ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“หมออนามัย” ท้วง ร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม เติมนิยามคำว่า “บำบัดโรค” ทับซ้อนหน้าที่และบทบาทหมออนามัย หวั่นทำ “วิชาชีพสาธารณสุข” บำบัดโรคเบื้องต้นไม่ได้ กระทบประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพ เตรียมทำหนังสือทักท้วงแพทยสภา ชี้ต้องเปิดรับฟังความเห็นรอบด้าน พร้อมประสานวิชาชีพอื่นในระบบสุขภาพเพื่อขับเคลื่อนร่วมกัน

นายริซกี สาร๊ะ

นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) หรือ ชวส. และผู้ประสานงานชมรม ผอ.รพ.สต (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ขณะนี้ชมรมนักวิชาการสาธารณสุขฯ และเครือข่ายหมออนามัยซึ่งเป็นตัวแทนหมออนามัยทั่วประเทศต่างแสดงความเป็นห่วงต่อร่าง พรบ.วิชาชีพเวชกรรม (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ที่อยู่ระหว่างการดำเนินการโดยแพทยสภา เนื่องจากได้ปรากฎเนื้อหาที่ก้าวล่วงบทบาทวิชาชีพอื่นในระบบ โดยเฉพาะการนิยามในมาตรา 4 ที่ได้ปรับเพิ่มนิยาม “การบริบาลเวชกรรม” จนทำให้บทบาทของแพทย์ครอบคลุมการทำงานในทุกวิชาชีพ ส่งผลกระทบต่อวิชาชีพอื่น เกิดความทับซ้อน ทั้งที่แต่ละวิชาชีพต่างมีความจำเพาะในการดูแลประชาชนที่แตกต่างกันไป และจะก่อให้เกิดปัญหาในอนาคตได้ เพราะนอกจากทำให้ความเชี่ยวชาญแต่ละสาขาวิชาชีพหายไปแล้ว ยังทำให้แพทย์สามารถทำได้ทุกอย่าง ตั้งแต่การจ่ายยา การส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ทั้งที่วิชาชีพแพทย์คือความเชี่ยวชาญด้านหัตถการ และการใช้ความรู้ศาสตร์การแพทย์

ในส่วนผลกระทบต่อวิชาชีพการสาธารณสุขนั้น ในนิยามมาตรา 4 ของร่างกฎหมายนี้ได้เพิ่มเติมคำว่า“การบริบาลเวชกรรม” ที่ครอบคลุม “การบำบัดโรค” “การป้องกันโรค” “การส่งเสริมสุขภาพ” ที่ทับซ้อนบทบาทหน้าที่ของนักสาธารณสุขตาม พ.ร.บ.วิชาชีพสาธารณสุขชุมชน 2556 และยังมีคำอื่นๆ ที่มีนิยามทับซ้อนกับอีกหลายๆ วิชาชีพ

โดยเฉพาะคำว่า “การบำบัดโรค” ถือเป็นคำใหม่ที่วิชาชีพสาธารณสุขได้บัญญัติขึ้นใน พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน พ.ศ. 2556 ที่ได้กำหนดคำว่า “การตรวจประเมินและบำบัดโรคเบื้องต้น” เพื่อไม่ให้ทับซ้อนกับวิชาชีพอื่นๆ แต่เมื่อแพทยสภาได้ใส่คำนี้ในนิยามของกฎหมายก็จะส่งผลกระทบและอาจทำให้วิชาชีพสาธารณสุขที่อยู่ระหว่างการเดินหน้าต้องสะดุดได้ ดังนั้นนิยามของแต่ละวิชาชีพควรจำกัดจำเพาะความเชี่ยวชาญในสาขาวิชาชีพตนเองเท่านั้น

“การบริบาลเวชกรรม” ไม่ควรระบุคำที่ก้าวล่วงวิชาชีพอื่นๆ จากเดิมที่กฎหมายวิชาชีพเวชกรรมเดิมก็ไม่เคยมีคำนี้ เพิ่งจะมาปรากฎในการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ ดังนั้นหากจะมีการใส่คำหรือข้อความที่เกี่ยวพันกับวิชาชีพอื่น ควรที่จะมีการเชิญตัวแทนวิชาชีพที่ได้รับผลกระทบเข้าร่วม เพื่อให้การพิจารณาออกกฎหมายรอบด้าน เช่นเดียวกับการออกกฎหมายวิชาชีพการสาธารณสุขก่อนหน้านี้ ซึ่งมีตัวแทนทุกวิชาชีพได้ให้ความเห็นในขั้นตอนการยกร่างกฎหมาย และในตอนนั้นหลายวิชาชีพก็แสดงความเป็นห่วงเนื่องจากเกรงการทับซ้อนทางวิชาชีพ แต่เมื่อ พ.ร.บ.วิชาชีพสาธารณสุขชุมชน 2556 เกิดขึ้น โดยมีความชัดเจนในบทบาทหน้าที่ของนักสาธารณสุขแล้ว วิชาชีพอื่นๆ ก็ไม่ควรที่จะนิยามเพิ่มเติมใดๆ เพื่อให้เกิดการทับซ้อนต่อวิชาชีพของเราด้วยเช่นกัน

นายริซกี กล่าวว่า ตาม พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนฯ ใช้คำว่า“การตรวจประเมินและบำบัดโรคเบื้องต้น” ซึ่งกำลังกำหนดรายละเอียดว่ามีสิ่งใดที่นักสาธารณสุขทำได้บ้าง ซึ่งอาจเป็นการตรวจประเมินและทำหัตถการเพื่อบำบัดโรคเบื้องต้นเท่านั้น เพื่อส่งต่อไปให้วิชาชีพที่เกี่ยวข้องดูแลรักษาต่อไป แต่บทบาทของนักสาธารณสุข ตามมารตรา 3 พ.ร.บ.วิชาชีพสาธารณสุขชุมชน 2556 คือ วิชาชีพที่กระทำต่อมนุษย์ และสิ่งแวดล้อมในชุมชน เกี่ยวกับ“การส่งเสริมสุขภาพ” “การป้องกันโรค” “การควบคุมโรค” “การตรวจประเมินและบำบัดโรคเบื้องต้น” “การดูแลให้ความช่วยเหลือผู้ป่วย” “การฟื้นฟูสภาพ” “การอาชีวอนามัยและอนามัยสิ่งแวดล้อม” ........... ซึ่งบทบาทที่เป็นจุดเด่นของนักสาธารณสุขอยู่ที่ การส่งเสริมสุขภาพการควบคุมโรค การป้องกันโรค และการอาชีวอนามัยและอนามัยสิ่งแวดล้อมเพื่อลดความเจ็บป่วยในชุมชนมากกว่า

ในขณะที่วิชาชีพเวชกรรมมีการดูแลรักษาและทำหัตถการของแพทย์ในขั้นที่สูงกว่าอยู่แล้ว ดังนั้นหากนิยามบทบาทหน้าที่ของแพทย์ครอบคลุมถึงการบำบัดโรคเบื้องต้น อาจจะส่งผลต่อไปในอนาคตว่าจะทำให้หมออนามัยไม่สามารถบำบัดโรคเพื่อดูแลรักษาสุขภาพชาวบ้านในเบื้องต้นได้เลย ซึ่งจะกระทบต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพของชาวบ้าน เป็นสิ่งที่หมออนามัยทั่วประเทศต่างก็กังวล

