ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิชาการเผย ผู้ค้าใช้กลยุทธ์การตลาด “อันตรายน้อยกว่า” บิดเบือนความจริงของบุหรี่อิเล็กโทรนิกส์หรือบุหรี่ไฟฟ้าว่าไม่มีอันตรายต่อสุขภาพ

นายหริสร์ ทวีพัฒนา นักวิชาการด้านการสื่อสารสุขภาพ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวถึงงานวิจัย เรื่องข้อความที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในฉลากของบุหรี่ซิกาแรตและยาเส้น ซึ่งได้ลงตีพิมพ์ในวารสารสุขศึกษา ซึ่งนายหริสร์เป็นนักวิจัยร่วมด้วยว่า บริษัทบุหรี่เคยใช้กลยุทธ์การใช้ข้อความบนซองบุหรี่ที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าปลอดภัยหรือมีสารพิษน้อย เช่น light (บางเบา), mild (อ่อนหรือเล็กน้อย) , mellowness (ความเบิกบาน) และ smooth (ราบเรียบไม่มีอุปสรรค) เป็นต้น ซึ่งประเทศไทยได้ออกกฏหมายห้ามไม่ให้บริษัทบุหรี่ใช้ข้อความบิดเบือนความจริงเหล่านี้แล้ว

แต่ในปัจจุบันบริษัทบุหรี่ได้ใช้กลยุทธ์โฆษณาและการตลาด กับผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ คือ บุหรี่อิเล็กทรอนิกหรือบุหรี่ไฟฟ้าส์ ว่าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ทั่วไป ทั้งๆที่บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพแน่นอน โดยองค์การอนามัยโลกจัดบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์เป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบส่งผ่านนิโคตินอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งนิโคตินในบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ หากสูดเข้าร่างกายในปริมาณมากอย่างรวดเร็วจะมีอันตรายทำให้อัตราเต้นหัวใจสูงส่งผลต่อความดันโลหิต และเมื่อสูบจะมีไอน้ำที่ออกมาจากบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ ไอน้ำนี้จะมีสารโพรไพลีนไกลคอล ที่เมื่อสูบเข้าไปจะก่อให้เกิดมะเร็งได้ ดังนั้นประชาชนอย่าไปหลงเชื่อ หรือริเริ่มใช้บุหรี่อิเล็กโทรนิกส์

“ทางเลือกสำหรับคนสูบบุหรี่ที่ต้องการเลิกบุหรี่ ได้แก่ การทำกิจกรรมอื่นที่ดีต่อสุขภาพกายและจิตใจทดแทน เช่น จิตอาสา ออกกำลังกาย และสิ่งที่ช่วยลดอาการอยากนิโคตินก็มีสมุนไพรหญ้าดอกขาวช่วยเลิกบุหรี่ในรูปแบบชา เม็ดอม และสเปรย์ ออกมาจำหน่ายเพื่อช่วยเลิกบุหรี่แล้ว ซึ่งถ้าต้องการปรึกษาเพื่อช่วยเลิกบุหรี่ สามารถโทรได้ที่สายด่วนเลิกบุหรี่ 1600” นายหริสร์ กล่าว

 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง