ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“IC-Infection Control” ที่ฉัน (แอบ) เห็น

ถ้าหากท่านที่ได้มาโรงพยาบาลสุขสำราญ และได้เดินผ่านห้องเล็กๆ สีเหลี่ยมๆ กลางโรงพยาบาล ก็คงจะต้องคิดว่าห้องยาเล็กๆนี้จะเขามีอะไรทำกันบ้างนะ และวันๆ เขามีกิจกรรมอะไรทำกัน นอกจากจ่ายยา

ผมเองในฐานะหัวหน้ากลุ่มงานแห่งนี้ ทุกๆ ครั้งที่งานเข้า ผมก็ต้องรีบพาร่างอันเล็กๆ เข้าไปร่วมทำงานกับเขาทุกครั้งไป และงานที่ผมจะต้องทำเป็นงานประจำ ทั้งจ่ายยา จัดหายา งานคลินิก งานคุ้มครองผู้บริโภคเรียกง่ายๆ ว่าทั้งหมดก็ คือ งานบริการ และงานบริหารกลุ่มเภสัชกรรมนั่นเอง

ส่วนงานนอกโรงพยาบาล ที่เราจะต้องเข้าไปร่วมกิจกรรมด้วยทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นศพ งานบวช งานแต่ง งานฝังลูกนิมิต งานลอยกระทง และงานประเพณีต่างๆ และอาจจะมีคนถามว่าทำไมถึงต้องไปเข้าร่วมทุกงาน ก็คงตอบเลยว่า ก็เพราะเราคือส่วนหนึ่งของชุมชนนั่นเอง เพราะเราคือโรงพยาบาลของชุมชน และชุมชนก็ต้องเป็นส่วนหนึ่งของเราซึ่งตัดกันไม่ได้

และวันหนึ่งผมก็ได้มีโอกาสเข้าประชุมกับทีมงานคุณภาพ (HA) ซึ่งมีระบบต่างๆ ที่ต้องพัฒนาคุณภาพ และจะต้องไปเป็นคณะกรรมการ ได้แก่ คณะกรรมการเภสัชกรรมและการบำบัด (PTC) คณะกรรมการทีมนำด้านคลินิกและระบบบริการ (PCT) คณะกรรมการบริหารสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย (ENV) คณะกรรมการพัฒนาบุคลากร (HRD) คณะกรรมการงานป้องกันและควบคุมการติดเชื้อ (IC) คณะกรรมการบริหารการจัดการความเสี่ยง (RM) และระบบอื่นๆ อีกมากมายจนสลับหน้าที่แทบไม่ทัน

หนึ่งงานของระบบคุณภาพนั้น ก็คือ (IC = Infection Control) ก็ลองคิดดูนะครับว่างานเภสัชกรรมจะไปช่วยอะไรกับเขาได้บ้างที่พอจะทำได้ก็คงมีไม่กี่อย่างหรอกนะครับ นอกจากจัดหา และการเตรียมน้ำยาฆ่าเชื้อโรคเพื่อส่งมอบให้กับทีมงานซึ่งก็น่าจะเพียงพอแล้วหรือปล่าว ? อีกงานหนึ่งที่ดูน่าจะเกี่ยวข้องก็เห็นจะเป็นเรื่องของการกำจัดขยะจากยาที่หมดอายุแล้ว และยาที่เสื่อมสภาพที่เราจะต้องกำจัดตามระบบคุณภาพตามมาตรฐาน โดยเฉพาะยาปฏิชีวนะเป็นต้น

วันหนึ่งขณะที่ผมนั่งจ่ายยาอยู่นั้น บังเอิญในสมองมันก็ฉุกคิดขึ้นมาได้ ก็คือเรื่องของขยะติดเชื้อในชุมชน (ไม่รู้ว่าคิดช้าไปหรือเปล่า ?) ก่อนหน้านี้เราเองก็เคยทำเรื่องนวัตกรรมส่งเข้าประกวดกับทางกลุ่มงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดระนองมา แถมได้รางวัลใหญ่อีกซะด้วยนะ (รางวัลชมเชย ในตอนนั้นผมใช้ชื่อผลงานว่า ICE CAN 4 U : U CAN TAKE HOME

