ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รัฐบาลยกระดับบุคลากรสายสุขภาพในศตวรรษที่ 21 รับมือสังคมสูงวัย-โรคทางพฤติกรรม-เชื้อดื้อยา เล็งพัฒนาระบบบริการสุขภาพ เน้นการทำงานเป็นทีมสหสาขาวิชาชีพ เปิดผลศึกษาสุขภาพคนทศวรรษหน้า เน้นสุขภาพคนให้คงอยู่ในพื้นที่ ด้วยมาตรการตรึงคนผ่านการพัฒนาระบบการจ้างงาน-ค่าตอบแทน-ความก้าวหน้า

พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย

เมื่อวันที่ 6 พ.ย.2560 ที่โรงแรมพูลแมน คิงเพาเวอร์ กรุงเทพ มูลนิธิการพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพแห่งชาติ (ศสช.) ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการประชุมวิชาการประจำปีระดับชาติการพัฒนาการศึกษาสำหรับบุคลากรด้านสุขภาพ ครั้งที่ 4 ในหัวข้อ “เทคโนโลยีสารสนเทศ เสริมพลัง สร้างวิชาชีพสุขภาพ” โดยมี พล.ร.อ.ณรงค์ พิพัฒนาศัย รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุม พร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ ในหัวข้อ Transformative Health Professional Education in Thailand 4.0 ว่า ในศตวรรษที่ 21 มีการเปลี่ยนแปลงหลายด้านที่มีผลต่อระบบสุขภาพทั่วโลก ซึ่งในประเทศไทยจะรับมือใน 3 เรื่องหลักคือ

1. การเข้าสู่สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ในอีกไม่เกิน 5 ปี โดยมีสัดส่วนผู้สูงอายุเกิน 20%

2. การเจ็บป่วยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตทั้งการกิน พฤติกรรมเนือยนิ่ง

3. เชื้อดื้อยา ที่คนไทยติดเชื้อดื้อยาปีละ 100,000 คน เสียชีวิตปีละ 30,000 คน คิดเป็นมูลค่าสูญเสียกว่า 40,000 ล้านบาทต่อปี

ผลผลิตที่ออกมาจากสถาบันทางการแพทย์จึงต้องมีขีดความสามารถ มีจำนวนที่เพียงพอ กระจายทุกภูมิภาค โดยมีการวางแผนการพัฒนาบุคลากรทางสถาบันการศึกษาให้มีคุณภาพและปริมาณที่เพียงพอ รวมทั้งเปลี่ยนจากการเรียนรู้แบบแยกส่วน เฉพาะทางเป็นการทำงานแบบสหวิชาชีพ โดยกระทรวงสาธารณสุขผลักดันให้เกิดทีมหมอครอบครัว ทั้งแพทย์ พยาบาล และสหวิชาชีพ เพื่อดูแลสุขภาพประชาชนในชุมชน เพื่อลดระยะเวลาการรอคอย โดยตั้งเป้าให้เกิดมีจำนวน 6,500 ทีม ซึ่งต้องมีการบูรณาการตั้งแต่สถาบันการศึกษา หลักสูตรการเรียนรู้ การจัดองค์ความรู้ให้สอดคล้องกันตั้งแต่ผู้ผลิตและผู้ใช้ รวมทั้งการใช้เทคโนโลยีเข้าไปจัดการเรียนการสอน

ศ.พญ.วณิชา ชื่นกองแก้ว

ศ.พญ.วณิชา ชื่นกองแก้ว เลขาธิการมูลนิธิพัฒนาการศึกษาบุคลากรสุขภาพแห่งชาติ (ศสช.) กล่าวว่า แนวทางการพัฒนาการศึกษาและเตรียมพร้อมบุคลากรด้านสุขภาพในศตวรรษที่ 21 จากการศึกษาเพื่อสังเคราะห์ข้อเสนอเชิงนโยบายในการวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพในทศวรรษหน้า (พ.ศ.2560-2569) โดยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) พบว่า การวางแผนกำลังคนด้านสุขภาพ ไม่ใช่แค่การผลิตเพื่อเพิ่มปริมาณกำลังคนเข้าสู่ระบบเท่านั้น หากแต่ต้องวางแผนทั้งระบบ ตั้งแต่การผลิต การกระจาย และการคงอยู่ของกำลังคน เพราะการวางแผนที่ไม่เหมาะสมอาจนำไปสู่ความขาดแคลนหรือการกระจายที่ไม่เหมาะสม จนทำให้เกิดปัญหาบุคลากรเกินความต้องการของประเทศ หรือบุคลากรกระจุกตัวอยู่เฉพาะในเขตเมืองมากกว่าอยู่ในพื้นที่ห่างไกล

ซึ่งข้อแนะนำเชิงนโยบายที่สำคัญ คือ ควรดำเนินมาตรการในการรักษากำลังคนด้านสุขภาพให้คงอยู่ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องและเหมาะสม โดยการบูรณาการมาตรการที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นระบบการจ้างงาน ระบบค่าตอบแทน และระบบความก้าวหน้า แต่ละสภาวิชาชีพควรมีการทบทวนการกำหนดสมรรถนะของบัณฑิต รวมทั้งทบทวนข้อจำกัดและเงื่อนไขในการประกอบวิชาชีพให้เอื้อต่อการทำงานร่วมกันในลักษณะของสหสาขาวิชาชีพ โดยใช้ผู้ป่วยและประชาชนเป็นศูนย์กลางของการให้บริการ เพื่อให้เกิดกลไกการควบคุมและกำกับมาตรฐานการทำงานของกำลังคนด้านสุขภาพให้สอดคล้องกับบริบทความต้องการด้านสุขภาพของประชาชน และเอื้อให้เกิดการทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพ