ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“งานของเทศบาล ทุกวันนี้ไม่ใช่แค่สร้างถนนหนทาง หรือ อาคารต่างๆ อีกต่อไปแล้ว การดูแลสุขภาพของประชาชนก็เป็นอีกงานหนึ่งของเทศบาล เพราะถ้าหากประชาชนในพื้นที่มีสุขภาพที่แข็งแรง การขับเคลื่อนงานด้านต่างๆ จะเป็นไปในทิศทางที่ดี”

นายอิทธิพล ตรีวัฒนสุวรรณ

จากคำตอบของ นายอิทธิพล ตรีวัฒนสุวรรณ นายกเทศบาลนครอุดรธานี จ.อุดรธานี ที่เปิดเผยถึงที่มาของการก่อสร้าง รพ.เทศบาลนครอุดรธานีขึ้นมา ซึ่งถือได้ว่า เป็นโรงพยาบาลแห่งแรกใน จ.อุดรธานี ที่ก่อสร้างด้วยเงินงบประมาณของเทศบาลและภาคประชาชนอย่างแท้จริง

นายอิทธิพล เล่าว่า ในพื้นที่เทศบาลนครอุดรธานี มีหน้าที่รับผิดชอบประชาชนกว่า 40,000 คน งานด้านสุขภาพเป็นอีกหนึ่งบทบาทของเทศบาล อีกทั้งตัวเทศบาลเองก็มีความพร้อมในด้านจัดบริการสุขภาพ เริ่มต้นจากการตั้งศูนย์บริการสาธารณสุขตั้งแต่สมัยยังเป็นเทศบาลเมือง โดยมีศูนย์บริการสาธารณสุขแห่งแรกคือ ที่สำนักงานเทศบาล ต่อมามีการบริการขยายเครือข่ายออกไปตามมุมเมืองในเขตรับผิดชอบของเทศบาล และได้มีการพัฒนาเป็นศูนย์บริการสาธารณสุขต่อมา จนปัจจุบันมีทั้งหมด 4 ศูนย์ ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข ท.1, ศูนย์บริการสาธารณสุขหนองสิม, ศูนย์บริการสาธารณสุข ท.9 และศูนย์บริการสาธารณสุขเก่าจาน โดยทุกศูนย์จะมีแพทย์ประจำอยู่ทุกวัน

“จากความพร้อมด้านบริการสุขภาพแล้ว ภาพที่เราจะเห็นชินตาคือ ในโรงพยาบาลของรัฐจะมีผู้ป่วยจำนวนมากมาหาหมอตั้งแต่เช้า ช่วงบ่ายถึงจะได้ตรวจ ทางเทศบาลจึงมีแนวคิดที่จะสร้างโรงพยาบาล เพื่อให้เป็นทางเลือกของคนอุดร และช่วยลดปัญหาแออัดในโรงพยาบาลของรัฐด้วย ”

สำหรับโรงพยาบาลเทศบาลนครอุดรธานี ก่อสร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2555-2557 โดยได้รับงบประมาณสนับสนุนการก่อสร้างจากเทศบาลนครอุดรธานีและกองทุนส่งเสริมกิจการเทศบาล ด้วยงบประมาณในการก่อสร้าง 140 ล้านบาท

นายกเทศบาลนครอุดรธานี กล่าวว่า จากความคิดที่ว่าจะมีการยกระดับของศูนย์บริการสาธารณสุขให้เป็น รพ.สต.บวกกับความแออัดในโรงพยาบาลของรัฐที่ผู้ป่วยต้องใช้เวลานานกว่าจะได้รับการตรวจรักษา จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายการทำงานของฝ่ายการเมือง ที่วันนี้งานของเทศบาลไม่ใช่แค่งานก่อสร้างถนน อาคารอีกต่อไป งานด้านสาธารณสุขก็เป็นงานอีกบทบาทหนึ่งของเทศบาลที่เราจะต้องทำให้ประชาชนในพื้นที่มีความพึงพอใจมากที่สุด

