ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติเล็งขยายวันลาคลอด จาก 90 วัน เป็น 180 วัน หรือ 6 เดือน สอดรับกฎหมายคุมการตลาดนมผงที่ส่งเสริมให้แม่ให้นมบุตร 6 เดือน มอบหมาย สธ.และกรมอนามัย พิจารณา อาจออกเป็นกฎกระทรวง

เมื่อวันที่ 15 กันยายน 2560 เวลา 09.30 น. ณ ห้องประชุม 301 ชั้น 3 ตึกบัญชาการ 1 ทำเนียบรัฐบาล พลเรือเอก ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ครั้งที่ 5/2560 ซึ่งสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

ที่ประชุมรับทราบข้อเสนอแนวทางการพิจารณาประกอบการส่งเสริมการลงทุนในระบบบริการสาธารณสุขเพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อระบบสุขภาพของประเทศ

จากนั้นที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 3 ประเด็นการควบคุมกลยุทธ์การตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก พร้อมมีข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเด็นการกำกับและบังคับใช้กฎหมาย ในเรื่องการส่งเสริมการให้นมแม่ในสังคมไทย รวมถึงการหารือกับภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องในประเด็นการขยายสิทธิการลาคลอดเป็น 180 วัน

ทั้งนี้ พ.ร.บ.ควบคุมการส่งเสริมการตลาดอาหารสำหรับทารกและเด็กเล็ก ที่บังคับใช้ไปแล้วเมื่อวันที่ 8 ก.ย.2560 ส่งเสริมการให้นมแม่ในสังคมไทยมากขึ้น ตามกฎหมายเดิมกำหนดให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ให้สิทธิ์แม่ลาคลอดได้เพียง 90 วัน แต่ในกฎหมายฉบับใหม่ ส่งเสริมให้แม่ให้นมบุตร 6 เดือน ดังนั้น จำนวนวันที่ยังไม่ครบ จึงให้กระทรวงสาธารณสุข และกรมอนามัย ต้องพิจารณาเพื่อออกกฎกระทรวงหรือทำอย่างไรอย่างหนึ่ง ให้ภาครัฐและภาคเอกชน ขยายการลาคลอดให้แม่ได้ครบจำนวน 180 วัน โดยให้พิจารณาทั้ง ข้อดี ข้อเสีย และผลกระทบอีกครั้ง นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการควบคุมการโฆษณาอาหารเสริมสำหรับทารกและเด็กเล็กอีกด้วย ซึ่งกฎหมายฉบับดังกล่าวมีโทษรุนแรงพอสมควร ทั้งโทษปรับและโทษจำคุก จึงเชื่อว่าเป็นกฎหมายที่ได้ประโยชน์เป็นอย่างมาก

ต่อจากนั้นที่ประชุมรับทราบความคืบหน้าการขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่ 8 ประเด็นวิกฤติการณ์เชื้อแบคทีเรียดื้อยาและการจัดการแก้ปัญหาแบบบูรณาการ

ทั้งนี้ ที่ประชุมรับทราบผลการสรรหาคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติตามมาตรา 13 (6) ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแทนตำแหน่งที่ว่างลง ได้แก่ นพ.กิตติศักดิ์ คณาสวัสดิ์ นายกเทศมนตรีเมืองมหาสารคาม และให้ออกประกาศรายนามคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติคนใหม่ ในประกาศคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติต่อไป

พร้อมกันนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบ (ร่าง) แนวทางและวิธีการในการติดตามและประเมินผลการดำเนินงานเขตสุขภาพเพื่อประชาชน โดยมอบฝ่ายเลขานุการฯ นำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการฯ ไปพิจารณาประกอบเพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป