ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญหนุนมีกฎหมายคุ้มครองแพทย์-พยาบาลไม่ต้องรับผิดคดีอาญา ชี้เป็นกลุ่มวิชาชีพที่ทุ่มเทสติปัญญา ความเมตตาใส่ใจในการรักษาและดูแลคนไข้อย่างเต็มที่ หากทำผิดไม่ร้ายแรงต้องไม่ตกเป็นจำเลย

ศาสตราจารย์พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล

ศาสตราจารย์พิเศษ จรัญ ภักดีธนากุล ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงแนวทางป้องกันความขัดแย้งและการเยียวยาแก่ผู้รับบริการที่ต้องเสียหายจากการบริการทางการแพทย์ ในเวทีเสวนาของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่จัดขึ้น ณ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 ว่า ปัญหาใหญ่ในวงการแพทย์และพยาบาลของภาครัฐขณะนี้คือการตกเป็นจำเลยหรือเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา เพราะเป็นเรื่องที่บั่นทอนกำลังใจให้กับบุคลากรในวงการสาธารณสุขอย่างมาก

ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะระบบงานยุติธรรมของประเทศไทยยังไม่เอื้อหรืออำนวยให้กับคนที่เข้าไปเป็นจำเลยหรือผู้ต้องหา แม้ท้ายสุดศาลจะพิพากษาตัดสินว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ ไม่มีความผิด แต่การใช้เวลาพิพากษาที่นาน การถูกคุมขัง หรือการวิตกในคดีที่ตกเป็นจำเลยก็ทำให้เกิดการเศร้าหมอง และโดยเฉพาะกลุ่มแพทย์พยาบาลก็ยากมากที่จะกลับมาทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกหากตกเป็นจำเลยแล้ว

ศาสตราจารย์พิเศษ จรัญ กล่าวว่า อยากจะเสนอให้มีกฎหมายคุ้มครองกลุ่มแพทย์และพยาบาลที่หากกระทำความผิดไม่ร้ายแรง ไม่ได้ประมาทเลินเล่อจนเกิดความเสียหาย ให้มีสิทธิ์ละเว้นจากคดีอาญา เพราะถือได้ว่ากลุ่มวิชาชีพนี้ได้ทุ่มเทสติปัญญา ความเมตตาใส่ใจในการรักษาและดูแลคนไข้อย่างเต็มที่แล้ว

“เข้าใจดีว่าเป็นเรื่องยากเพราะที่ผ่านมาผมเคยเสนอไปแล้วแต่ยังติดขัดที่ฝ่ายกฎหมาย เพราะเกรงว่าจะไม่ยุติธรรมต่ออาชีพอื่นๆ แต่ทั้งนี้ หากมองในอีกมุมก็เป็นเรื่องที่สำคัญเพราะจะช่วยให้แพทย์และพยาบาลทำหน้าที่ได้อย่างเต็มที่ตามวิชาชีพและจรรยาบรรณ” ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กล่าว

ศาสตราจารย์พิเศษ จรัญ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีการละเว้นความผิดในทางแพ่งให้กับแพทย์และพยาบาลของรัฐไว้แล้ว แต่ยังไม่มีเรื่องของคดีอาญา ในส่วนคดีแพ่งนั้นเหตุผลที่รองรับเพื่อให้ละเว้นคือต้องการให้แพทย์และพยาบาลกล้าตัดสินใจทำงาน และหากมีความผิดหน่วยงานของรัฐจะรับผิดชอบเอง แต่ก็ยังเกิดปัญหาเพราะมีการไล่เบี้ยย้อนหลังกับบุคลากรทางการแพทย์นั้นๆ อยู่ดี ทั้งนี้ หากเปลี่ยนแปลงได้ก็จะทำให้แพทย์และพยาบาลคลายกังวล และสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนไข้ให้ดีเหมือนเดิมได้

“ระบบเยียวยาคนไข้ก็สำคัญเช่นกัน เพราะจะช่วยป้องกันความขัดแย้งระหว่างแพทย์และคนไข้ได้ดีในระดับหนึ่งด้วย ทุกวันนี้เรามีมาตรา 41 แห่งรัฐธรรมนูญชั่วคราว ที่ระบุจะมีค่าชดเชยเบื้องต้นให้ก่อนกรณีที่เกิดความเสียหาย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีแต่เงินที่ชดเชยนั้นไม่พอ และไม่จบแค่ตรงนั้น เพราะคนไข้ก็ยังไปฟ้องร้องได้ตามระบบเดิม ขณะที่หน่วยงานรัฐเมื่อชดเชยแล้วก็มาไล่เบี้ยกับผู้ปฏิบัติคือแพทย์และพยาบาล ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง” ศาสตราจารย์พิเศษ จรัญ กล่าว