ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อดีตนายกสภาเภสัชกรรมย้ำการแก้ไข พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภาต้องไม่ก้าวล่วงวิชาชีพอื่น การพัฒนาควรเป็นไปในทิศทางสากล หากมีความจำเป็นควรหารือกันระหว่าง 2 วิชาชีพ ไม่ใช่เขียนเอาเองแบบนี้

รศ. (พิเศษ) ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์

รศ. (พิเศษ) ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ อดีตนายกสภาเภสัชกรรม กล่าวถึงการจัดทำร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ของแพทยสภา ซึ่งมีการนิยามคำว่า “บริบาลเวชกรรม” ครอบคลุมเรื่องการจัดและจ่ายยาและการให้ยาว่า จะเป็นการขัดต่อหลักสากลที่มีแนวปฏิบัติในการแบ่งแยกหน้าที่ของแต่ละวิชาชีพอย่างชัดเจนมานับร้อยปีแล้ว โดยในหลักการสากลนั้นแพทย์มีหน้าที่ในการตรวจวินิจฉัยและสั่งใช้ยา ส่วนเภสัชกรมีหน้าที่จัดและจ่ายยาตามใบสั่งยา เช่นเดียวกับการเรียนการสอนในเมืองไทยก็ยึดหลักการนี้มาตั้งแต่แรกเริ่ม

“ทั้ง 2 วิชาชีพนี้มันใกล้ชิดกันมาก เหตุที่มีการแบ่งหน้าที่ระหว่างแพทย์และเภสัชกรก็เพื่อสร้างความปลอดภัยให้แก่ผู้ป่วย แพทย์ทำหน้าที่ในการรักษา ส่วนเภสัชกรก็ช่วยดูเรื่องยาว่ายาที่สั่งมาจะเกิดปัญหาอะไรหรือไม่ จะเกิดการแพ้ยาดื้อยาหรือไม่ ถ้าคิดว่าจะเกิดปัญหาก็ต้องหารือกับแพทย์” ภก.กิตติ กล่าว

อย่างไรก็ดี แม้ไทยจะใช้หลักการสากลในการแบ่งหน้าที่ตามวิชาชีพทั้งในการเรียนการสอนและในทางกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติก็ยังมีการทำหน้าที่คละกันอยู่ ส่วนมากจะพบในคลินิกหลายๆ แห่งที่แพทย์ทั้งตรวจรักษาและจ่ายยาในคลินิกด้วย ยังไม่เหมือนในต่างประเทศที่คลินิกจะรักษาและออกใบสั่งยาแล้วส่งให้ร้านยาที่มีเภสัชกรเป็นผู้จ่ายยา ซึ่งเข้าใจว่าการที่แพทยสภาปรับแก้นิยาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม ให้ครอบคลุมเรื่องการจัดและจ่ายยา ก็เพื่อเพิ่มความมั่นใจว่าคลินิกประเภทนี้ไม่ผิดกฎหมาย แต่โดยส่วนตัวเห็นว่าทิศทางการพัฒนาต่างๆ ควรจะเป็นไปในทางที่เป็นสากลมากกว่า ไม่ควรก้าวล่วงวิชาชีพอื่นๆ

“การพัฒนาควรจะเป็นไปตามหลักสากลมากกว่าจะมาเขียนเองแบบนี้ ไม่อย่างนั้นเภสัชกรก็เขียนได้ว่าขอตรวจโรคบ้าง หรือทุกวิชาชีพก็จะแก้กฎหมายในสิ่งที่ตัวเองอยากทำหมด ถ้าจำเป็นจริงๆ เช่น ในพื้นที่ทุรกันดารขาดแคลนเภสัชกร ก็ควรมีการคุยกันระหว่างวิชาชีพว่าจะร่วมกันทำอย่างไร โดยยึดหลักให้ประชาชนได้ประโยชน์เป็นอันดับแรก ไม่ควรต่างคนต่างทำ มันจะทับซ้อนกัน” ภก.กิตติ กล่าว

ภก.กิตติ กล่าวอีกว่านอกจากประเด็นข้างต้นแล้ว ยังมีอีก 2 ประเด็นที่ควรปรับแก้ เช่น เขียนคลุมไปถึงการเสริมสวย ซึ่งเป็นคำที่กว้างมาก ควรจะระบุให้ชัดเจนว่าเสริมสวยตามร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้หมายถึงเสริมสวยศัลยกรรมตกแต่ง รวมทั้งมาตรา 3 ที่เขียนว่าวิชาชีพเวชกรรมหมายความว่าวิชาชีพที่อาศัยองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และศิลปศาสตร์ในการบริบาลเวชกรรม รวมทั้งการอื่นใดที่กำหนดไว้ในข้อบังคับแพทยสภา ซึ่งคำว่าการอื่นใดนี้กว้างมากและคงไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้องเพราะในแต่ละวิชาชีพก็รู้ตัวอยู่แล้วว่าต้องทำอะไรบ้าง ทำได้แค่ไหน ไม่ใช่เขียนกว้างเปิดช่องไม่สิ้นสุดแบบนี้

อนึ่ง วันที่ 12 ต.ค. 2560 ที่ผ่านมา สภาเภสัชกรรมได้ออกแถลงการณ์คัดค้านร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภา ใน 3 ประเด็น คือ

1.กำหนดคำว่า “บริบาลเวชกรรม” ที่ครอบคลุม การจัดจ่ายยาและการให้ยา เป็นการก้าวล่วงสิทธิ์ในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ขัดกับหลักสากลที่แบ่งแยกหน้าที่กันของแต่ละวิชาชีพไว้อย่างชัดเจนเพื่อให้ผู้ป่วยได้รับบริการสาธารณสุขอย่างมีมาตรฐาน และจะกระทบต่อการให้บริการประชาชนตามหลักเกณฑ์คุณภาพและมาตรฐานของวิชาชีพ

2.การเขียนครอบคลุมเรื่อง “การเสริมสวย” ให้อยู่ในขอบเขตวิชาชีพเวชกรรมโดยไม่มีการจำแนก กระทบสิทธิ์ในการประกอบอาชีพทั่วไปของประชาชนทำให้เป็นการจำกัดสิทธิของประชาชนและจะทำให้การเสริมสวยทำได้เฉพาะแพทย์เท่านั้น การเสริมสวยที่กระทำโดยบุคคลในร้านเสริมสวย ในปัจจุบันจะผิดกฎหมายทันที

และ 3.การเขียนนิยามวิชาชีพเวชกรรมที่หมายถึง การบริบาลเวชกรรมและ "การอื่นใด" ซึ่งเป็นข้อความกว้าง ๆ ให้อำนาจแพทยสภากำหนดอำนาจอื่นใดเพิ่มเติมก็ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด จนอาจก้าวล่วงไปสู่วิชาชีพและอาชีพอื่นที่ไม่ได้มีการเรียนการสอนในการแพทย์ในอนาคต อันเป็นสิ่งที่ไม่สมควรปฏิบัติเพราะอาจเป็นอันตรายต่อประชาชน