ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.วิทยาลัยการจัดการระบบสุขภาพ ม.นเรศวร ระบุ องค์การอนามัยโลก ทำสัญญาให้ทีมงานช่วยวางแนวทางจัดทำระบบหลักประกันสุขภาพประเทศลาว เหตุมีความกระจัดกระจาย หลายแหล่งเงินทุน เบื้องต้นได้ส่งต่อความรู้ พัฒนาบุคลากรองค์กร Health insurance bureau

ผศ.นพ.ภูดิท เตชาติวัฒน์

ผศ.นพ.ภูดิท เตชาติวัฒน์ รักษาการผู้อำนวยการวิทยาลัยการจัดการระบบสุขภาพ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวถึงกรณีที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ทำสัญญากับวิทยาลัยฯ ให้เป็นที่ปรึกษาของประเทศลาวเพื่อจัดทำแนวทางการสร้างระบบหลักประกันสุขภาพ ตอนหนึ่งว่า สิ่งที่ WHO ต้องการให้เข้าไปช่วยมี 2 ระดับ นั่นก็คือ 1.การศึกษาว่าระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศลาวเป็นอย่างไร สถานการณ์โดยรวมเป็นอย่างไร จากนั้นให้จัดทำข้อเสนอ 2.จะนำข้อเสนอเหล่านั้นแปลงไปสู่การดำเนินการให้เกิดรูปธรรมได้อย่างไร

ผศ.นพ.ภูดิท กล่าวว่า ทีมงานหลักๆ ที่ทำเรื่องนี้มีด้วยกันอีก 2 คน คือ นพ.ถาวร สกุลพาณิชย์ อดีตผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยเพื่อการพัฒนาหลักประกันสุขภาพไทย (สวปก.) และ ดร.ครรชิต สุขนาค คณะบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ และการสื่อสาร มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยโครงการดังกล่าวสืบเนื่องจาก องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ได้ร่วมมือกับ WHO ในการทำงานเรื่องระบบสุขภาพในประเทศลาวแล้วพบปัญหา จึงต้องการให้ประเทศไทยเข้าไปช่วยส่งต่อองค์ความรู้

สำหรับโครงการแรกนั่นก็คือการศึกษาสถานการณ์ระบบสุขภาพของประเทศลาว ซึ่งสภาพที่เกิดขึ้นก็คือประเทศลาวมีระบบสุขภาพหลายระบบจากหลากหลายองค์กรที่สนับสนุนแหล่งทุน ไม่ว่าจะเป็น กาชาด (Red Cross) ILO หรือแม้แต่องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) ขณะเดียวกันประเทศลาวไม่ได้รวมศูนย์การปกครอง แต่ให้แต่ละจังหวัดจัดการตัวเอง นั่นทำให้แต่ละพื้นที่เลือกระบบประกันสุขภาพที่แตกต่างกัน ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือประเทศลาวเป็นประเทศเล็ก เมื่อต่างคนต่างเลือกก็เกิดความกระจัดกระจายขึ้น

ทั้งนี้ สามารถจำแนกรูปแบบระบบหลักประกันสุขภาพของประเทศลาวใหญ่ๆ ได้ 3 รูปแบบ ได้แก่ 1.คล้ายคลึงกับสมัยก่อนของประเทศไทย คือมีการขายบัตรประกันสุขภาพในราคาถูก 2.การซื้อประกันสุขภาพทั่วไป 3.ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าด้วยระบบเหมาจ่าย ซึ่งทั้งหมดนี้มีความแตกต่างกัน และรัฐเห็นว่าระบบที่กระจัดกระจายนั้นไม่มีประสิทธิภาพ รัฐจึงได้ตั้งหน่วยงานขึ้นมาหน่วยงานหนึ่งคล้ายคลึงกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แต่อำนาจมีความแตกต่างกัน ชื่อทางการคือ Health insurance bureau

ผศ.นพ.ภูดิท กล่าวว่า ความมุ่งหมายของหน่วยงานนี้ก็คือเป็นหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่ควบคุมและกำกับจังหวัดต่างๆ ให้มีรูปแบบไม่แตกต่างกันมาก โดยสิ่งแรกที่ทางการลาวต้องการคือพัฒนาศักยภาพของคนในหน่วยงานให้มีความรู้ความเข้าใจ ซึ่งทางเราก็ได้เสนอไปว่าต้องมีการพัฒนาศักยภาพใน 3 ระดับ ได้แก่ 1.พัฒนาศักยภาพของผู้บริหารระดับสูง คือฝ่ายนโยบาย 2.พัฒนาศักยภาพของผู้บริหารระดับกลาง คือระดับจังหวัด 3.พัฒนาศักยภาพของผู้บริหารระดับต้น คือระดับอำเภอ

ผศ.นพ.ภูดิท กล่าวอีกว่า เมื่อได้ข้อเสนอไปแล้วก็นำมาสู่รูปธรรมของข้อเสนอ ซึ่งเป็นเฟส 2 คือพัฒนาศักยภาพในแต่ละกลุ่ม โดยทางการลาวต้องการให้ช่วยพัฒนาหลักสูตรและแนะนำวิธีการสอน โดยการสอนก็แบ่งออกเป็นหมวดใหญ่ๆ ได้แก่ 1.สอนแบบปกติ คือมีอาจารย์เดินทางไปสอน ไปพูดคุยเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน 2.พัฒนาบางหัวข้อและเนื้อหาการสอนผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อให้ครู ก.เกิดความเข้าใจ และนำไปถ่ายทอดต่อได้

สำหรับหลักสูตรมี 3 ระดับ ประกอบด้วยระดับสูง ระดับกลาง และระดับต้น โดยความหนักเบาของเนื้อหาก็มีความแตกต่างกันออกไป ระดับสูงจะต้องเรียนรู้เรื่องนโยบาย ระบบสุขภาพทั่วไป ระบบหลักประกันสุขภาพ กลยุทธ์ในการนำนโยบายไปปฏิบัติ ส่วนระดับกลางก็จะเรียนเหมือนกับระดับสูงในบางเรื่อง แต่จะเน้นเรื่องนโยบายไปปฏิบัติ ส่วนระดับต้นก็จะเป็นเรื่องเชิงเทคนิก เช่น การคำนวณ

“เราเหมือนกับเอาองค์ความรู้จากประเทศไทยเข้าไปถ่ายทอดให้เขา เช่น หลักการการแบ่งบทบาทหน้าที่ระหว่างผู้ซื้อบริการกับผู้ให้บริการ ฯลฯ เพราะประเทศลาวมีปัญหาว่าเวลาไปรับถ่ายทอดมาจากองค์กรทางยุโรปหรืออะไรต่างๆ เป็นโมเดลที่ดี แต่เกิดปัญหาคือไม่สามารถเอาองค์ความรู้นั้นไปปฏิบัติได้ เขาจึงมาดูโมเดลประเทศไทยและเห็นว่าโมเดลประเทศไทยเป็นสิ่งที่ดี และมีวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกัน จึงปฏิบัติได้ง่ายกว่า” ผศ.นพ.ภูดิท กล่าว

อย่างไรก็ตาม หลักใหญ่ใจความของประเทศลาวคือต้องการเดินไปในทิศทางการสร้างหลักประกันสุขภาพ โดยใช้ภาษีของรัฐบาลเป็นผู้สนับสนุนเช่นเดียวกับประเทศไทย เพราะหากเปรียบเทียบในหลายประเทศแล้วประเทศไทยคือผู้นำด้านระบบหลักประกันสุขภาพ และเป็นตัวอย่างที่ดีที่หลายประเทศอยากจะทำตาม