ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สถาบันมะเร็งรณรงค์ต้านภัยมะเร็งเต้านม พบกลุ่มเสี่ยงมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่ในหญิงที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป แนะให้หญิงไทยตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้งหากพบความผิดปกติ รีบปรึกษาแพทย์ มะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้นสามารถรักษาหายได้

นพ.วีรวุฒิ อิ่มสำราญ ผู้อำนวยการสถาบันมะเร็งแห่งชาติ กรมการแพทย์ กล่าวว่า เดือนตุลาคมเป็นเดือนรณรงค์ต้านภัยมะเร็งเต้านมทั่วทั้งโลกเพื่อให้ตระหนักถึงภัยร้ายจากโรคมะเร็งเต้านม เนื่องด้วยมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ในหญิงไทยและสตรีทั่วโลก และประเทศไทยมีแนวโน้มพบผู้ป่วยจำนวนเพิ่มขึ้นขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลในปี 2554 พบผู้ป่วยรายใหม่ 12,613 คน หรือคิดเป็นอุบัติการณ์ 28.5 คนต่อประชากร 100,000 คน

ทั้งนี้กลุ่มเสี่ยงมะเร็งเต้านมส่วนใหญ่จะพบในหญิงที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มีประวัติเคยเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน หรือเคยมีประวัติผ่าตัดเต้านมและมีผลชิ้นเนื้อผิดปกติ มีประจำเดือนครั้งแรกก่อนอายุ 12 ปี หมดประจำเดือนหลังอายุ 55 ปี เคยรับการฉายรังสีบริเวณทรวงอก ก่อนอายุ 30 ปี การดื่มแอลกอฮอล์ และใช้ยาฮอร์โมนเพศหญิงทดแทนนานกว่า 5 ปี

สำหรับวิธีการป้องกันและลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเต้านมถือเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้หญิงทุกคนสามารถทำได้ด้วยการตรวจเต้านมด้วยตนเองเป็นประจำทุกเดือนและควรได้รับการตรวจจากแพทย์หรือพยาบาลเป็นประจำทุกปี ถ้าพบความผิดปกติต้องรีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย รักษา หากพบว่าเป็นมะเร็งเต้านมระยะแรก มีโอกาสรักษาหายขาดสูง ทั้งนี้ ผู้ที่ต้องการเรียนรู้วิธีการตรวจมะเร็งเต้านมด้วยตนเองสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ www.nci.go.th และ Mobile Application รู้ทันโรคมะเร็งของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ

นพ.อาคมชัย วีระวัฒนะ รองผู้อำนวยการด้านการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การลดความเสี่ยง สามารถทำได้โดยเลือกรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ให้ครบ 5 หมู่ ไม่ดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ หลีกเลี่ยงอาหารหมักดอง อาหารเนื้อสัตว์รมควัน ปิ้ง ย่าง ทอดจนไหม้เกรียม ควรลดความเครียด ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ควบคุมน้ำหนักตัวไม่ให้เกินมาตรฐาน และหลีกเลี่ยงการใช้ยาฮอร์โมนเพศหญิง นอกจากนี้ก็ควรค้นหามะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะเริ่มแรกโดยการตรวจเต้านมด้วยตนเองสม่ำเสมอทุกเดือน ตรวจจากแพทย์เป็นประจำทุกปี และควรตรวจด้วยเครื่องเอ็กซเรย์เต้านม (แมมโมแกรม) ในผู้หญิงอายุเกิน 40 ปี ขึ้นไปก็จะช่วยค้นหามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้นได้มากขึ้น ในกรณีที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมก็ขอให้รีบเข้าสู่กระบวนการรักษาตามมาตรฐานอย่าปล่อยทิ้งไว้หรือไปรักษาด้วยวิธีอื่นๆ