ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เครือข่ายกู้ชีพย้ำระเบียบ สพฉ.ฉบับใหม่ให้บุคลากรระดับ EMR ขึ้นไปลำเลียงผู้ป่วยทำไม่ได้ในทางปฏิบัติ ชี้บุคลากรส่วนใหญ่จะกลายเป็น “กู้ชีพเถื่อน” นำผู้ป่วยส่งโรงพยาบาลแล้วผิดกฎหมายทันที กระทบผู้ป่วยวิกฤติฉุกเฉิน ระบุไม่คัดค้านการพัฒนาขีดความสามารถแต่ต้องทำให้ครอบคลุมทั่วประเทศก่อนแล้วค่อยบังคับใช้

นายพิสิษฐ์ พงษ์ศิริศุภกุล เลขาธิการมูลนิธิพุทธธรรมฮุก 31 นครราชสีมา เปิดเผยว่า การเข้ายื่นหนังสือต่อ นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อวันที่ 18 ต.ค.2560 ที่ผ่านมา เพื่อขอให้ชะลอการออกประกาศคณะกรรมการการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เรื่อง หน่วยปฏิบัติการฉุกเฉินทางการแพทย์ พ.ศ.2560 นั้น ไม่ได้เป็นการคัดค้านการยกระดับขีดความสามารถผู้ปฏิบัติงานในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน แต่อยากให้ประกาศใช้เมื่อมีความพร้อมมากกว่านี้

นายพิสิษฐ์ กล่าวว่า ระบบการแพทย์ฉุกเฉินของประเทศไทยปัจจุบันมี 3 ระดับ คือ ระดับพื้นฐาน First Responder (FR) ต่อมาคือระดับกลาง Basic Life Support (BLS) และระดับสูง Advance life support (ALS) หรือรถฉุกเฉินของโรงพยาบาลต่างๆ

นายพิสิษฐ์ กล่าวอีกว่า บุคลากรส่วนใหญ่ของประเทศอยู่ในระดับ FR เช่น มูลนิธิ สมาคม และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และต้องผ่านการอบรมก่อนถึงจะขึ้นทะเบียนเป็น FR ได้ อย่างไรก็ดีประมาณ 2 ปีก่อน สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้ประกาศกำหนดในเรื่องการลำเลียงหรือรับส่งผู้ป่วยต้องเป็นระดับ Emergency Medical Responder (EMR) ซึ่งก็คือ FR ที่ผ่านการอบรมเพิ่มเติมอีก 16 ชั่วโมง แต่ในทางปฏิบัติปรากฏว่า สพฉ.ไม่สามารถดำเนินการปรับระดับขีดความสามารถของ FR ได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุม แล้วอยู่ๆ จะมาออกประกาศกำหนดว่าการลำเลียงหรือรับส่งผู้ป่วยต้องเป็นบุคลากรระดับ EMR ขึ้นไป จะทำให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติและเกิดความเสี่ยงแก่ตัวผู้ป่วยอย่างมาก

นายพิสิษฐ์ กล่าวว่า จากปริมาณการรับส่งผู้ป่วยฉุกเฉินผ่านสายด่วน 1669 ในแต่ละปีจะอยู่ที่ 1.5 ล้านครั้ง เป็นการลำเลียงโดยบุคลากรในระดับ ALS และ BLS ประมาณ 200,000 ครั้ง ที่เหลือเป็นระดับ FR ประมาณ 1 ล้านครั้ง หากประกาศฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะทำให้ FR ที่มีอยู่ทั่วประเทศไม่สามารถลำเลียงผู้ป่วยได้ ทำได้แค่ออกไปดู ปฐมพยาบาล นั่งเฝ้า แล้วรอบุคลากรในระดับที่สูงกว่ามาลำเลียงส่งโรงพยาบาล ซึ่งข้อเท็จจริงในปัจจุบันคือรถของโรงพยาบาลในระดับ ALS มีเฉลี่ยโรงพยาบาลละ 1 คัน หรือประมาณ 1,000 กว่าทีมเท่านั้น ส่วนระดับ BLS มี 5,000 คัน ยังไงก็ไม่พอในการดูแลคน 1 ล้านครั้ง

“มันไม่มีใครทำได้ในทางปฏิบัติ กลายเป็นกู้ภัยเถื่อน แล้วถ้านำส่งโรงพยาบาลก็ผิดกฎหมาย ถ้าผู้ป่วยเสียชีวิตระหว่างทาง สอบสวนมาแล้วไม่มีใบอนุญาตก็โดนฟ้องได้ หรืออย่างในอำเภอหรือตำบลที่ไม่มี EMR จะทำอย่างไร ที่สำคัญกว่านั้นคือในรายที่เกิดอุบัติเหตุ หากต้องรอบุคลากรที่สูงกว่า FR มาลำเลียง ผู้ป่วยอาจอาการแย่ลง จากอาการระดับสีเขียวกลายเป็นสีเหลือง สีแดง หรืออาจถึงขั้นเสียชีวิต เพราะฉะนั้นเราไม่สามารถให้ประกาศฉบับนี้ออกมาบังคับได้จนกว่าจะพร้อม วันนี้ สพฉ.ยังตอบคำถามไม่ได้เลยว่ามีบุคลากรที่ผ่านการอบรมในระดับสูงกว่า FR กี่คน ถ้าเป็น EMR ผมว่าไม่น่ามีเกิน 30,000 คนทั่วประเทศเท่านั้น” นายพิสิษฐ์ กล่าว

นายพิสิษฐ์ยืนยันว่า ไม่ได้คัดค้านการยกระดับขีดความสามารถของผู้ปฏิบัติงานในระบบแพทย์ฉุกเฉิน ตนเห็นด้วยว่าต้องมีการพัฒนา แต่ไม่ใช่วันนี้ สพฉ.ต้องไปยกระดับผู้ปฎิบัติงานให้พร้อมก่อนแล้วถึงค่อยประกาศใช้ ซึ่งหลังจากที่ยื่นหนังสือต่อ นพ.ปิยะสกล แล้วก็ได้รับทราบว่าท่านได้สั่งการให้ สพฉ. กลับไปทบทวนประกาศฉบับดังกล่าว โดยให้คงหลักการเรื่องการพัฒนาบุคลากร แต่หาวิธีให้บุคลากรมีความพร้อมก่อนแล้วค่อยนำมาประกาศใช้

“ตอนนี้ท่านรัฐมนตรีรับเรื่องไปพิจารณาเรียบร้อยแล้ว ส่วนคณะกรรมการ สพฉ.จะไปพิจารณาอย่างไรก็แล้วแต่ท่าน เราเพียงต้องการรู้ปัญหาเท่านั้น” นายพิสิษฐ์ กล่าว