ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ชมรมผู้อำนวยการ รพช.ยื่นหนังสือกระทรวงวิทย์ฯจี้ออกกฎกระทรวงและแก้กฎหมายยกเว้นเครื่องกำเนิดรังสีวินิจฉัยออกจากการควบคุมของ พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ เผยแนวโน้มดี กระทรวงวิทย์เข้าใจปัญหาที่จะตามมา หลังจากนี้จะคอยดูว่ากฎกระทรวงที่ออกมาจะเป็นอย่างไร

ขอบคุณภาพจาก นสพ.มติชนฉบับวันที่ 14 พฤศจิกายน 2560

นพ.สรลักษณ์ มิ่งไทยสงค์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลบางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา ในฐานะประธานชมรมผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตนและตัวแทนชมรมฯ ประมาณ 10 คนได้เข้ายื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเมื่อวันที่ 13 พ.ย. 2560 ที่ผ่านมา เพื่อแสดงจุดยืนขอให้นำเครื่องกำเนิดรังสีวินิจฉัยออกจากการควบคุมของ พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติ 2559 โดยมี นพ.ปฐม สวรรค์ปัญญาเลิศ รองปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นผู้รับมอบ

นพ.สรลักษณ์ กล่าวว่า จากการพูดคุยกับรองปลัดกระทรวงวิทย์ ฯและผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายของสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) ก็มีแนวโน้มที่ดี ตนได้ชี้แจงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นหากใช้มาตรการควบคุมตามที่กฎหมายกำหนดว่าจะส่งผลกระทบต่อแพทย์ โรงพยาบาลและประชาชนอย่างไร ซึ่งทางกระทรวงวิทย์และ ปส. ก็เริ่มเข้าใจแล้วว่ามีผลกระทบแน่นอน และรับปากว่าจะรับข้อเสนอแนะไปเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทย์ฯ พิจารณา

นพ.สรลักษณ์ กล่าวอีกว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เดือน ก.พ. 2560 แต่มีข้อกำหนดให้ออกกฎกระทรวงภายใน 270 วัน ซึ่งก็ครบกำหนดเมื่อวันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา แต่เนื่องจากมีเสียงคัดค้านและมองเห็นปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้น ทำให้การออกกฎกระทรวงล่าช้าออกไป ซึ่งทางชมรมฯ เห็นว่าควรออกกฎกระทรวงยกเว้นเครื่องกำเนิดรังสีวินิจฉัย และขอให้แก้ไขกฎหมายเอาเครื่องกำเนิดรังสีวินิจฉัยออกจากกฎหมายนี้

“เมื่อมีการคัดค้านเกิดขึ้นมันก็ต้องฟังกัน เพราะคนที่ผู้ปฏิบัติคือแพทย์ เมื่อไม่สามารถทำได้ในทางปฏิบัติแล้วไปประกาศใช้ ถ้าไม่ทำตามก็เข้าข่ายมาตรา 157 ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ แต่ถ้าทำชาวบ้านก็เดือดร้อนอีก ผมยืนยันว่าขอให้เอาเครื่องกำเนิดรังสีวินิจฉัยออกไปจากกฎหมายนี้ซะ ถ้าจะแก้ไขมันก็สามารถแก้ไขได้ในทางนิติบัญญัติ ซึ่งท่านประธานกรรมาธิการการสาธารณสุขก็ดูเรื่องนี้อยู่ และท่านรองปลัดกระทรวงวิทย์ฯ ก็บอกว่าทางผู้ใหญ่ของทั้ง 2 ฝั่ง ทั้งกระทรวงสาธารณสุขและกระทรวงวิทย์ฯ ก็เริ่มมีการพูดคุยว่ามันจะเป็นปัญหาจริงๆ หลังจากนี้เราก็คงต้องติดตามดู แต่คิดว่าระดับผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายและระดับรองปลัดฯ ที่รัฐมนตรีมอบหมายให้มารับฟังความคิดเห็นก็น่าจะต้องปฏิบัติเพราะเป็นผู้ใหญ่แล้ว ก็คงต้องตามดูว่ากฎกระทรวงที่ออกมาจะเป็นอย่างไรต่อไป” นพ.สรลักษณ์ กล่าว

อนึ่ง ก่อนหน้านี้ นพ.สรลักษณ์ได้ทำหนังสือถึงทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายฉบับนี้เพื่อชี้ให้เห็นถึงผลกระทบจาก พ.ร.บ.พลังงานนิวเคลียร์เพื่อสันติว่าจะกระทบโรงพยาบาลชุมชนทั่วประเทศถึงขั้นอาจต้องปิดห้องเอกซเรย์เพราะไม่สามารถหาเจ้าหน้าที่ความปลอดภัยทางรังสี (RSO) มาประจำเครื่องเอกซเรย์ได้ตลอด 24 ชั่วโมง และเสนอให้กระทรวงสาธารณสุขดูแลเครื่องกำเนิดรังสีวินิจฉัยตามที่เคยปฏิบัติมาแต่เดิม