ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

WHO จัด ‘ไทย’ เป็นประเทศที่มีปัญหาวัณโรครุนแรงระดับโลก ครม.มีมติให้เป็นวาระชาติ - สวรส.ให้ทุนวิจัยเพื่อแก้ปัญหาวัณโรคในไทย ‘ลดตาย ลดโรค ลดล้มละลายทางการเงิน’

ข้อมูลจากแผนยุทธศาสตร์วัณโรคระดับชาติ พ.ศ. 2560-2564 ระบุ วัณโรคเป็นโรคติดเชื้อที่เป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของโลกในปี 2557 และในปี 2558 องค์การอนามัยโลกจัดให้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศที่มีปัญหาวัณโรครุนแรงระดับโลก โดยมีอัตราของวัณโรครายใหม่สูงกว่าค่าเฉลี่ยโลก 1.3 เท่า มีผู้เสียชีวิตถึง 12,000 ราย จากจำนวนผู้ป่วยวัณโรครายใหม่ที่คาดประมาณราว 120,000 รายต่อปี ขณะที่มีผู้ป่วยวัณโรคขึ้นทะเบียนการรักษาเพียง 58,714 ราย หรือประมาณร้อยละ 50 คิดเป็นอัตราการรักษาสำเร็จร้อยละ 78 ซึ่งยังต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่นานาชาติกำหนด

นอกจากนี้ จากการสำรวจทำให้ทราบว่า ผู้ป่วยเกินกว่าครึ่งหนึ่งไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อย ซึ่งผู้ป่วยที่ตรวจพบและรายงานมีเพียงร้อยละ 59 ของที่คาดประมาณเท่านั้น สะท้อนให้เห็นว่าผู้ป่วยยังเข้าไม่ถึงหรือเข้าถึงการรักษาอย่างล่าช้า ทำให้เกิดการแพร่กระจายเชื้อในชุมชน ส่งผลให้อัตราป่วยลดลงได้เพียงช้าๆ เท่านั้น

ทั้งนี้ สหประชาชาติและองค์การอนามัยโลกโดยการรับรองวาระของประเทศสมาชิก ได้กำหนดให้การควบคุมและป้องกันวัณโรคเป็นเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในกรอบสหประชาชาติและยุทธศาสตร์ยุติวัณโรค มีเป้าหมายลดอัตราวัณโรครายใหม่เหลือ 20 และ 10 ต่อประชากรแสนคนในปี 2573-2578 ลดการเสียชีวิตลงร้อยละ 95 และลดผลกระทบทางเศรษฐกิจครัวเรือนหรือการล้มละลายทางการเงินให้เหลือ 0 ขณะที่ประเทศไทยจัดให้ปัญหาวัณโรคเป็นวาระสำคัญระดับชาติ โดยเมื่อ 12 กันยายน 2560 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักการแผนยุทธศาสตร์วัณโรคระดับชาติ พ.ศ. 2560-2564

นับเป็นความท้าทายของประเทศไทยอย่างมาก กับการแก้วิกฤตสถานการณ์ความรุนแรงของวัณโรคให้เดินไปสู่เป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งหากจะบรรลุเป้าหมายต่างๆ ดังกล่าวได้ ประเทศไทยต้องลดอุบัติการณ์ของโรคลงเฉลี่ยร้อยละ 12 ต่อปี ขณะที่ในระยะ 10 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ.2546-2556) ประเทศไทยมีอัตราลดลงของอุบัติการณ์เพียงร้อยละ 2.7 ต่อปีเท่านั้น สิ่งที่ต้องหันกลับมาพิจารณาให้ความสำคัญคือการมุ่งทำงานไปข้างหน้า มากกว่าการตามแก้ไขที่ปลายเหตุปลายทางของโรค ซึ่งยุทธศาสตร์ด้านการส่งเสริมวิจัยและพัฒนานวัตกรรมการป้องกัน ดูแล รักษาและควบคุมวัณโรคภายใต้แผนยุทธศาสตร์วัณโรคระดับชาติ (พ.ศ.2560-2564) จึงน่าจะเป็นหนทางหนึ่งสู่ทางรอดทางออกของเรื่องนี้

ที่ผ่านมา การดำเนินงานด้านการวิจัยภายใต้แผนยุทธศาสตร์วัณโรคระดับชาติดังกล่าว ได้มีการจัดตั้งเครือข่ายวิจัยวัณโรคในประเทศไทย (Thai Tuberculosis Research Network - ThaiTuRN) ซึ่งประกอบด้วย หน่วยงานต่างๆ ทั้งด้านสุขภาพและเครือข่ายองค์กรด้านวัณโรคในระดับประเทศร่วมกันดำเนินงาน โดยในช่วงต้นได้จัดให้มีการประชุมเชิงปฏิบัติการในหลายครั้ง เพื่อจัดทำและลำดับความสำคัญของโจทย์วิจัยวัณโรค โดยมีสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) เป็นหน่วยงานหลักทำหน้าที่ประสานการสนับสนุนงานวิจัย

และจากการประชุมเมื่อวันที่ 23-25 สิงหาคม พ.ศ.2560 ที่มี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ได้มีการกำหนดวัตถุประสงค์และสรุปโจทย์วิจัยวัณโรคที่สำคัญ 4 ด้าน รวม 33 หัวข้อวิจัย ได้แก่

1.วิจัยและพัฒนาการบูรณาการระบบข้อมูลเพื่อการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ

2.วิจัยและพัฒนาระบบการให้บริการ

3.ศึกษาเชื้อวัณโรคดื้อยาทั้งแบบ genotypic และ phenotypic

และ 4.วิจัยและพัฒนาการตรวจวินิจฉัยวัณโรคแฝงและการวินิจฉัยวัณโรค

ทั้งนี้ จากการประชุม สวรส. ได้พัฒนาข้อเสนอแผนกิจกรรมและการสนับสนุนการวิจัยเพื่อแก้ไขปัญหาวัณโรคในประเทศไทย ในรูปแบบชุดโครงการวิจัยแบบบูรณาการสหสาขาวิชา และ สวรส. ได้นำเสนอต่อคณะกรรมการโครงการท้าทายไทย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งผ่านการพิจารณาอนุมัติการดำเนินงานและงบประมาณแล้ว

และในระหว่างวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2560 ถึง 15 มกราคม พ.ศ.2561 นี้ สวรส. ได้เปิดรับข้อเสนอโครงการวิจัยเพื่อสนับสนุนทุนวิจัยด้านการแก้ไขปัญหาวัณโรคในประเทศไทย ภายใต้โจทย์วิจัย 4 ด้านดังกล่าว ทั้งนี้ นักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญทางด้านวัณโรค ตลอดจนภาคประชาสังคม ที่สนใจสามารถติดตามรายละเอียดได้ทาง www.hsri.or.th/callfortb เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างองค์ความรู้ “เพื่อยุติวัณโรค” สู่เป้าหมายลดตาย ลดโรค ลดล้มละลายทางการเงินของครอบครัวและประเทศไทย