ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมบัญชีกลางเผย งบรักษาข้าราชการปี 60 พุ่งสูง 7.3 หมื่นล้าน เพิ่มขึ้น 2.6 พันล้าน ระบุผู้ใช้สิทธิมีอายุยืนขึ้น ส่งผลการใช้สิทธิเพิ่มสูงขึ้น แม้มีทุจริตอยู่บ้าง แต่ไม่ได้เพิ่มจนเป็นภาระ พร้อมยืนยันไม่มีความจำเป็นต้องให้บริษัทประกันเข้ามาบริหาร

นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ

เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2560 นางสาวสุทธิรัตน์ รัตนโชติ อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวในโอกาศครบรอบ 127 ปีกรมบัญชีกลาง ซึ่งวันที่ 7 ตุลาคมของทุกปี ถือเป็นวันคล้ายวันสถาปนากรมบัญชีกลาง โดยมีตอนหนึ่งระบุถึงการดูแลเรื่องสุขภาพของข้าราชการ ผู้รับบำนาญ และบุคคลในครอบครัว ว่า ที่ผ่านมากรมบัญชีกลางได้ปรับเพิ่มอัตราค่าอวัยวะเทียมและอุปกรณ์ในการบำบัดรักษาโรค เพื่อให้มีความสอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน และปรับเพิ่มการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลกรณีฉุกเฉินไม่รุนแรง (สีเขียว) หรือเป็นกรณีที่ไม่เข้าเกณฑ์ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตหรือฉุกเฉินเร่งด่วน ทำให้การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลประจำปีงบประมาณ 2560 มีการเบิกจ่ายรวมทั้งสิ้น 73,658.86 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2,642.46 ล้านบาท (เบิกจ่ายปี 2559 จำนวน 71,016.40 ล้านบาท)

ด้าน นสพ.เดลินิว์ฉบับวันที่ 7 ตุลาคม 2560 รายงานว่า อธิบดีกรมบัญชีกลางได้ระบุต่อว่า นอกจากนี้ยังพบว่ามีข้าราชการรับบำนาญและผู้ได้ใช้สิทธิมีอายุยืนขึ้น ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มกับการที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย ส่งผลให้มีปริมาณข้าราชการเข้าใช้สิทธิรักษาพยาบาลเพิ่มสูงขึ้นด้วย ส่วนการฉ้อฉลต่าง ๆ ของข้าราชการยังมีการทำทุจริตอยู่บ้าง แต่ไม่ได้เพิ่มขึ้นจนทำให้เกิดภาระงบประมาณค่ารักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น

"การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มขึ้นถือว่าสอดคล้องกับสถานการณ์ความเป็นจริง ที่กรมบัญชีกลางได้มีการปรับสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลต่าง ๆ ให้ข้าราชการได้ใช้เยอะ คุณภาพดีขึ้น รวมถึงจำนวนการใช้สิทธิรักษาพยาบาลก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นตามแนวโน้มของประเทศไทยที่กำลังก้าวเข้าสู่สังคมสูงวัย" นางสาวสุทธิรัตน์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม นางสาวสุทธิรัตน์ ยืนยันว่าแม้ค่าเบิกจ่ายการรักษาพยาบาลจะปรับสูงขึ้น แต่กรมบัญชีกลางไม่มีความจำเป็นจะต้องเปิดให้บริษัทประกันภัยเข้ามารับบริหารจัดการรักษาพยาบาลข้าราชการให้ เพราะขณะนี้กรมบัญชีกลางกำลังมีการพัฒนาระบบการดูแลรักษาพยาบาลเพิ่มเติมอยู่ อีกทั้งเมื่อปลายปีงบประมาณที่ผ่านมา กรมบัญชีกลางเพิ่งได้ว่าจ้างให้สถาบันการศึกษาแห่งหนึ่ง ช่วยศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลของข้าราชการ เพื่อใช้เป็นข้อมูลยืนยันว่าไม่มีความจำเป็นจะต้องให้บริษัทประกันเข้ามาช่วยรัฐบริหารโดยให้รัฐจ่ายค่าเบี้ยประกัน