ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

คนไทยตายจากอุบัติเหตุทางถนนปีละ 1.5 หมื่นราย ทุกวันมี 42 ครอบครัวมีคนตาย กระทบเศรษฐกิจปีละ 2 แสนล้านบาท รัฐบาลประกาศ มุ่งมั่นแก้ปัญหาอุบัติเหตุ ยึด 5 เสาหลัก โพลชี้ คนไทย ร้อยละ 91.4 เปลี่ยนความเชื่อ อุบัติเหตุไม่ใช่เวรกรรม ชี้รัฐต้องลงทุนแก้ปัญหาจุดเสี่ยงเจ็บตายซ้ำซาก ศปถ.-คมนาคม-สสส.-ศวปถ. ผนึกภาคีเครือข่ายจัดสัมมนาวิชาการระดับชาติเรื่องความปลอดภัยทางถนน 6-7 ธ.ค. นี้ ชูประเด็นการลงทุนเพื่อความปลอดภัยที่ยั่งยืน

เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2560 ที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย นายชยพล ธิติศักดิ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กล่าวว่า อุบัติเหตุทางถนนเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตและทรัพย์สิน รวมทั้งเกิดความพิการ ซึ่งทุกฝ่ายจำเป็นต้องตระหนักถึงปัญหาดังกล่าวเพื่อช่วยกันป้องกันและหยุดความสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยสถานการณ์ความสูญเสียจากอุบัติเหตุในประเทศไทย จากข้อมูลใบมรณบัตร ปี 2559 พบว่า มีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจำนวน 15,448 ราย มีผู้พิการรายใหม่ ที่เป็นเหยื่อจากอุบัติเหตุทางถนนอีกกว่า 5,000 ราย หรือทุกวันจะมี 42 ครอบครัวที่ต้องสูญเสียสมาชิก และมีอีก 15 ครอบครัวต้องรับภาระเลี้ยงดูผู้พิการจากอุบัติเหตุทางถนน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจภายในประเทศรวมกว่า 2 แสนล้านบาทต่อปี

นายชยพล กล่าวต่อว่า รัฐบาลเห็นความสำคัญและตระหนักถึงปัญหาความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนเป็นอย่างดี โดยมุ่งมั่นที่จะป้องกันและแก้ไขปัญหา จึงได้จัดตั้งคณะกรรมการนโยบายป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนแห่งชาติ (นปถ.) ตั้งแต่ปี 2554 ได้ดำเนินการป้องกันและแก้ไขอุบัติเหตุ ทั้งระดับนโยบาย อำนวยการ และปฏิบัติการ เพื่อให้กลไกทำงานมีประสิทธิภาพ กำหนดให้จัดทำแผนแม่บทความปลอดภัยทางถนนทุก 3 ปี เพื่อยกระดับความปลอดภัยทางถนน โดยบูรณาการการทำงาน 5 เสาหลัก คือ

1.การสร้างกลไกการบริหารจัดการด้านการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างมีประสิทธิภาพ

2.การสร้างความปลอดภัยด้านโครงสร้างถนนและสภาพแวดล้อมริมทาง

3.การส่งเสริมให้เกิดการใช้ยานพาหนะที่ปลอดภัย

4.การสร้างวินัยจราจรให้กับผู้ใช้รถใช้ถนน

และ 5.การช่วยเหลือและรักษาผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนน

โดยที่ผ่านมาได้แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันปัญหาความปลอดภัยทางถนนใน 5 ประเด็น คือ ดื่มแล้วขับ การขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด ใบอนุญาตขับรถ รถโดยสารสาธารณะ และการคาดเข็มขัดนิรภัย

นายนพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัย ซูเปอร์โพล มูลนิธิสถาบันวิจัยความสุขชุมชนและความเป็นผู้นำ กล่าวถึงผลสำรวจเรื่อง “อุบัติเหตุทางถนนเป็นเรื่องของใคร” สำรวจระหว่างวันที่ 5-14 ตุลาคม 2560 จากการสำรวจ 1,196 ตัวอย่าง พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 76.7 เคยเกิดอุบัติเหตุขึ้นกับตัวเอง โดยร้อยละ 91.4 เชื่อว่าเป็นเรื่องของวิทยาศาสตร์ความปลอดภัยทางถนน มีเพียงร้อยละ 32.1 ที่เชื่อว่าเป็นเรื่องของเวรกรรม ถือเป็นครั้งแรกที่พิสูจน์ได้ว่า คนไทยเปลี่ยนความเชื่อจากอุบัติเหตุเป็นเรื่องของเวรกรรมมาเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ คือ สภาพถนน คน รถ สิ่งแวดล้อม เป็นต้น โดยกลุ่มตัวอย่างร้อยละ 96.6 เห็นว่ารัฐควรลงทุนในจุดที่เกิดอุบัติเหตุซ้ำซาก และร้อยละ 63.9 ระบุว่า การแก้ปัญหาเป็นเรื่องของกระทรวงคมนาคม รองลงมาคือ รัฐบาล คสช. องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงสาธารณสุข ตามลำดับ

ด้าน นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การร่วมมือระหว่างฝ่ายต่างๆ ในการตรวจจับเพื่อป้องกัน การรายงานและการดูแลผู้บาดเจ็บ อาจไม่เพียงพอที่จะบรรลุเป้าหมายการลดการเกิดอุบัติเหตุทางถนนลงได้ ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กระทรวงคมนาคม ศวปถ. มูลนิธินโยบายถนนปลอดภัย สสส. ตลอดจนองค์กรภาคประชาสังคมทั้งในและต่างประเทศ เช่น สอจร. สคอ. AIP มูลนิธิบลูมเบิร์ก ฯลฯ ซึ่งเป็นหน่วยงานบูรณาการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนที่ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน จึงได้จัดให้มีการสัมมนาวิชาการระดับชาติ เรื่องความปลอดภัยทางถนนครั้งนี้ คาดหวังให้ภาครัฐ ภาคเอกชน ทั้งผู้บริหาร นักวิชาการ ผู้ปฏิบัติงานได้รับทราบสถานการณ์ องค์ความรู้ ทิศทางนโยบาย อุปสรรคปัญหาและร่วมเสนอนโยบาย เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

การสัมมนาในปีนี้ จัดขึ้นเป็นปีที่ 13 ภายใต้หัวข้อ “ลงทุนเพื่อความปลอดภัยทางถนนที่ยั่งยืน” Invest for Sustainable Road Safety ในวันที่ 6-7 ธ.ค. ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค บางนา โดยประเด็นสำคัญในการประชุมปีนี้ มีประเด็นที่น่าสนใจเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์การทำงานจากหน่วยงานต่างๆ เพื่อนำไปปฏิบัติใช้ต่อไป คือ

1.การลงทุนเพื่อความปลอดภัยทางถนนที่ยั่งยืน

2.ประชารัฐเพื่อสังคม กับความปลอดภัยทางถนน

3.ลงทุนเพื่อสังคมร่วมใจป้องกันภัยทางถนน

4.มิติใหม่บังคับใช้กฎหมาย Road Safety 4.0

5.รถพยาบาลปลอดภัย

6.มิติทางสังคม กับการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย

และ 7.ระบบใบขับขี่ใหม่กับความปลอดภัยทางถนน

ทั้งนี้ขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมสัมมนาฯ สามารถทราบรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.roadsafetythai.org และลงทะเบียนผ่านแอพพลิเคชั่น Road Safety ได้ทั้งระบบ IOS และ Android ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป