ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.ทำแผนแก้ไขปัญหาสุขภาพการเงินคน สธ.หลังผลสำรวจความสุขคนทำงาน พบมิติการเงินต่ำสุด เปิดให้บุคลากรบันทึกข้อมูลรายบุคคลจนถึง 25 พ.ย.นี้ คาดเริ่มจากรีไฟแนนซ์หนี้บ้านด้วยดอกเบี้ยต่ำกว่าท้องตลาด โดยใช้ข้อได้เปรียบลูกค้าชั้นดีที่ธนาคารต้องการทำการตลาดอยู่แล้วเพื่อดึงธนาคารเข้าร่วมโครงการ

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2560 พญ.พรรณพิมล วิปุลากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ได้ทำหนังสือถึงหน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขทุกแห่ง เรื่องขอความอนุเคราะห์ให้บุคลากรกรอกแบบประเมินสุขภาพทางการเงินบุคลากรกระทรวงสาธารณสุข โดยระบุว่า

ตามที่กระทรวงสาธารณสุข โดยกองยุทธศาสตร์และแผนงานได้ดำเนินการประเมินดัชนีความสุขคนทำงาน (Happinometer) ของบุคลากรสาธารณสุขรายบุคคลผ่านระบบบ Online-based เพื่อประเมินความสุขของคนทำงานมาใช้ในการพัฒนาองค์กร การบริหารงาน และการดำเนินการต่างๆ โดยพบว่าค่าคะแนนความสุขมิติสุขภาพเงินดี (Happy Money) ของบุคลากรอยู่ที่ร้อยละ 50.65 ซึ่งค่อนข้างต่ำกว่าค่าคะแนนความสุขในมิติอื่นๆ ทั้งนี้คาดว่าหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อมิติดังกล่าวอาจจะเป็นปัญหาภาระหนี้สินของบุคลากรที่ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงาน

กระทรวงสาธารณสุขจึงได้กำหนดแผนการแก้ไขปัญหาหนี้สินของบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขให้เป็นการสนับสนุนการเพิ่มระดับความสุขในมิติ Happy Money เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปฏิบัติงานให้ได้บรรลุเป้าหมายร่วมขององค์กรคือ “ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข ระบบสุขภาพยั่งยืน”

ในการนี้ กระทรวงสาธารณสุข จึงขอความอนุเคราะห์ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ลูกจ้างชั่วคราว พนักงานราชการ พนักงานของรัฐ พนักงานกระทรวงสาธารณสุขทุกท่าน ในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข กรอกแบบประเมินสุขภาพทางการเงินรายบุคคล ผ่านทางระบบอินเตอร์เน็ตที่ http://www.happymoney.moph.go.th โดยให้ดำเนินการบันทึกข้อมูลรายบุคคลให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 25 พฤศจิกายน 2560 เพื่อเป็นข้อมูลเบื้องต้นประกอบการประมวลผลจัดทำมาตรการแก้ไขปัญหาทางด้านสุขภาพการเงินให้ได้ประโยชน์สูงสุดแก่บุคลากรกระทรวงสาธารณสุขต่อไป ทั้งนี้ ข้อมูลส่วนบุคคลจะถูกปกปิดเป็นความลับและไม่ถูกนำไปเปิดเผยให้หน่วยงานภายนอกรับทราบ

ทั้งนี้มีรายงานว่ามาตรการแก้ไขปัญหาทางด้านสุขภาพการเงินที่จะดำเนินการในระยะแรกนั้น จะเป็นการรีไฟแนนซ์บ้านในอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าท้องตลาด โดยคาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ไม่เกินร้อยละ 3 ต่อปี โดยการดำเนินการนั้น จะรวมสินเชื่อบ้านของบุคลากรสาธารณสุขที่เข้าร่วมโครงการและจะให้ธนาคารเข้าแข่งขันเสนออัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุด ซึ่งคาดว่าจะมีธนาคารและสถาบันการเงินหลายแห่งเข้าร่วม เนื่องจากบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขเป็นลูกค้าชั้นดีที่สถาบันการเงินต่างต้องการทำการตลาดกับกลุ่มเป้าหมายนี้อยู่แล้ว ซึ่งจะส่งผลดีต่อบุคลากรสาธารณสุขที่จะได้รับอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าท้องตลาด และมีเงินเหลือใช้หมุนเวียนในแต่ละเดือนเพิ่มมากขึ้น