ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภาคประชาสังคมจี้รัฐ เร่งนำยาไวรัสตับอักเสบซี ‘โซฟอสบูเวียร์’ เข้าบัญชียาหลักด่วน หลังบริษัทยาเพิ่มชื่อประเทศไทยผลิต-นำเข้ายาราคาถูก โดยไม่ละเมิดสิทธิบัตรได้ตั้งแต่วันที่ 24 ส.ค.60 แนะ สปสช.เพิ่มในสิทธิประโยชน์ และ อภ.เร่งผลิต ชี้จะช่วยผู้ป่วยได้กว่าหมื่นราย ด้าน ครม.มาเลเซียประกาศทำซีแอลยา ‘โซฟอสบูเวียร์’ แล้ว

นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล เจ้าหน้าที่รณรงค์การเข้าถึงยา มูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า จากการเคลื่อนไหวกดดันของภาคประชาสังคมนานกว่า 5 ปี ในที่สุด บริษัท กิลิแอด ไซน์ อินค์ ประกาศยอมให้ประเทศไทยสามารถผลิตและนำเข้ายาต้านไวรัสเอชไอวีและยารักษาไวรัสตับอักเสบซีในราคาถูกได้ โดยไม่ถือว่าละเมิดสิทธิบัตร เมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา ขณะที่ยังไม่มีการตอบสนองใดๆ จากภาครัฐต่อกรณีดังกล่าว

นายเฉลิมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ภาคประชาสังคมเรียกร้องให้นำยาโซฟอสบูเวียร์ ซึ่งเป็นยารักษาไวรัสตับอักเสบซีและยาในกลุ่มเดียวกัน เข้าสู่ระบบการรักษาของประเทศมานานกว่า 5 ปี จนมีการนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะอนุกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติ แต่กลับยืดเยื้อมานานกว่า 1 ปี เนื่องจากราคายายังแพงเกินไป การประกาศของบริษัท กิลิแอดฯ ทำให้ประเทศไทยสามารถนำเข้าหรือผลิตยาในราคาที่ถูกลงกว่าเดิมมาก จึงหวังว่าการประชุมคณะอนุกรรมการบัญชียาหลักฯ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 18 กันยายนนี้ จะพิจารณาอนุมัติให้รวมยาดังกล่าวเข้าบัญชียาหลักแห่งชาติ

นายนิมิตร์ เทียนอุดม อดีตกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ได้เสนอแนะให้ สปสช. ปรับปรุงและประกาศการขยายชุดสิทธิประโยชน์ให้โรงพยาบาลทุกแห่งทราบทันที หลังจากคณะอนุกรรมการฯ มีประกาศเรื่องยาไวรัสตับอักเสบซีชนิดใหม่เข้าสู่บัญชียาหลักแห่งชาติ

“ในแต่ละปี สปสช.ตั้งงบประมาณสำหรับการรักษาไวรัสตับอักเสบซีด้วยยาเก่าคือแพ็คกิเลด อินเตอร์เฟอรอน ไว้ที่ 300 - 400 ล้านบาทต่อปี ซึ่งรักษาคนได้ประมาณ 3,500 คนต่อปี แต่หลายคนรักษาไม่หายด้วยยานี้หรือมีผลข้างเคียงร้ายแรงจากการรักษา แต่ด้วยยาใหม่ที่ราคาถูกลง และรักษาให้หายขาดได้เกือบ 100% โดยใช้วงเงินงบประมาณเท่าเดิม จะทำให้ผู้ป่วยกว่า 10,000 คน ได้รับการรักษาโรคไวรัสตับอักเสบซี ซึ่งเป็นโรคที่รักษาหายขาดได้” นายนิมิตร์ กล่าว

