ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.ศูนย์สันติวิธีสาธารณสุข ชี้ มีเพียง 2% ของคนไข้ที่เข้าเกณฑ์ มาตรา 41 กฎหมายบัตรทอง ฟ้องร้องแพทย์ ระบุ สธ.แพ้คดีเพียง 33%

นพ.อิทธิพล สูงแข็ง

นพ.อิทธิพล สูงแข็ง สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 8 กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และผู้อำนวยการศูนย์สันติวิธีสาธารณสุข กล่าวในเวทีเสวนา “วิกฤต คุกคาม ความรุนแรงในโรงพยาบาล นโยบายกระทรวงสาธารณสุขและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง” ภายใต้งานสัมมนา “วิกฤต คุกคาม ความรุนแรงในโรงพยาบาล ทางออกคืออะไร” ซึ่งจัดโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบงานบริการสาธารณสุขและคุณภาพชีวิตแพทย์ แพทยสภา เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 ตอนหนึ่งว่า ในอดีตโรงพยาบาลเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุดแต่ปัจจุบันสถานการณ์ได้เปลี่ยนไปมาก ซึ่ง สธ.เองก็ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับบุคลากรสาธารณสุข

ทั้งนี้ จากสถานการณ์ที่รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทาง สธ.ก็ระบุว่า ศูนย์สันติวิธีฯ ซึ่งเดิมมีหน้าที่ไกล่เกลี่ยความขัดแย้งที่เกิดขึ้นนั้นจะทำเฉพาะการไกล่เกลี่ยที่ปลายน้ำคงไม่เพียงพอ ฉะนั้นจึงต้องดำเนินงานตั้งแต่ต้นน้ำ คือการทำ Patient and Personnel Safety (2P Safety) เพื่อดูแลทั้งผู้ป่วยและบุคลากรของตัวเองไม่ให้ถูกคุกคาม

นพ.อิทธิพล กล่าวว่า ขั้นตอนการทำ 2P Safety ต้องเฝ้าระวังก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ มีการบันทึกข้อมูลด้วยโปรแกรมต่างๆ ก่อนที่เหตุการณ์ต่างๆ จะรุนแรงขึ้น ในลักษณะเป็นการแจ้งเตือนให้ผู้บริหารเข้าใจและตัดสินใจแก้ปัญหาอย่างทันท่วงที ส่วนปลายทางก็คือการไกล่เกลี่ยด้วยสันติวิธี

สำหรับสถานการณ์ความรุนแรงตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 กรณีการช่วยเหลือเบื้องต้นให้กับคนไข้ที่ได้รับความเสียหายจากการรักษา ซึ่งครอบคลุมคนไข้อยู่ประมาณ 48 ล้านคน โดยตั้งแต่มีกฎหมายพบว่ามีผู้ที่เข้าเกณฑ์ประมาณ 8,000 ราย และสถิติการจ่ายชดเชยก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณเคสละ 2 แสนบาท

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจากสถิติการฟ้องร้องจะพบว่าถ้ามีเคสเข้าเกณฑ์มาตรา 41 จำนวน 100 เคส จะมีคนไข้ตัดสินใจฟ้องร้องคดี 2 เคส หรือคิดเป็น 2% ของจำนวนผู้ที่เข้าเกณฑ์มาตรา 41 ทั้งหมด หรือราวๆ 200 คดีความ

“ใน 200 คดีที่เกิดขึ้น พบว่าเกินครึ่งหรือกว่า 50% จบลงด้วยการไกล่เกลี่ยได้สำเร็จในศาล ขณะที่คดีซึ่งสู้กันจนถึงที่สุดแล้วใน 100% พบว่า สธ.แพ้คดีไป 33% โดยสาเหตุของการฟ้องคดีอันดับหนึ่งคือการวินิจฉัยผิดพลาด รองลงมาคือการทำคลอดและไม่เอาใจใส่คนไข้” นพ.อิทธิพล กล่าว

นพ.อิทธิพล กล่าวว่า เป้าหมายของศูนย์สันติฯ คือต้องการลดความถี่และลดความรุนแรงเรื่องการร้องเรียน ซึ่งก็จะทำให้ปริมาณคดีในศาลลดลงตามไปด้วย โดยที่สุดแล้วต้องทำให้ 2% ที่ฟ้องร้องนั้นลดจำนวนลง

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาจำนวนเคสมาตรา 41 ที่เกิดขึ้นซึ่งดูเหมือนมากขึ้นเรื่อยๆ นั้น แต่เมื่อเทียบเคียงกับจำนวนการเข้าถึงบริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ที่มีมากกว่าปีละ 200 ล้านครั้ง จะพบว่าจำนวนเคสเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก นั่นสะท้อนว่าขณะนี้โรงพยาบาลหลายแห่งมีการจัดการและมีการไกล่เกลี่ยความขัดแย้งในสถานที่เกิดเหตุได้เป็นอย่างดี

“ความขัดแย้งในปัจจุบันมันเกิดเป็น 3 เส้า คือผู้ป่วย บุคลากร และระบบบริการ โดยผู้ป่วยมีความคาดหวังค่อนข้างสูงคือทุกอย่างต้องให้ได้ผล 100% และที่ปฏิเสธไม่ได้คือปัจจุบันสื่อออนไลน์ค่อนข้างมีผลมาก ขณะที่บุคลากรมีภาระงานมาก มีความเครียด ส่วนในระบบบริการก็ยังมีช่องโหว่บ้าง เช่น ขาดการสื่อสาร ค่าใช้จ่ายสูง ที่สุดแล้วจึงเกิดความขัดแย้งเป็นเรื่องเป็นราวขึ้น” นพ.อิทธิพล กล่าว

นพ.อิทธิพล กล่าวว่า เมื่อเกิดเหตุความขัดแย้ง จำเป็นต้องจัดให้เกิดกระบวนการการเจรจาให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อจำกัดวงความขัดแย้งและสร้างให้เกิดความสมานฉันท์ขึ้น โดยควรจัดให้มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ นักสันติวิธี นักกฎหมาย เข้าไปจัดการตามลำดับความรุนแรงของเหตุการณ์