ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อดีตนายกแพทยสภา ชำแหละสถานการณ์ความรุนแรงในบุคลากรสาธารณสุข พบ 80% คนไข้เป็นผู้ก่อเหตุ ห้องฉุกเฉิน-จิตเวช หนักสุด เกิดขึ้นกับพยาบาลและผู้ช่วยมากที่สุด

นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา

นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา อดีตนายกแพทยสภา กล่าวในเวทีเสวนา “วิกฤต คุกคาม ความรุนแรงในโรงพยาบาล นโยบายกระทรวงสาธารณสุขและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง” ภายใต้งานสัมมนา “วิกฤต คุกคาม ความรุนแรงในโรงพยาบาล ทางออกคืออะไร” ซึ่งจัดโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบงานบริการสาธารณสุขและคุณภาพชีวิตแพทย์ แพทยสภา เมื่อวันที่ 10พฤศจิกายน 2560 ตอนหนึ่งว่า ก่อนจะพูดถึงเรื่องความรุนแรงนั้น จำเป็นต้องพิจารณาเรื่องความปลอดภัยในการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์ในขณะนี้ก่อน

สำหรับสถานการณ์ขณะนี้พบว่า 1.แพทย์พยาบาลทำงานหนักจนพักผ่อนไม่เพียงพอ จึงเกิดอันตรายและความผิดพลาด 2.บุคลากรมีความเครียดเพราะกังวลว่าจะถูกฟ้องร้องคดีและผู้ที่ตัดสินคดีก็อาจไม่มีความรู้ทางการแพทย์ 3.ถูกรัฐบาลจำกัดให้ใช้ยาที่ถูกที่สุด แต่เมื่อรักษาไม่หายกลับเป็นแพทย์ที่ต้องรับผิดชอบ 4.ความกังวลจากการติดเชื้อโรคระบาด เช่น โรคซาร์ส ซึ่งแพทย์พยาบาลจะเป็นเหยื่อรายแรก 5.เสี่ยงจากเหตุการณ์จราจล การชุมนุม และการถูกคุกคามจากการทำร้ายร่างกาย

“ถามว่าการคุกคามในที่ทำงานพบบ่อยหรือไม่ เราพบบ่อยมาก ซึ่งไม่ใช่เฉพาะแค่การทำร้ายร่างกายแต่ยังรวมไปถึงคำพูดด้วย ถามว่าพบที่ไหนบ้าง บอกได้ว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสถานที่ทำงานนั้น ครึ่งหนึ่งเกิดในสถานพยาบาล” นพ.สมศักดิ์ กล่าว

นพ.สมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกพบว่าเมื่อเปรียบเทียบกับอาชีพอื่นแล้ว บุคลากรทางการแพทย์จะประสบปัญหาการคุกคามและความรุนแรงมากที่สุด เมื่อพิจารณาต่อก็พบว่ามากถึง 80% เกิดจากคนไข้เป็นผู้กระทำ ที่เหลือเป็นสาเหตุอื่นๆ และจะมีเพียง 3-4% เท่านั้นที่เกิดจากการทำร้ายกันเองของบุคลากร

ทั้งนี้ พยาบาลและผู้ช่วยพยาบาลจะเป็นกลุ่มบุคคลที่ถูกกระทำมากที่สุด โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานด้านจิตเวช ห้องฉุกเฉิน และพื้นที่ทำงานชนบทห่างไกล นอกจากนี้ข้อมูลยังบ่งชี้อีกว่าสถานที่ที่ถูกทำร้ายมากที่สุด 80% อยู่ในห้องผู้ป่วยหรือในระหว่างการตรวจผู้ป่วย

นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า โรงพยาบาลจำเป็นต้องมีระบบรักษาความปลอดภัยและควรปรึกษากับเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่ว่าจะวางแนวทางการรักษาความปลอดภัยอย่างไร โดยในต่างประเทศจะมีการคัดกรองคนไข้ด้วยแถบสี 7 สี ตามความเสี่ยงที่จะก่อความรุนแรง และมีการติดตั้งกล้องวงจรปิด (ซีซีทีวี) ไว้ตามจุดต่างๆ ของโรงพยาบาล

นอกจากนี้ ในต่างประเทศยังได้วางระบบโทรศัพท์ฉุกเฉิน คือในโทรศัพท์มือถือจะมีปุ่มที่เมื่อกดแล้วจะมีผู้เข้ามาช่วยเหลือทันทีอย่างเร่งด่วน และที่ตนสนใจที่สุดคือคนที่จะมาเยี่ยมคนไข้นั้น ในประเทศไทยคือใครอยากจะเข้ามาก็เข้ามาได้เลย แต่ในต่างประเทศจะมีระบบรักษาความปลอดภัย ต้องมีการตรวจสอบข้อมูล ให้แลกบัตรก่อน หรือในบางแห่งมีเครื่องตรวจโลหะ เครื่องตรวจอาวุธ

“ในประเทศไทยเมื่อเราไม่มีระบบตรวจสอบตรงนี้ จึงพบว่ามีคนอ้างว่าจะมาเยี่ยมคนไข้ที่ห้องพิเศษ แต่กลับเข้าไปขโมยของคนไข้แทน หรือที่คนเข้ามาแทงกันในโรงพยาบาลเราเขาสามารถนำอาวุธเข้ามาได้ง่ายๆ ฉะนั้นการแก้ไขผู้บริหารต้องเข้ามามีส่วนร่วมกับเจ้าหน้าที่ วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงในโรงพยาบาล วางมาตรการป้องกัน ต้องมานั่งคิดกันว่าถ้าคนเอาอาวุธเข้ามาจะทำอย่างไร ถ้ามีคนมาเตะต่อยบุคลากรจะทำอย่างไร ที่สำคัญคือการบันทึกเพื่อมาดูว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร เพิ่มขึ้นหรือลดน้อยลง” นพ.สมศักดิ์ กล่าว