ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุขเร่งพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศทุกเขตสุขภาพ ให้ประชาชนรับการรักษาอย่างครอบคลุม ใกล้บ้าน ลดการส่งต่อ ลดแออัด ลดรอคอย เพิ่มโอกาสการรอดชีวิต ตั้งเป้าภายในปี 2565 จะขยายการให้บริการเคมีบำบัดในโรงพยาบาลทั่วไปเพิ่ม 20 แห่ง และบริการรังสีรักษาในโรงพยาบาลศูนย์ 5 แห่ง

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2560 ที่ รพ.ชัยนาทนเรนทร จ.ชัยนาท นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวภายหลังนำคณะลงพื้นที่ติดตามนโยบายการจัดบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 3 ว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้พัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service Plan) ทุกสาขาที่เป็นปัญหาสาธารณสุขของประเทศ โดยเฉพาะสาขาโรคมะเร็ง ซึ่งในแต่ละปีแนวโน้มการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดปี 2558 พบผู้ป่วยเนื้องอกและมะเร็งทั่วประเทศ 1,660,748 ราย เสียชีวิต 73,938 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักมาพบแพทย์ในระยะที่ไม่สามารถรักษาหายด้วยการผ่าตัดอย่างเดียว จำเป็นต้องรักษาด้วยยาเคมีบำบัดหรือรังสีรักษาร่วมด้วย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงพยาบาลใน กทม. และเมืองใหญ่ ทำให้ประชาชนรอคอยการรักษานาน

นพ.เจษฎา กล่าวต่อว่า ผลจากการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ ทำให้ขณะนี้มีโรงพยาบาลศูนย์ และโรงพยาบาลทั่วไปรวม 96 แห่งสามารถให้บริการเคมีบำบัด และโรงพยาบาลศูนย์ 5 แห่งสามารถให้บริการรังสีรักษา และจะขยายการให้บริการเคมีบำบัดในโรงพยาบาลทั่วไปเพิ่มอีก 20 แห่ง และบริการรังสีรักษาในโรงพยาบาลศูนย์อีก 5 แห่งภายในปี 2565 เพื่อให้ประชาชนได้รับการตรวจรักษาใกล้บ้าน ลดระยะเวลารอคอยการรักษา ลดค่าใช้จ่าย เพิ่มโอกาสการรอดชีวิต และทำให้คุณภาพชีวิตผู้ป่วยดีขึ้นด้วย

ด้าน นพ.บุญชัย ธีระกาญจน์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุขเขตสุขภาพที่ 3 กล่าวว่า เขตสุขภาพที่ 3 ได้พัฒนาโรงพยาบาลสวรรคประชารักษ์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลศูนย์ขนาด 659 เตียง ให้เป็นศูนย์เชี่ยวชาญด้านมะเร็ง ให้การดูแลรักษาผู้ป่วยมะเร็งอย่างครบวงจร ทั้งการผ่าตัด เคมีบำบัด และการฉายแสง เริ่มให้บริการฉายรังสีแบบประคับประคองเพื่อบรรเทาอาการในผู้ป่วยมะเร็งที่มีการแพร่กระจาย เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2559 มีผู้ป่วยได้รับฉายรังสีแล้ว 339 ราย ฉายรังสีแล้ว 5,500 ครั้ง ช่วยลดการส่งการรักษาออกนอกเขต ทำให้ประชาชนในเขตสุขภาพที่ 3 เข้ารับการรักษาสะดวกรวดเร็วขึ้น ไม่ต้องเดินทางเข้าส่วนกลาง ลดระยะเวลารอคอย และจะพัฒนาให้เป็นศูนย์เชี่ยวชาญด้านหัวใจและหลอดเลือด มะเร็ง อุบัติเหตุ ทารกแรกเกิด และปลูกถ่ายอวัยวะ ของภาคเหนือตอนล่างภายในปี 2565 ซึ่งขณะนี้สามารถเปิดให้บริการสวนหัวใจได้ตลอด 24 ชั่วโมง