“กับโจทย์ที่ว่า การบริการดีที่สุด รวดเร็วที่สุด สะดวกที่สุด และทันสมัยที่สุด เป็นโจทย์แรกของการออกแบบก่อสร้างอาคารและจะทำอย่างไรให้การบริหารจัดการเป็นไปตามโจทย์ที่เราตั้งไว้ นับว่าเป็นความโชคดีของโรงพยาบาลเทศบาลนครอุดรธานีที่ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีทั้งจากภาครัฐและเอกชน อาทิ สปสช. สสจ. รพ.อุดรธานี บริษัทเอกชนต่างๆรวมทั้งมูลนิธิ หน่วยกู้ภัย”

ทั้งนี้ ก่อนที่จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างโรงพยาบาลขึ้นมาได้มีเสียงทักท้วงติงจากหลายฝ่ายว่า การสร้างโรงพยาบาลไม่ใช่อำนาจหน้าที่ของเทศบาล เป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข เป็นการทำงานที่เกินอำนาจการบริหารงาน แต่สำหรับตนเองมองแล้วว่า ปัญหาเรื่องสุขภาพของประชาชนเป็นสิ่งสำคัญ ไม่ยิ่งหย่อนไปการการสร้างความเจริญในด้านต่างๆให้กับพื้นที่ โรงพยาบาลแห่งนี้จะเกิดขึ้นได้ต้องมาจากงบประมาณจากหลายๆ ภาคส่วนร่วมกัน และจะทำอย่างไรให้โรงพยาบาลแห่งนี้ประชาชนเทศบาลเมืออุดรได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ จึงสรุปมาได้ที่ถนนอุดรดุษฎี ตำบลหมากแข้ง อำเภอเมืองอุดรธานี ที่เป็นพื้นที่ของเทศบาลและเป็นศูนย์กลางที่ประชาชนทุกคนสามารถเดินทางมาได้สะดวก รวมทั้งประชาชนในพื้นที่ข้างเคียงด้วย

นายอิทธิพล กล่าวว่า โรงพยาบาลเทศบาลนครอุดรธานี เปิดให้บริการประชาชนมาเป็นเวลา 3 ปีมาแล้ว มีแพทย์ในสังกัดเทศบาล 1 คน และแต่ในละวันจะมีแพทย์สลับหมุนเวียนกันไป มีพยาบาล 17 คน นักวิชาการสาธารณสุข 15 คน ทันตแพทย์ 3 คน ทันตภิบาล 2 คน เภสัชกร 6 คน หากรวมเจ้าหน้าที่ทั้งหมดจะมีประมาณ 100 คน เปิดให้บริการรักษาโรคทั่วไป ส่งเสริมและป้องกันโรค ฉีดวัคซีน เต้ามะเร็งเต้านม คัดกรองโรคต่างๆ และงานทันตกรรม และที่มีเพิ่มเติมขึ้นมาคือ งานห้องปฏิบัติการตรวจเลือด แพทย์แผนจีน กายภาพบำบัด และมีศูนย์ฟอกไต ที่มีสามารถให้บริการผู้ป่วยได้ถึงวันละ 72 คน การตรวจวินิจฉัยด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Scan) และเครื่องเอกซเรย์คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)

ผลจากการดำเนินงานพบว่า ประชาชนให้ความรู้สึกดี มีบริการที่รวดเร็ว สามารถช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลอุดรได้ คาดว่าในอนาคต รพ.เทศบาลเมืองอุดรจะสามารถเปิดให้บริการผู้ป่วยใน เป็นโรงพยาบาลขนาด 300 เตียงในอนาคต ซึ่งขณะนี้จะต้องมีการเตรียมความพร้อมด้านศักยภาพบุคลากรให้เรียบร้อยก่อน และจะมีการต่อยอดโครงการผู้สูงอายุ เป็นศูนย์ผู้สูงอายุ มีกิจกรรมเพิ่มความสุขเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้สูงอายุ และทางเทศบาลอุดรมีความคาดหวังว่าในอนาคตจะสามารถพัฒนาเป็นเมืองสุขภาพได้เช่นกัน

ท้ายสุด นายอิทธิพล กล่าวว่า รพ.เทศบาลนครอุดรธานี อาจจะไม่ใช่โรงพยาบาลต้นแบบ เราอาจจะตามคนอื่น แต่เราสะดวกสบายกว่า เราคิดว่าสิ่งที่เราทำเป็นแนวทางเลือกใหม่ให้กับพี่น้องประชาชน เท่ากับว่าประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดี และช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาลศูนย์ได้อีกทางหนึ่ง

เรื่องที่เกี่ยวข้อง