นอกจากนี้ยังมีมาตราอื่นที่มีการปรับแก้อย่างน่าเป็นห่วง เพราะมีความกำกวม ไม่ชัดเจน เช่นในมาตรา 11 ที่ระบุว่าผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมต้องรักษาจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพภายใต้ “ความสามารถ ข้อจำกัด ภาวะ วิสัย และพฤติกรรมที่มีอยู่ในสถานการณ์นั้นๆ............” ซึ่งคำว่า ภาวะ วิสัยและพฤติกรรมที่มีอยู่ในสถานการณ์นั้นๆ เป็นข้อความที่ทำให้เกิดการตีความที่กว้างมาก เพราะร่างนี้ระบุในมาตรา 11 วรรค2 และวรรค 3 ว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมได้รับการคุ้มครองและไม่อยู่ภายใต้บังคับกฏหมายว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค และพ้นผิดอาญา เว้นกระทำโดยเจตนาและประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง” ซึ่งก็ต้องมีการตีความอีกมากมาย ว่าอย่างไรคือกระทำโดยเจตนาและประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ซึ่งอาจทำให้ประชาชนเสียสิทธิและถูกละเมิดได้ในกรณีที่แพทย์มีความผิดพลาดในการรักษาได้

นายริซกี กล่าวว่า หมออนามัยไม่ได้คัดค้านการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภา ซึ่งในทุกวิชาชีพย่อมต้องมีการปรับปรุงกฎหมายเพื่อให้เหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงและทันต่อสถานการณ์ปัจจุบัน แต่เมื่อมีประเด็นใดที่กระทบต่อวิชาชีพอื่นๆ ต้องมีการับฟังความเห็นก่อน และในทุก พ.ร.บ.ที่มีการเปลี่ยนแปลง ทั้งร่าง พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม หรือแม้กระทั่งร่าง พ.ร.บ.การแพทย์ปฐมภูมิและบริการสาธารณสุข จะต้องไม่มีการตั้งธงไว้ล่วงหน้า เพราะการทำประชาพิจารณ์ใด แม้ว่าจะมีการเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม แต่มีการเชิญอย่างครบถ้วนและมีการพิจารณาอย่างรอบด้านหรือไม่ นอกจากนี้หากมีผลกระทบต่อวิชาชีพอื่นๆ ได้มีการขอความเห็นจากวิชาชีพอื่นหรือไม่ เพราะในส่วนของหมออนามัยเองก็ทราบข้อมูลจากสื่อโซเชียลและมีความวิตกเกรงการทับซ้อนทางวิชาชีพและการปฏิบัติงาน จึงเฝ้าติดตามด้วยตนเอง และได้มีการพูดคุยในประเด็นนี้อย่างกว้างขวาง

ทั้งนี้ชมรมฯ และเครือข่ายคงต้องทักท้วงและทำหนังสือส่งความเห็นไปยังผู้เกี่ยวข้องในเบื้องต้น เพราะหากมีการเดินหน้าแก้ไข พ.ร.บ.นี้แล้ว การทักท้วงในภายหลังคงทำได้ยาก ซึ่งหากร่างกฎหมายนี้ยังคงเดินหน้า หมออนามัยคงต้องหารือว่าจะดำเนินการอย่างไร และอาจจะมีการประสานไปยังวิชาชีพอื่นๆ ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อให้มีการปรับแก้ไขร่างกฎหมายให้เหมาะสมต่อไป

“ขอฝากไปยังนายกแพทยสภาและกรรมการแพทยสภาทุกท่านว่า ทุกวิชาชีพต่างมีศักดิ์และศรี แต่ละวิชาชีพในระบบสาธารณสุขต่างมีบทบาทที่ต้องเอื้อกัน เปรียบเสมือนร่างกายเดียวกัน ที่มุ่งทำงานเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพที่ดี ดังนั้นการออกกฎหมายใด หากเอื้อสิทธิประโยชน์แก่วิชาชีพใดวิชาชีพหนึ่งคงไม่ได้ และบทบาทหน้าที่ก็ต้องไม่ไปทับซ้อนกับบทบาทวิชาชีพอื่น ซึ่งในการแก้ไขกฎหมายต่างๆ เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประชาชนนั้น ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ควรฟังเสียงรอบข้างด้วยเพื่อไม่ให้เกิดกระแสวิพากษ์ในด้านลบ และเกิดผลกระทบในวงกว้างต่อวิชาชีพอื่น อันจะส่งผลต่อการบริการประชาชนที่มีคุณภาพมาตรฐานต่อไป” เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข กล่าว