ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

UHOSNET ชี้แยกเงินเดือนบุคลากรจากงบเหมาจ่ายรายหัวไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาการเงินของโรงพยาบาล แถมส่งผลด้านลบทางการเงินแก่โรงพยาบาลสังกัด สธ.437 แห่ง และนอกสังกัด สธ.อีก 239 แห่ง แนะหามาตรการลดผลกระทบก่อนบังคับใช้กฎหมาย

รายงานจากกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ รศ.นพ.สุรศักดิ์ ลีลาอุดมลิปิ ผู้อำนวยการ รพ.รามาธิบดี ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHOSNET) ได้ทำหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการ สธ. เพื่อให้ความเห็นต่อการแก้ไข พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ในประเด็นการแยกเงินเดือนบุคลากรออกจากเงินเหมาจ่ายรายหัว

ทั้งนี้ เนื้อหาของหนังสือดังกล่าวระบุว่า จากการจำลองสถานการณ์แยกเงินเดือนออกจากเงินเหมาจ่ายรายหัวพบว่าจะส่งผลด้านลบทางการเงินต่อโรงพยาบาลสังกัด สธ. 437 แห่ง ซึ่งรองรับประชากร 24 ล้านคน และโรงพยาบาลรัฐนอกสังกัด สธ.จำนวน 239 แห่ง รองรับประชากร 2.5 ล้านคน ตลอดจนจะซ้ำเติมด้านการเงินแก่โรงพยาบาลสังกัดโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยซึ่งปัจจุบันมีปัญหาการเรียกเก็บค่าชดเชยจากกองทุนได้เพียง 40-60% และอาจมีผลกระทบต่อระบบการส่งต่อผู้ป่วย ดังนั้นจึงขอเสนอความคิดเห็นดังนี้

1.การแยกเงินเดือนออกจากเงินเหมาจ่ายรายหัวมีข้อดีทำให้แสดงงบประมาณด้านบริการสุขภาพชัดเจนขึ้น แต่ไม่ได้แก้ปัญหาด้านการเงินของโรงพยาบาลในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า การแก้ปัญหาที่แท้จริงควรเพิ่มงบประมาณแก่โรงพยาบาลโดยวิธีใดวิธีหนึ่ง

2.ในกรณีที่ไม่สามารถหางบประมาณมาเพิ่มเติมได้ ขอเสนอให้

2.1 มีงบประมาณเพื่อลดผลกระทบแก่โรงพยาบาลสังกัด สธ. 437 แห่ง และโรงพยาบาลนอกสังกัด สธ. 239 แห่ง ซึ่งรับผิดชอบผู้ป่วยรวมกว่า 26.5 ล้านคน ให้สามารถดำเนินการให้บริการผู้ป่วยได้

2.2 มีมาตรการกำหนดอัตราฐานในการชดเชยค่าบริการผู้ป่วยใน (Base Rate) กรณีการรักษาผู้ป่วยที่รับส่งต่อจากสถานพยาบาลอื่น ให้ชดเชยแบบรวมเงินเดือนของสถานพยาบาลต้นสังกัดมาด้วย

2.3 มีบทเฉพาะกาลใน พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กำหนดให้มีผลบังคับเกี่ยวกับการแยกเงินเดือนออกจากเงินเหมาจ่ายรายหัวต่อเมื่อมีมาตรการป้องกันความเสียหายแก่หน่วยบริการแล้วเสร็จ

3.หากมีการเพิ่มภาระงานในระบบหลักประกันสุขภาพ เช่น การให้บริการตาม พ.ร.บ.การแพทย์ปฐมภูมิและบริการสาธารณสุข หรือการดูแลโรคเรื้อรัง ขอให้พิจารณาชดเชยงบประมาณแก่หน่วยบริการ เพื่อให้โรงพยาบาลสามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับความคืบหน้าการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพแห่งชาตินั้น สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้ส่งหนังสือขอความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อนำร่าง พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. ...... เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.)