ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เมื่อ 200 ปีก่อน (ค.ศ.1815) ภูเขาไฟตัมโบรา (Tambora) ตั้งอยู่บนเกาะซัมบาวา ประเทศอินโดนีเซีย ได้ระเบิดอย่างรุนแรง จนเถ้าถ่านปกคลุมท้องฟ้ามืดมิดไปทั่วและขยายอาณาเขตความมืดมิดไปถึงยุโรป หายนะครั้งนั้นนอกจากทำให้คนตายมากมายจากการระเบิดโดยตรงแล้ว ฟ้าที่ปิดจนแสงสว่างเล็ดรอดลงมาไม่ได้ และคุณภาพอากาศและน้ำที่ย่ำแย่ก็ทำให้การเพาะปลูกเสียหาย ภาวะขาดแคลนสิ่งอุปโภคบริโภครุนแรงเกินกว่าหลายคนคาดหมาย

ในเวลานั้นมีเด็กชายชาวเยอรมันชื่อ Justus Freiherr von Liebig อาศัยอยู่กับบิดา ช่วยกันทำมาหาเลี้ยงชีพพอประทังไปวันๆ ช่วยพ่อทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้ สมัยนั้นพ่อของเค้าทำงานการฝีมือต่างๆ เด็กชายคนนี้จึงได้เรียนรู้เก็บเล็กผสมน้อยเป็นศิลปะการสร้างสรรค์ติดตัวมา เติบโตขึ้นมีโอกาสเรียนเป็นนักเคมี และอาศัยประสบการณ์ที่พบความลำบากยากจนสมัยเด็กๆ จนถือเป็นแรงบันดาลใจที่จะสร้างสิ่งต่างๆ เพื่อช่วยเหลือคนยากไร้

งานชิ้นแรกๆ ของเค้าคือการคิดค้นปุ๋ยนานาชนิดเพื่อช่วยให้พืชพันธุ์ธัญญาหารเติบโตสมบูรณ์ เพื่อหวังให้ประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ไม่ประสบการขาดแคลนอาหารเหมือนที่เค้าเคยตกระกำลำบาก

Justus Freiherr von Liebig

นอกจากนี้เค้ายังคิดค้นสารสกัดประเภท beef extract ซึ่งก่อให้เกิดคุณูปการต่อยอดในธุรกิจอุตสาหกรรมอาหารต่างๆ มากมายจนถึงปัจจุบัน และเค้ายังเป็นนักวิชาการคนแรกที่พยายามประเมินคุณค่าทางโภชนาการของอาหารโดยวิเคราะห์ปริมาณไขมัน คาร์โบไฮเดรต และโปรตีน เพื่อสามารถนำมาเปรียบเทียบคุณค่าของอาหารชนิดต่างๆ ได้

แต่ที่น่าสนใจคือ ความห่วงใยของ Liebig ที่เห็นว่าสังคมแวดล้อม ณ ขณะนั้นประสบปัญหาเด็กขาดแคลนอาหารจนเจ็บป่วยล้มตายกันมาก เนื่องจากการแพทย์ยังไม่ดี หญิงที่คลอดลูกมีโอกาสเสียชีวิตสูงกว่าปัจจุบันอย่างมาก จนทำให้ลูกที่เกิดมาขาดแม่ และไม่มีอะไรจะกิน มักถูกเลี้ยงโดยผู้ดูแลแบบตามมีตามเกิด เช่น ให้กินนมแพะ นมลา หรือเอาขนมปังมายีผสมน้ำและป้อนให้กิน

สิ่งที่ Liebig คิดค้นขึ้นมาในปี ค.ศ.1865 คือ Liebig's Soluble Food for Babies หรือต้นแบบของนมผงนั่นเอง โดยมีส่วนประกอบสำคัญคือ นมวัว แป้งสาลี แป้งมอลท์ และโปแตสเซียมไบคาร์บอเนต หลังจากที่คิดค้นและแจกจ่ายออกไป ก็ได้รับความนิยมอย่างมาก เพราะช่วยให้เด็กมีของกินที่ดูเหมือนจะน่าเชื่อถือ เพราะคิดค้นโดยนักวิชาการ ช่วยให้เด็กมีอัตราการรอดชีวิตมากขึ้นกว่าเดิม

อย่างไรก็ตาม ต่อมามีการนำไปใช้อย่างแพร่หลาย ไม่ได้ใช้เฉพาะกับคนอดอยาก แต่คนที่มีอันจะกิน รวมถึงคนทั่วไปก็นำไปใช้ โดยมีแรงผลักดันมาจากช่องว่างทางสังคมสมัยก่อน ที่หญิงที่คลอดลูกแล้วมักจะต้องลาหยุดงานไปเลี้ยงดูลูก ทำให้โอกาสก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และผลตอบแทนต่ำกว่าผู้ชายเป็นอย่างมาก หลายครอบครัวจึงถือโอกาสเอานมผงไปเลี้ยงดูลูกแทนนมแม่โดยยังมิได้รับรู้ถึงผลกระทบที่จะตามมา

ต่อจากนั้นราวกว่าทศวรรษ จึงเริ่มมีรายงานรวบรวมผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการใช้นมผงโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ว่า แม่ที่เพิ่งคลอดลูกแต่ใช้นมผงเลี้ยงแทนนมแม่นั้นจะทำให้นมแม่ลดน้อยลงไปอย่างรวดเร็วจนไม่สามารถมีนมให้ลูกกินด้วยตนเองได้ ตลอดจนมีรายงานพบเคสเด็กที่กินแต่นมผงจนเกิดปัญหาโรคลักปิดลักเปิดจากการขาดวิตามินซี (Scurvy) และโรคกระดูกเปราะจากการขาดวิตามินดี (Ricket) และอื่นๆ อีกหลายอย่าง

แม้จะมีรายงานออกมา แต่ก็ดูเหมือนจะไม่เกิดผลอะไรต่อพฤติกรรมของคนในสังคมมากนัก เพราะมีการโฆษณาประชาสัมพันธ์ จนทำให้เกิดความเชื่อต่างๆ ไปอย่างมากมายแล้ว

ทั้งนี้เคยมีการคาดประมาณโดยนักวิชาการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการเมื่อไม่นานมานี้ว่า มูลค่าทางเศรษฐกิจของตลาดนมผงทั่วโลกนั้นมีถึึง 300,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐเลยทีเดียว

เจตนารมณ์ของ Justus Freiherr von Liebig นั้นต้องการสร้างนมผงเพื่อมาช่วยเด็กที่ขาดแคลนนมแม่จริงๆ เพื่อให้รอดชีวิต แต่มิได้เจตนาที่จะนำมาทดแทนนมแม่ในกรณีที่เด็กยังมีแม่อยู่

นอกจากนี้ส่วนประกอบของนมผงนั้นไม่ว่าจะทำอย่างไร ก็ไม่มีทางจะมีคุณค่าทางโภชนาการครบถ้วนมาทดแทนนมแม่ได้ การใช้จึงควรใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น สำคัญที่สุดคือ นมแม่มิได้ให้แค่คุณค่าทางโภชนาการแก่เด็กเท่านั้น แต่กระบวนการดูแลและเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้นเป็นการสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดและความรักระหว่างแม่ลูก อันเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่งยวดสำหรับพัฒนาการของเด็ก ด้วยรักต่อทุกคน

สรุปและเล่าเรื่องโดย ผศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (7 ตุลาคม 2560)

อ้างอิง 1. Harford T. Fifty things that made the modern economy. 2017. 2. Stevens EE. History of infant feeding. J Perinat Educ, 2009;18 (2) :32-9.