้น พร้อมกันนี้ได้แต่งตั้งให้ ศาสตราจารย์ พันเอก หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ ดำรงตำแหน่งหัวหน้าแผนก นับได้ว่าเป็นครั้งแรกที่มีการจัดการศึกษาทันตแพทยศาสตร์ขึ้นในระดับอุดมศึกษาในประเทศไทยอย่างเป็นระบบ โดยใช้ตึกวิทยาศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์และวิทยาศาสตร์เป็นที่ทำการสอนในระยะเริ่มแรก มีนิสิตสำเร็จการศึกษารุ่นแรก 8 คน

ต่อมาได้มีการจัดสร้างตึกประจำแผนกทันตแพทยศาสตร์และทำพิธีเปิดเมื่อวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2484 ณ ซอยจุฬาลงกรณ์ 11 ถนนพญาไท จึงได้ย้ายสถานที่ทำการสอนมายังตึกประจำแผนก ส่วนวิชาการแพทย์พื้นฐานยังคงเรียน ณ คณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาลต่อไป ใน พ.ศ. 2486 ได้มีพระราชบัญญัติจัดตั้งมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ขึ้น โดยแยกคณะแพทยศาสตร์และศิริราชพยาบาล แผนกทันตแพทยศาสตร์ แผนกเภสัชศาสตร์ และแผนกสัตวแพทยศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมเป็นมหาวิทยาลัยสังกัดอยู่ในกระทรวงสาธารณสุข โดยมี ศาสตราจารย์ พ.อ.หลวงวาจวิทยาวัฑฒน์ ดำรงตำแหน่งเป็นคณบดีคนแรกของคณะทันตแพทยศาสตร์

เครื่องมือ เครื่องใช้ทันตแพทย์ไทยในยุคแรกๆ

ในสมัยนั้น ประเทศไทยได้เข้าสู่ภาวะสงครามมหาเอเชียบูรพาหลายปีนับตั้งแต่ พ.ศ. 2484 ทำให้เศรษฐกิจของประเทศทรุดลง งบประมาณที่ได้จากรัฐบาลเพื่อจัดหาเครื่องมือ เครื่องใช้ต่างๆ ก็ไม่พอเพียง เครื่องมือมีราคาแพงขึ้น ไม่ได้สัดส่วนกับงบประมาณที่ได้รับ คณะทันตแพทยศาสตร์ในระยะแรกๆ จึงขาดแคลนเครื่องมืออย่างมาก ตั้งแต่เครื่องมือใหญ่ไปจนถึงเครื่องมือเล็กๆ และในยุคต้นๆ ของการสอนวิชาทันตแพทยศาสตร์ในมหาวิทยาลัย นักศึกษาทันตแพทย์ยังต้องทดลองทำเครื่องมือบางชิ้นด้วยตัวเอง เช่น Amalgam plugger เป็นต้น สำหรับอุปรกรณ์และเครื่องมือในการถอนฟัน ได้เริ่มด้วยการใช้เครื่องมือจักรชนิดใช้เท้าถีบ (Footengine) โดยใช้ตั้งแต่การกรอฟันนอกปาก จนกระทั้งบางครั้งได้ใช้กรอฟันในปากด้วย

ถัดจากเครื่องมือกรอฟันที่ใช้เท้าถีบ ก็มาถึงเครื่องมือกรอฟันที่เป็นแบบทันสมัยขึ้น คือ เป็น Motor มีสายพาน ความเร็วต่ำๆ เก้าอี้ที่ใช้ก็เริ่มด้วยแบบง่ายๆ เป็นเก้าอี้นั่งธรรมดาปรับระดับไม่ได้มีที่รองศีรษะ และได้เปลี่ยนมาเป็นเก้าอี้นั่งปรับระดับได้ใช้เท้าถีบขึ้นลง

ต่อมาที่คณะทันตแพทยศาสตร์ได้รับความช่วยเหลือจากต่างประเทศ โดยเฉพาะ สหรัฐอเมริกา ทำให้ได้รับเครื่องมือที่ทันสมัยในยุคนั้นเพิ่มขึ้นมาก ทั้งเก้าอี้ยูนิตและเครื่องมืออื่นๆ เครื่องมือที่ได้รับในรุ่นแรกๆ เป็นชนิดเก้าอี้นั่งปรับระดับได้ เครื่องกรอฟันสายพานความเร็วยังไม่สูงนัก ต่อมาเมื่อมีการพัฒนาเครื่องกรอฟันที่มีความเร็วสูงเป็นผลสำเร็จ ทางคณะทันตแพทยศาสตร์ก็ได้มีเครื่องมือชนิดนี้มาทดแทนเครื่องกรอฟันความเร็วต่ำที่เคยใช้ สายพานก็เปลี่ยนมาเป็นชนิด ที่เรียกว่า Micro motor เก้าอี้ในครั้งแรกๆ เป็นเก้าอี้นั่ง ในปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นแบบเก้าอี้นอน และปรับระดับได้ด้วยระบบไฟฟ้า

การขยายโรงเรียนทันตแพทย์

คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นโรงเรียนทันตแพทย์ชั้นสูงแห่งแรกของประเทศในเวลานั้น ได้เริ่มผลิตทันตแพทย์รุ่นแรก 6 คน และในรุ่นต่อๆ มาจำนวนไม่ถึง 20 คน เริ่มมีมากขึ้นในรุ่นที่ 13 คือมีถึง 30 คน

ตึกทันตกรรม คณะทันตแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อย่างไรก็ตาม แม้คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยจะมีผู้สำเร็จการศึกษาเป็นทันตแพทยศาสตร์บัณฑิต ปีละประมาณ 90 คน แต่เนื่องจากประชากรของประเทศได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก 14 ล้าน ในปี พ.ศ.2500 มาเป็นประมาณ 42 ล้าน ในปี พ.ศ. 2522 และ 55 ล้าน ในปี พ.ศ. 2534 ทำให้อัตราทันตแพทย์ต่อประชากรของประเทศห่างไกลกันออกไปอีก

ทางรัฐบาลได้มองเห็นปัญหานี้ในปี พ.ศ. 2507 จึงได้จัดตั้งคณะทันตแพทย์ศาสตร์เพิ่มขึ้นอีกคณะหนึ่ง สังกัดอยู่ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2511 ก็ได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์พญาไท สังกัดในมหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ ซึ่งต่อมามหาวิทยาลัยแพทยศาสตร์ได้รับพระราชทานนามใหม่ว่า “มหาวิทยาลัยมหิดล” และคณะทันตแพทยศาสตร์พญาไท ก็ได้มาสังกัดอยู่ในมหาวิทยาลัยมหิดล และใช้ชื่อว่า คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ต่อมาก็ได้มีการจัดตั้งคณะทันตแพทยศาสตร์ขึ้นในมหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ตามลำดับ ซึ่งนับเป็นการขยายโรงเรียนทันตแพทย์ไปยังภูมิภาคต่างๆทั่วทุกภาค

เก็บความจาก

ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ พ.ท. ทพ. เศวต ทัศนบรรจง. HISTORY OF DENTISTRY. 2534.

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี.คณะทันตแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.