ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เวทีถอดบทเรียนความรุนแรงในโรงพยาบาล ระบุ ห้องฉุกเฉินเกิดเหตุมากที่สุดเกือบ 100% แพทย์ชำแหละปัจจัยกระตุ้นสถานการณ์ พบ 60% ของผู้รับบริการอีอาร์ กลับไม่ฉุกเฉิน

นพ.บดีภัทร วรฐิติอนันต์ โรงพยาบาลนครปฐม กล่าวในเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์สภาพปัญหาความรุนแรงในโรงพยาบาล ภายใต้งานสัมมนา “วิกฤต คุกคาม ความรุนแรงในโรงพยาบาล ทางออกคืออะไร” ซึ่งจัดโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบงานบริการสาธารณสุขและคุณภาพชีวิตแพทย์ แพทยสภา เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 ตอนหนึ่งว่า ทุกวันนี้เรารับรู้เหตุการณ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทำร้ายคนไข้ การทำร้ายเจ้าหน้าที่ ผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ซึ่งจากสถิติเกือบทั้ง 100% พบว่าสถานที่เกิดเหตุมักอยู่ในห้องฉุกเฉินแทบทั้งสิ้น คำถามก็คือเหตุใดจึงต้องเป็นห้องฉุกเฉิน

นพ.บดีภัทร กล่าวว่า ผลการวิจัยหนึ่งระบุว่าพฤติกรรมที่ส่งเสริมให้เกิดการกระทำรุนแรง ได้แก่ อันดับหนึ่งเมาสุราและใช้ยาเสพติด รองลงมาคือการรอคอยที่ยาวนาน ความบกพร่องเรื่องการสื่อสาร อาการเจ็บป่วยที่รุนแรง และสุดท้ายคือสถานการณ์ที่รีบเร่ง ซึ่งแน่นอนว่าปัจจัยทั้งหมดนี้อยู่ในห้องฉุกเฉินแทบทั้งสิ้น นั่นจึงเป็นเหตุให้บุคลากรในห้องฉุกเฉินมักถูกทำร้ายทั้งทางวาจาและทางร่างกาย

“สิ่งที่เลวร้ายไปกว่านั้นคือเหตุการณ์ทั้งหมดแทบจะไม่มีการเขียนรายงาน กว่า 80% ของเหตุการณ์ไม่มีการเขียนรายงาน ฉะนั้นถ้าใช่เหตุการณ์ที่รุนแรงจริงๆ หรือถ้าไม่มีสังคมออนไลน์ ก็จะไม่ทราบว่ามีสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น” นพ.บดีภัทร กล่าว

นพ.บดีภัทร กล่าวอีกว่า เมื่อเกิดเหตุจะส่งผลกระทบโดยตรงกับผู้ปฏิบัติงาน เป็นเหตุให้สูญเสียความพึงพอใจในงานและความเชื่อมั่นในวิชาชีพ ซึ่งเหตุรุนแรงบางเหตุการณ์ไม่ได้กระทบเพียงบุคลากรในโรงพยาบาลเท่านั้น หากแต่การรับรู้จะส่งผลต่อบุคลากรในพื้นที่ใกล้เคียงด้วย

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในมุมมองผู้บริหาร ผลวิจัยดังกล่าวพบว่า ผู้บริหารจะให้ความสำคัญกับบุคลากรเป็นอันดับหนึ่ง ลูกค้าเป็นอันดับสอง ฉะนั้นหากบรรยากาศในการทำงานมีความสุข บุคลากรจะดูแลลูกค้าให้เอง แต่ในทางกลับกันหากคนที่ทำหน้าที่คอยดูแลผู้อื่นมีสุขภาพจิตสุขภาพกายไม่พร้อม ก็คงจะกระทบต่อการให้บริการ

“งานวิจัยของสหรัฐอเมริกา ระบุไปในทิศทางเดียวกันว่า ถ้าสามารถดูแลบุคลากรในห้องฉุกเฉินไม่ให้เกิดความรุนแรงได้ ย่อมส่งผลดีต่อคุณภาพการดูแลอย่างแน่นอน” นพ.บดีภัทร กล่าว

แพทย์รายนี้ กล่าวต่อไปว่า ปัจจัยส่งเสริมให้เกิดความรุนแรงในโรงพยาบาลก็คือสภาพความแออัดของผู้ป่วย ข้อมูลจากสมาพันธ์โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไปสรุปว่าห้องฉุกเฉินเกือบทุกโรงพยาบาลมีความแออัด สาเหตุสำคัญก็คือผู้ป่วยที่ไม่ฉุกเฉินมารับการตรวจที่ห้องฉุกเฉินมากเกินไป

ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมการแพทย์ ระบุว่า แต่ละปีมีผู้ป่วยใช้บริการห้องฉุกเฉินประมาณปีละ 35 ล้านครั้ง ในจำนวนนี้พบว่าเกินกว่า 60% เป็นผู้ป่วยที่ไม่ฉุกเฉิน นั่นหมายความว่าทุกวันนี้เราใช้ห้องฉุกเฉินไว้ให้บริการผู้ป่วยที่ไม่ฉุกเฉินเป็นส่วนใหญ่ ส่งผลให้ห้องฉุกเฉินแบกรับงานเกินศักยภาพ สุดท้ายแล้วทำให้อัตราการเสียชีวิตสูงขึ้น

นพ.บดีภัทร กล่าวถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาความแออัดของห้องฉุกเฉินว่า มีหลากหลายวิธี แต่อยากจะเน้นย้ำประเด็นการรู้เท่าทันข้อมูลของประชาชน คือเคยมีปัญหาประชาชนไม่เข้าใจ หรือร้องเรียนว่าทำไมตัวเองต้องรอคอยทำไมคนอื่นได้รับการรักษาเลย หรือใครด่วนหรือไม่ด่วนอย่างไร ใครฉุกเฉินไม่ฉุกเฉินคัดแยกอย่างไร รวมทั้งต้องสร้างความเข้าใจให้ประชาชนทราบด้วยว่าจำเป็นต้องให้บริการหรือตรวจตามความจำเป็นเร่งด่วนและเป็นอันตรายต่อชีวิต

สำหรับปัญหาความรุนแรงที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากความแออัด แต่เกิดจากอารมณ์โดยไม่เคารพสถานที่ เช่น การยกพวกตีกันแล้วตามมาตีกันต่อที่โรงพยาบาล ประเด็นนี้เป็นเรื่องที่ควบคุมยาก ฉะนั้นซีกนโยบายต้องช่วยกันด้วยว่าจะไม่ยอมรับความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโรงพยาบาล รวมทั้งการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร และนักกฎหมาย เพื่อวางนโยบายลดความรุนแรงต่อไป

เรื่องที่เกี่ยวข้อง