ซึ่งนวตกรรมที่คิดค้นนั้น ก็ไม่ยากอะไรเลย เราก็เพียงแต่ ใช้ขยะซึ่งเป็นกระป๋องยาที่ใช้แล้วนำมาเพื่อทำ Recycle โดยนำกระป๋องยาที่ใช้แล้วมาใส่น้ำลงไปสักครึ่งกระป๋องแล้วนำไปใส่ช่องแช่แข็ง (Freeze) ในตู้เย็นเพื่อให้น้ำนั้นกลายเป็นน้ำแข็ง หลังจากนั้นจึงนำมาเพื่อใส่ยาที่ต้องรักษาอุณหภูมิ เพื่อส่งมอบให้ผู้ป่วย ระหว่างเดินทางกลับบ้าน ซึ่งสิ่งเหล่านี้ก็เป็นการทำระบบ ลูกโซ่ความเย็น (Cold chain) ชนิดหนึ่งเพื่อเป็นการรักษาอุณหภูมิ ให้ยาได้มีคุณภาพที่ดีตลอดการเดินของผู้ป่วยซึ่งต้องนำกลับไปแช่ตู้เย็นที่บ้าน และในขณะที่กำลังจ่ายยาอินสุลินอยู่นั้น พลันก็นึกบางอย่างขึ้นมาได้เกี่ยวกับเข็มอินสุลินที่ใช้แล้ว จึงได้ถามผู้ป่วยไปว่า “ท่านเอาเข็มฉีดยาที่ใช้แล้วไปทิ้งที่ไหนครับ?” และเราก็ได้คำตอบมาว่า “อ้อ! ก็ทิ้งลงถังขยะสิจ๊ะ” พลันก็รู้สึกเกิดอาการ “IC Syndrome” ขึ้นมาทันที ด้วยความที่เราก็เคยเข้าประชุม IC มาก่อนหน้านี้ ก็คิดขึ้นมาได้ว่า ขยะที่ติดเชื้อในชุมชนเหล่านี้ก็มีมากมายหลายสิ่ง แต่เราเองก็ไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่า เข็มอินสุลินที่ใช้แล้วเหล่านี้ มันจะเป็นปัญหาด้านขยะติดเชื้อในชุมชน ที่ไม่เคยมีใครเคยพูดถึง หรือจะมีใครตระหนักว่ามันก็คือปัญหาชุมชนที่ซ่อนอยู่อย่างไม่ต้องสงสัย และมันก็จะเป็นขยะที่สะสมในชุมชนได้อย่างมหาศาลเลยทีเดียว เพราะทุกคนที่ใช้เข็มอินสุลินนี้แล้ว ก็จะนำไปทิ้งตามแหล่งชุมชนต่างๆ ทุกๆ วัน แล้วชุมชนของพวกเราจะอยู่ได้อย่างไรอย่างปลอดภัยจากขยะติดเชื้อเหล่านี้ได้

ดังนั้นผมจึงนึกต่อไปว่า เอ๊ะในตอนที่เราทำงานคุ้มครองผู้บริโภคฯนั้น เราเคยส่งน้ำมันตัวอย่าง ซึ่งเป็นน้ำมันทอดซ้ำ เพื่อส่งตรวจคุณภาพของผลิตภัณฑ์ต่างๆ ซึ่งในการส่งตัวอย่างน้ำมันทอดซ้ำนั้นเราจะต้องส่งตรวจครั้งละ 500 ซีซี และเราก็จะใช้ขวดน้ำดื่มที่เราทิ้งแล้วมาใส่ ในตอนนั้นเราก็บอกผู้ป่วยว่าให้รอสักครู่หนึ่งพร้อมทั้งเดินเข้าไปหยิบเอาขวดน้ำดื่มที่ใช้แล้ว ขนาด 500 ซีซี มาติดฉลากมาส่งมอบให้ผู้ป่วยพร้อมทั้งอธิบายให้ผู้ป่วย นำไปใส่เข็มอินสุลินที่ใช้แล้ว โดยขอความร่วมมือเพื่อให้นำมาคืนเพื่อนำไปทำลายตามหลักการ IC

