ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมอสุพรรณเสนอแนวทางบูรณาการข้อมูลระหว่างหน่วยงานทางการแพทย์ หวังเชื่อมโยงและเห็นปัญหาที่แท้จริง ช่วยแก้ไขและพัฒนาประสิทธิภาพทางการให้บริการต่อประชาชน

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา

นพ.สุพรรณ ศรีธรรมมา ที่ปรึกษาคณะกรรมการควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข กล่าวตอนหนึ่งในหัวข้อเรื่องคุ้มครองสิทธิกับการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานของบริการทางการแพทย์ ในเวทีเสวนาของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่จัดขึ้น ณ โรงแรมเซ็นทรา ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2560 ว่า สิ่งที่ต้องดำเนินการคือการเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารของแต่ละหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับสาธารณสุข ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงสาธารณสุขหรือ สปสช.เอง เพราะจะเป็นส่วนสำคัญในการปรับปรุงและแก้ไขเพื่อให้ระบบควบคุมคุณภาพของการบริการสาธารณสุขสำหรับประชาชนดียิ่งขึ้น

ทั้งนี้ จากกรอบนโยบายของกระทรวงสาธารณสุข ที่กำหนดทิศทางในเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข หรือ Patient and Personnel Safety (2P Safety) ที่ต้องครอบคลุมปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้ร้บบริการหรือคนไข้กับผู้ให้บริการคือแพทย์ และต้องดูแลทั้ง 2 ฝ่ายอย่างเป็นธรรม ไม่ว่าจะเป็นทั้งผู้ป่วยหรือบุคลากรที่ให้บริการ

นพ.สุพรรณ กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะกรรมการฯ ใช้วิธีเดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆ ตามเขตบริการสุขภาพ เพื่อรับฟังถึงปัญหาและข้อเสนอแนะในการปรับเปลี่ยนเพื่อนำไปสู่การแก้ไข ทั้งนี้ กรอบการแก้ไขปัญหาในเรื่องของการให้บริการทางการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพนั้น ยังคงต้องเชื่อมั่นว่าพื้นที่สามารถแก้ไขปัญหาได้ดีกว่าส่วนกลาง เพราะความคุ้นชินและรับทราบถึงปัญหาที่แท้จริง ดังนั้น ศูนย์กลางของการพัฒนาและรักษามาตรฐานทางการให้บริการทางการแพทย์จะต้องเป็นหลักในการดำเนินการ

"เรื่องของการกำกับมาตรฐานคุณภาพการให้บริการทางการแพทย์ ที่ผ่านมาเราเห็นถึงปัญหาการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่ยังไม่บูรณาการกันมากพอ ทั้งๆ ที่ข้อมูลที่เชื่อมโยงกันด้านการแพทย์จะช่วยให้การพัฒนาประสิทธิภาพได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น ปัญหาตรงนี้ต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งหลักง่ายๆ คือทุกคนจะต้องร่วมมือร่วมใจกัน หากเราพูดกันคนละเรื่องและต่างคนต่างหน่วยงานต่างก็ทำงานของตัวเอง งานส่วนรวมก็ยากจะพัฒนาได้"

นพ.สุพรรณ กล่าวทิ้งท้ายว่า งบประมาณก็จะเป็นอุปสรรคในการบริหารที่เกี่ยวเนื่องกับการบริการประชาชน ขณะเดียวกัน ขวัญและกำลังใจของคนทำงานอย่างแพทย์ พยาบาลก็เป็นเรื่องที่ต้องส่งเสริมด้วยเช่นกัน เพราะภารกิจที่หนัก และงานที่เพิ่มมากขึ้น อาจไม่สอดคล้องกับรายได้ของบุคลากร ซึ่งระดับนโยบายก็ต้องให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน