ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.ทำ “คู่มือห้องฉุกเฉินคุณภาพ” คัดกรองผู้ป่วยเป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ คาดแล้วเสร็จใน 3 เดือน เน้นความปลอดภัยทั้งผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ ให้ผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินได้รับรักษารวดเร็ว ไม่เกิน 4 ชั่วโมง แยกผู้ป่วยโรคติดต่อร้ายแรงควบคุมการแพร่กระจายเชื้อ เพิ่มมาตรการป้องกันการบุกรุกห้องฉุกเฉิน

วันนี้ (17 ตุลาคม 2560) นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมห้องฉุกเฉินโรงพยาบาลชลบุรี ว่า สถานการณ์ห้องอุบัติเหตุฉุกเฉินในปัจจุบัน ส่วนใหญ่ร้อยละ 60 เป็นผู้ป่วยที่ไม่ฉุกเฉิน เช่น ทำแผล ฉีดยา เป็นไข้มาหลายวัน เป็นต้น และยังมีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้อยละ 70 – 90 เกิดที่ห้องฉุกเฉิน เช่น การทะเลาะวิวาทในห้องฉุกเฉินจากคู่กรณีของผู้ป่วย ตามมาทำร้ายร่างกายถึงโรงพยาบาล และความไม่พอใจในการบริการ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ต้องให้การดูแลผู้ป่วยที่อยู่ในภาวะฉุกเฉินวิกฤต ทำให้ผู้รับบริการที่ไม่ฉุกเฉินจริงต้องรอนาน เป็นต้น

ดังนั้นเพื่อสร้างความมั่นใจทั้งผู้ป่วยและผู้ให้บริการ กระทรวงสาธารณสุขจึงได้เร่งจัดทำ “คู่มือห้องฉุกเฉินคุณภาพ” เพื่อคัดกรองผู้ป่วยให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งประเทศ คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเวลา 3 เดือน เน้นความปลอดภัยทั้งผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ (Patient and Personnel Safety : 2P Safety) ให้ผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉินได้รับการรักษาอย่างรวดเร็ว ไม่ให้นานกว่า 4 ชั่วโมง แยกผู้ป่วยโรคติดต่อร้ายแรงเพื่อควบคุมการแพร่กระจายเชื้อ มีการประชาสัมพันธ์รายละเอียดและข้อมูลการรักษาที่หน้าห้องฉุกเฉิน ได้แก่ ระบุจำนวนผู้รับบริการภายในห้อง ระบุสีเพื่อแสดงอาการผู้ป่วย เช่นสีแดง สีเหลือง และสีเขียว ให้ผู้ที่รอรับบริการทราบเวลาในการเข้ารับการรักษา

รวมทั้งมีมาตรการรักษาความปลอดภัย ให้เหมาะสมตามสภาพพื้นที่ เช่น มีระบบความปลอดภัยในการเข้า-ออก ห้องฉุกเฉิน มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำ 24 ชั่วโมง และพัฒนาบุคลากรในแต่ละสาขาวิชาชีพให้เพียงพอ ได้แก่ แพทย์เวชศาสตร์ฉุกเฉิน พยาบาลเฉพาะทาง และบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งเน้นการใช้รถพยาบาลอย่างปลอดภัย โดยการติดตั้งกล้อง CCTV ระบบจีพีเอสในรถพยาบาล เพื่อป้องกันอันตราย และกำกับดูแลให้พนักงานขับรถปฏิบัติงานตามกฎระเบียบที่กำหนดมาตรการไว้

นพ.เจษฎา กล่าวต่อว่า สำหรับห้องอุบัติเหตุฉุกเฉินโรงพยาบาลชลบุรีในปีที่ผ่านมา มีผู้ใช้บริการทั้งในและนอกเวลาราชการ จำนวน 155,138 คน เกินกว่าครึ่งเป็นผู้ป่วยที่ไม่ฉุกเฉิน ทำให้มีผลกระทบต่อการจัดการผู้ป่วยที่มีภาวะวิกฤตจริง จึงได้จัดระบบบริการดูแลผู้ป่วยห้องฉุกเฉินให้มีประสิทธิภาพ เป็น 2 ระบบ คือ

1.กลุ่มผู้ป่วยฉุกเฉินที่มีภาวะวิกฤตและมีความเสี่ยงสูง จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างรวดเร็ว (Fast track) คัดแยกและให้บริการที่ห้องฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง

2.กลุ่มผู้ป่วยไม่ฉุกเฉินและไม่วิกฤต จัดบริการที่ห้องตรวจนอกเวลาราชการ เพื่ออำนวยความสะดวก ในเวลา 16.30-24.00 น. ผลจากการจัดบริการดังกล่าว ทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินและผู้ป่วยวิกฤติได้รับการดูแลรักษาพยาบาลอย่างมีคุณภาพ ลดภาระงานที่ไม่ฉุกเฉินในห้องฉุกเฉิน เพิ่มประสิทธิภาพ และประสิทธิผลในการให้บริการได้ดีขึ้น ซึ่งจะได้นำตัวอย่างที่ดีไปขยายผลกับโรงพยาบาลทั่วประเทศต่อไป