ที่ผ่านมานั้นเราไม่เคยมีโอกาสพูดคุยกันถึงขยะติดเชื้อในชุมชนเลย และที่ผ่านมาเภสัชกรมีหน้าที่แค่จ่ายยา และแค่อธิบายการใช้ยาเท่านั้น เราไม่เคยพูดหรืออธิบายถึงการกำจัดขยะติดเชื้อที่มาจากเข็มฉีดยาอินสุลินที่ใช้แล้ว และการที่เรานำขวดน้ำที่ใช้แล้วมาประยุกต์ใช้ในครั้งนี้นั้น มันก็จะเป็นส่วนช่วยชุมชนในการลดการติดเชื้อในชุมชนได้อย่างมหาศาลเลยทีเดียว หลังจากนั้นขวดน้ำที่ใช้แล้วแทนที่จะเป็นขยะ ก็ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่าและใช้ได้หลายงาน โดยเป็นทั้งขวดใส่ตัวอย่างน้ำมันทอดซ้ำเพื่อส่งตรวจ และเป็นขวดเพื่อใส่เข็มอินสุลินที่ใช้แล้ว ทุกครั้งที่จ่ายเข็มฉีดยาที่ใช้กับอินสุลิน ผมจะชี้แจงว่า ผู้ป่วยสามารถนำขวดที่ใส่เข็มอินสุลินเหล่านี้ไปกำจัดได้โดยสามารถนำไปฝากไว้ที่ รพ.สต. หรือจะฝาก อสม. (อาสาสมัครสาธารณสุข) ไว้เพื่อจะได้ส่งต่อมาเพื่อกำจัดหรือทำลายที่โรงพยาบาล หรือจะนำมาส่งมอบให้ที่ห้องยาเมื่อผู้ป่วยมารับยาครั้งต่อไป แต่ถ้าหากมานอกเวลาราชการ ผู้ป่วยก็สามารถนำมาฝากไว้ได้ที่ห้องฉุกเฉิน เนื่องจากห้องฉุกเฉินนั้น เปิดให้บริการ ตลอดเวลา 24 ชั่งโมง

จากวันนั้น กลุ่มงานเภสัชกรรมของเรา ก็มีการจัดทำโครงการสำหรับกำจัดขยะติดเชื้อจากเข็มอินสุลินที่ใช้แล้ว ที่เรียกว่า โครงการ “IC-DeNeedle” (Bottle-recycle 4 community) ซึ่งมาจากคำว่า Infection control – Destroy Insulin Needle เป็นโครงการเชิงรุกเพื่อดูแลชุมชน โดยมีส่วนช่วยชุมชนลดขยะติดเชื้อ

เรื่องที่ผมเล่ามาทั้งหมดนี้ก็เป็นเรื่องเล่าที่ผมแอบเห็น และแอบภูมิใจ ที่ห้องยาเล็ก ๆ ห้องนี้ ก็มีส่วนช่วยงานชุมชนได้ ซึ่งเราเองก็ไม่ได้ไปบอกเล่าให้ใครเขาและมันก็เป็นสิ่งหนึ่งที่เราแอบภูมิใจ และเราคิดว่าถ้าหากเรามีส่วนช่วยโรงพยาบาล และชุมชนได้ เราก็ยินดีทำ และที่สำคัญเราก็เป็นส่วนหนึ่งของทีมงานสหวิชาชีพ ที่เราจะต้องร่วมแรงร่วมใจเพื่อการพัฒนาคุณภาพโรงพยาบาล และชุมชนของเราต่อไป

ผู้เขียน : ภก.นวเรศ เหลืองใส กลุ่มงานเภสัชกรรมชุมชน และงานคุ้มครองผู้บริโภค โรงพยาบาลสุขสำราญ จังหวัดระนอง

ภก.นวเรศ เหลืองใส (ขวา)