ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุขชื่นชมการขับเคลื่อนของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา ด้วยแนวคิด “คนนาทวี ใส่ใจ ห่วงใย ดูแลกัน” ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตคนนาทวี ให้มีสุขภาวะที่ยั่งยืน ชมรมคนนาทวีไม่ทอดทิ้งกัน” หนุนคนพิการเข้าถึงบริการสาธารณสุข พร้อมสร้างอาชีพแก่ผู้พิการให้สามารถมีรายได้เพิ่มขึ้น

นพ.กิตติศักดิ์ กลับดี ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ได้รับมอบหมายจาก นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานของคณะกรรมการพัฒนาคุณภาพชีวิตระดับอำเภอ (พชอ.) อ.นาทวี จ.สงขลา พบว่าในพื้นที่ อ.นาทวี มีจำนวนผู้พิการเพิ่มขึ้นและมีการลงทะเบียนจำนวน 1,389 รายจึงได้ใช้ยุทธศาสตร์ “คนนาทวีไม่ทอดทิ้งกัน” ทำให้ผู้พิการเข้าถึงบริการและเข้าถึงระบบฐานข้อมูลการลงทะเบียนได้มากขึ้น ส่งผลให้ได้รับการดูแลด้านการส่งเสริม ป้องกัน รักษา และฟื้นฟู อย่างครอบคลุมและต่อเนื่องมีการจัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูสมรรถภาพโดยชุมชนระดับตำบล และชมรมคนพิการระดับอำเภอ “ชมรมคนนาทวีไม่ทอดทิ้งกัน” สร้างอาชีพแก่ผู้พิการให้สามารถมีรายได้เพิ่มขึ้น เช่น โครงการอบรมหลักสูตรนวดแก่คนพิการทางการมองเห็นโครงการฝึกอาชีพกลุ่มทำขนม เป็นต้น

สำหรับสาเหตุความพิการเกิดจากอุบัติเหตุและโรคเรื้อรังต่าง ได้แก่ โรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดสมอง จึงได้แบ่งกลุ่มประชากรในพื้นที่เป็น 4 กลุ่ม คือกลุ่มประชาชนทั่วไป กลุ่มเสี่ยงโรคเรื้อรัง กลุ่มป่วยที่ยังไม่มีภาวะแทรกซ้อน และกลุ่มป่วยที่มีภาวะแทรกซ้อนซึ่งประเภทความพิการที่พบมากที่สุดคือ ประเภททางกายและการเคลื่อนไหวจำนวน 688 รายและประเภททางการได้ยินและสื่อความหมาย จำนวน 337 ราย

จึงดำเนินการดูแลสุขภาพกลุ่มโรคเรื้อรังโดยใช้โครงการหลักเศรษฐกิจพอเพียง “สุขภาพดีวิถีคนนาทวี: อ.อาหารเพื่อการบำบัด” ดึงเครือข่ายเกษตรจิตอาสา ปราชญ์ชาวบ้าน แพทย์แผนไทยในพื้นที่ร่วมดำเนินการพัฒนาคุณภาพชีวิตและใช้พื้นที่ในชุมชนเป็นแหล่งเรียนรู้ อาทิ ศูนย์เรียนรู้ตำบลนาหมอศรี ศูนย์เรียนรู้ตำบลทับช้าง โรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ณ อำเภอนาทวี เป็นต้นเกิดกระแสชวนกันปลูกผักกินเองประชาชนและผู้พิการในพื้นที่หันมาสนใจบริโภคเมนูที่ทำด้วยผักในท้องถิ่น ไม่ใช้สารเคมี ยาฆ่าแมลง ดีต่อสุขภาพ ดีต่อสิ่งแวดล้อมและมีสุขภาพที่ดีขึ้น

นอกจากนี้ได้จัดโครงการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวเพื่อลดคนพิการรายใหม่โดยการสร้างเครือข่ายสุขภาพระดับอำเภอค้นหาสิ่งดีในชุมชนและจัดทำกิจกรรมต่างๆ ตามบริบทของพื้นที่ อาทิ กลุ่มช่วยเหลือผู้สูงอายุที่ยากไร้โดยชุมชน กลองยาวผู้สูงอายุ สินค้า OTOP โดยผู้สูงอายุผักปลอดสารพิษ กำลังใจจากเพื่อนเยี่ยมเพื่อนผลิตภัณฑ์ข้าวซ้อมมือโดยผู้สูงอายุและซ่อมแซมบ้านให้ผู้สูงอายุและผู้ด้อยโอกาสที่ยากไร้เสริมทักษะด้านการผลิตและเสริมอาชีพเพิ่มเติมให้คนพิการและครอบครัว