ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประธานสมาพันธ์แพทย์ รพศ./รพท. ปลุกสังคมปฏิเสธความรุนแรงในโรงพยาบาล ยกเคสอังกฤษเข้มงดกฎหมาย ต่อยพยาบาลถูกคุก 4 เดือน ระบุใครใช้ความรุนแรงต้องถูกลงโทษ อย่าขอโทษแล้วจบลงด้วยดี เสนอ สธ.ทำโปรแกรมฝึกทักษะบุคลากรรับมือการคุกคาม

นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร

นพ.ประดิษฐ์ ไชยบุตร ประธานสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป กล่าวในเวทีเสวนาหัวข้อ “ทางออก แก้ไข ป้องกันและแก้ปัญหา วิกฤต ความรุนแรงในโรงพยาบาล ER ในโรงเรียนแพทย์ และการจัดระเบียบ” ภายใต้งานสัมมนา “วิกฤต คุกคาม ความรุนแรงในโรงพยาบาล ทางออกคืออะไร” ซึ่งจัดโดยคณะอนุกรรมการพัฒนาระบบงานบริการสาธารณสุขและคุณภาพชีวิตแพทย์ แพทยสภา เมื่อวันที่ 10 พฤศจิกายน 2560 ตอนหนึ่งว่า ความรุนแรงที่บุคลากรสาธารณสุขได้รับเปรียบดั่งยอดของภูเขาน้ำแข็ง เพราะมีเหตุการณ์เกิดขึ้นมากมายแต่เป็นข่าวน้อย และพวกเรารวมถึงผู้บริหารบางคนก็มองว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเพียงเรื่องเล็กๆ นั่นทำให้ปัญหายังคงมีอยู่

นพ.ประดิษฐ์ กล่าวว่า เมื่อปีที่ผ่านมา ทางสมาพันธ์ฯ ร่วมกับแพทยสมาคมจัดงานเสวนาเกี่ยวกับประเด็นดังกล่าวและสามารถวิเคราะห์ปัจจัยออกมาเป็น 2 ประเด็นใหญ่ๆ นั่นก็คือ 1.ความรุนแรงเกิดขึ้นเพราะสังคมชอบใช้ความรุนแรง 2.ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรสาธารณสุขกับคนไข้ไม่ดี ซึ่งทั้ง 2 เรื่องนี้เป็นเหตุใหญ่ที่จำเป็นต้องแก้ มิเช่นนั้นเราจะเอาแต่ตามแก้ปัญหาปลายเหตุไปเรื่อยๆ

นพ.ประดิษฐ์ กล่าวว่า คำว่าโรงพยาบาลสำหรับคนยุคใหม่ก็เหมือนกับสถานที่ที่หนึ่ง จึงเกิดการขาดการเคารพสถานที่ มีการมาทำร้ายกันในโรงพยาบาล ตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องมาคุยกันว่าจะทำอย่างไรให้คนรู้สึกว่านี่คือโรงพยาบาล จะมาทำอะไรแบบนั้นไม่ได้ ต้องรู้จักเคารพสถานที่

“ทุกวันนี้โรงพยาบาลเหมือนร้านสะดวกซื้อ คือใครจะเข้าจะออกตอนไหนก็ได้ ยกตัวอย่างมีคนๆ หนึ่งถูกยุงกัดตอนตี 2เขาจะเข้าเซเว่นไปซื้อยาหม่องก็ได้ หรือจะมาโรงพยาบาลเพื่อรับยาไปทาก็ได้ ผมคิดว่าทุกวันนี้มันเริ่มไม่แตกต่าง ซึ่งมันไม่ควรเป็นเช่นนั้น ประเด็นก็คือคนที่มาโรงพยาบาลต้องมีความสำนึกว่านี่คือโรงพยาบาล” นพ.ประดิษฐ์ กล่าว

นพ.ประดิษฐ์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาเคยเกิดกรณีคนไข้ตบหน้าพยาบาลแล้วผู้บริหารบอกว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย ซึ่งถามว่าผู้บริหารมีทัศนคติเช่นนี้ได้อย่างไร เพราะเป็นเรื่องที่คนไข้ทำผิดกฎหมาย หรือแม้แต่เหตุการณ์อื่นๆ ที่เกิดความรุนแรงแล้วมักจบลงด้วยดี เช่น ผู้บริหารให้ขอโทษ คำถามก็คือหลังจากนี้ก็จะมีการเตะก้านคอ ตบหัว ต่อไปเรื่อยๆ ใช่หรือไม่

สำหรับทัศนคติเช่นนี้มันไม่ควรมี ตัวอย่างหนึ่งของประเทศอังกฤษที่น่าสนใจคือมีคนไข้เมาแล้วมาทำแผล แล้วชกพยาบาลเข้าไป 1 หมัด ปรากฏว่าคนไข้รายนี้ต้องติดคุก 4 เดือน คือมันไม่มีการจบลงด้วยดี ไม่มีการยกกระเช้าไปขอโทษ เพราะนโยบายเขาคือความรุนแรงต้องเป็นศูนย์ นี่คือเรื่องที่เราควรเรียนรู้

นอกจากนี้ ยังมีนโยบายชัดเจนว่าจะไม่มีการให้อภัยหากคุณทำร้ายบุคลากรสาธารณสุข และถ้าคนไข้กระทำเหตุการณ์รุนแรงก็จะไม่รักษา และถ้ายังทำเหตุการณ์รุนแรงขึ้นก็จะไม่รักษาทั้งครอบครัว นี่คือนโยบายที่ใช้กันเป็นมาตรฐาน หลักการคือถ้าคุณทำผิดคุณต้องรับโทษของการทำผิด ไม่มีการให้อภัย เพื่อปรามไม่ให้พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมขึ้นอีก

ประธานสมาพันธ์แพทย์ฯ กล่าวว่า เรื่องความรุนแรงเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวมากขึ้น ฉะนั้นจำเป็นต้องฝึกอบรมบุคลากรของเรา ในต่างประเทศมี 4-5 ทักษะ เช่น การพูดคุยสื่อสารเพื่อลดปัญหา เมื่อความเห็นไม่ตรงกับคนไข้ควรจะทำอย่างไร จะบริหารความเครียดและอารมณ์ได้อย่างไร ส่วนตัวคิดว่ากระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ควรสร้างโปรแกรมเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อให้บุคลากรได้อบรมเพื่อทำตัวได้ถูกเมื่อเผชิญเหตุการณ์

“เรามีแผนซ้อมกันทุกปี ทั้งแผนอุบัติเหตุหมู่ แผนไฟไหม้ แผนน้ำท่วม แผนหวัดนก ฉะนั้นเราต้องมีแผนความรุนแรงด้วย เมื่อเจอคนไข้ใช้ความรุนแรงแล้วเราจะทำอย่างไร หนึ่ง สอง สาม” นพ.ประดิษฐ์ กล่าว

นพ.ประดิษฐ์ กล่าวต่อไปว่า ทุกวันนี้เรามีกฎหมายคุ้มครองเมื่อถูกใช้ความรุนแรง แต่คงเป็นเรื่องยากถ้าหากต้องให้พยาบาลที่โดนคนไข้ตบหน้าไปฟ้องร้องเอง ส่วนตัวคิดว่าควรที่จะมีหน่วยงานหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ดำเนินการแทน ขณะเดียวกันเมื่อคนไข้เกิดความไม่พอใจต้องมีช่องทางให้เขาสามารถระบายหรือร้องเรียนได้