ด้าน นายอนันต์ เมืองมูลไชย ประธานเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย กล่าวว่า องค์การเภสัชกรรมควรเร่งนำเข้าวัตถุดิบมาผลิตและนำเข้าสู่ระบบหลักประกันสุขภาพ เพื่อให้ประเทศมีความมั่นคงด้านยาของประเทศ โดยกรมควบคุมโรคและ สปสช.ต้องทำงานร่วมกัน เพื่อส่งเสริมให้คนที่คิดว่าตนเองเสี่ยงติดเชื้อไวรัสตับอักเสบซี ได้รับการตรวจคัดกรองและตรวจยืนยันการติดเชื้อทุกคน ซึ่งปัจจุบันระบบการตรวจคัดกรองยังมีข้อจำกัดที่ต้องปรับปรุง แต่ขณะนี้เรายังไม่เห็นการตอบสนองใดๆ จากรัฐไทยต่อกรณีนี้

“ภาคประชาสังคมด้านสุขภาพของไทย ขอเรียกร้องให้คณะอนุกรรมการบัญชียาหลักแห่งชาติ พิจารณารวมยาโซฟอสบูเวียร์และยารวมเม็ดโซฟอสบูเวียร์กับเลดิพาสเวียร์อยู่ในบัญชียาหลักแห่งชาติโดยด่วน เพื่อให้กระบวนการต่างๆ ในการนำยาเข้าสู่ระบบการรักษาของประเทศภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพหลักทั้ง 3 ระบบดำเนินการต่อไปได้” นายอนันต์ กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 24 สิงหาคมที่ผ่านมา บริษัท กิลิแอดฯ ประกาศอย่างเป็นทางการทั่วโลกว่า เพิ่มประเทศไทยเป็นประเทศที่มีสิทธิผลิตหรือนำเข้ายาชื่อสามัญในยารักษาไวรัสตับอักเสบซีได้ ได้แก่ ยาโซฟอสบูเวียร์ ยารวมเม็ดโซฟอสบูเวียร์ และเลดิพาสเวียร์ รวมถึงยาใหม่ที่กำลังจะออกสู่ตลาด ซึ่งยาดังกล่าวเป็นยาที่บริษัทกำลังดำเนินการจดสิทธิบัตรในไทย ที่เดิมบริษัทฯ จัดให้ไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีรายได้ค่อนข้างสูง จึงไม่อนุญาตให้ได้รับสิทธิภายใต้สัญญาดังกล่าว

ที่ผ่านมา ยาดังกล่าวมีราคาแพงมาก ในต่างประเทศหากรักษาครบ 12 สัปดาห์เป็นเงินกว่า 2.8 ล้านบาท ส่วนประเทศไทย บริษัทฯ เสนอราคาต่อคณะอนุกรรมการบัญชียาหลักฯ ในราคา 150,000 – 180,000 บาทต่อคอร์สการรักษา ซึ่งราคาที่แพงลิบลิ่วได้กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ไปทั่วโลก จนมีการรณรงค์ต่อต้านและเรียกร้องในหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยด้วย ที่ภาคประสังคมยื่นฟ้องคัดค้านการขอรับสิทธิบัตรยาดังกล่าว และรณรงค์อย่างต่อเนื่องกับภาครัฐเพื่อหาวิธีการแก้ไขปัญหา ทั้งนี้ แรงกดดันดังกล่าวนำไปสู่การประกาศเพิ่มจำนวนประเทศที่รับสิทธิประโยชน์ในสัญญาของบริษัท กิลิแอดฯ

ขณะที่เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2560 คณะรัฐมนตรีของประเทศมาเลเซียได้ประกาศใช้มาตรการบังคับใช้สิทธิเหนือสิทธิบัตรหรือซีแอลตามกฎหมายสิทธิบัตรของมาเลเซียและข้อตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาขององค์การการค้าโลก เพื่อยกเว้นการคุ้มครองสิทธิบัตรชั่วคราว และนำเข้ายาโซฟอสบูเวียร์ที่เป็นยาชื่อสามัญในราคาถูกจากอินเดีย