ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

Harvard Business Review เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2560 โดยผู้เขียน Sam Glick และ Sven-Olaf Vathje รายงานถึงระบบบริการสุขภาพของสหรัฐอเมริกาว่า ด้วยความที่เป็นระบบบริการสุขภาพที่โดดเด่นด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและสาธารณูปโภคที่เพียบพร้อมจึงมักเป็นเป้าหมายที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาซึ่งกำลังก่อร่างสร้างระบบสุขภาพของตนเองต้องการไปให้ถึง ทั้งนี้ความต้องการมาตรฐานการรักษาพยาบาลที่ดีกว่าเดิมของประชากรชนชั้นกลางซึ่งกำลังขยายตัวเพิ่มขึ้น ทำให้ประเทศกำลังพัฒนาตกอยู่ภายใต้แรงกดดันด้านงบประมาณ ทั้งจากอัตราโรคเรื้อรัง (โดยเฉพาะโรคจากการกินอยู่แบบตะวันตก) ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ

การลอกแบบระบบสุขภาพของสหรัฐ (ซึ่งมีต้นทุนสูงกว่าประเทศอื่นแต่กลับได้ผลลัพธ์ต่ำกว่ามาตรฐาน) รังแต่จะทำให้ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่เดินไปสู่วังวนของปัญหารายจ่ายที่เกาะกุมสหรัฐฯ มาตลอด หลายประเทศในภูมิภาคตะวันออกกลางและเอเชียซึ่งกำลังอยู่ระหว่างปฏิรูประบบสุขภาพต่างก็กำลังฝ่าฟันกับรายจ่ายสาธารณสุขที่บานปลายเป็นตัวเลข 2 หลักมาต่อเนื่องทุกปีและแซงหน้าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ

ด้วยเหตุนี้ประเทศกำลังพัฒนาจึงไม่ควรจะมัวแต่ลอกแบบอย่างสหรัฐฯ แต่ควรเน้นไปที่การส่งเสริมให้ประชากรมีสุขภาพที่ดี ผลตอบแทนสำหรับผู้ให้บริการโดยยึดโยงกับคุณภาพการบริการแทนที่จะพิจารณาจากจำนวนผู้ป่วย รวมถึงการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดความจำเป็นในการเดินทางมาโรงพยาบาล เช่น การแพทย์ทางไกล การตรวจติดตามจากที่บ้าน

การขยายโรงพยาบาลเป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้ร่ายจ่ายภาคการดูแลสุขภาพพุ่งกระฉูด การที่หลายประเทศพยายามให้บริการสุขภาพแบบสหรัฐฯ ทำให้จำนวนเตียงในโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นอย่างพรวดพราด เฉพาะจีนประเทศเดียวก็มีเป้าหมายที่จะเพิ่มสัดส่วนเตียงเป็น 6 เตียงต่อผู้ป่วย 1,000 คนภายในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งสูงกว่าเป็นเท่าตัวเมื่อเทียบกับสัดส่วนเตียงต่อผู้ป่วยในสหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร

การไหลบ่าของเครื่องมือแพทย์ ยา และความชำนาญด้านเทคนิคจากผู้ผลิตและโรงพยาบาลสัญชาติอเมริกันซึ่งยึดโยงอยู่กับการขยายตัวของโรงพยาบาล ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ผลักดันให้ระบบสุขภาพหลายประเทศเดินไปในทางเดียวกับสหรัฐฯ อัตราการส่งออกผลิตภัณฑ์ด้านบริการสุขภาพจากสหรัฐฯ ไปยังประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่โตขึ้นอย่างมีนัยสำคัญตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมา

ดังเช่นอัตราการส่งออกเครื่องมือแพทย์ เครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ และเครื่องใช้ในโรงพยาบาลไปยังประเทศจีนพุ่งขึ้นถึงร้อยละ 69 นับตั้งแต่ปี 2554

ส่วนตัวเลขส่งออกยาในช่วงเดียวกันก็ดีดตัวขึ้นถึง 2 เท่า อันเป็นทิศทางเดียวกับการส่งออกเครื่องใช้ในโรงพยาบาลซึ่งสูงขึ้นร้อยละ 54 เมื่อเทียบจากตัวเลขในช่วงปี 2550-2555 และ 2555-2559 สถานการณ์เดียวกันนี้เกิดขึ้นทั่วทั้งภูมิภาคตะวันออกกลาง, ละตินอเมริกา, ยุโรปตะวันออก รวมถึงหลายประเทศในแถบเอเชีย

ในการที่จะเดินหน้าไปอย่างยั่งยืนจำเป็นที่ประเทศกำลังพัฒนาจะต้องตระหนักว่าแนวทางของสหรัฐฯ นั้นเป็นสาเหตุของรายจ่ายมหาศาล คณะผู้เขียนได้จำแนกองค์ประกอบสำคัญ 3 ข้อซึ่งจากข้อมูลและประสบการณ์บ่งชี้ว่าเป็นตัวการสร้างผลกระทบร้ายแรงในสหรัฐฯ ไว้ดังนี้

1.เน้นหนักที่การรักษาผู้ป่วย

วิถีปฏิบัติที่ดำเนินมาหลายศตวรรษนี้ยังคงครอบงำอยู่ทั่วโลก หลายประเทศยังคงให้บริการรักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยเป็นหลัก ขณะที่มองการส่งเสริมให้บุคคลมีสุขภาพที่ดีเป็นเรื่องรอง การให้บริการลักษณะนี้มีแต่จะทำให้รายจ่ายสูงขึ้น เพราะเป็นธรรมดาที่การรักษาผู้ป่วยย่อมต้องมีรายจ่ายแพงกว่าการป้องกันไม่ให้เกิดการเจ็บป่วย และในท้ายที่สุดย่อมส่งผลเชิงลบต่อตัวชี้วัดด้านสุขภาพ เช่น อายุคาดเฉลี่ย อัตราตายของทารก และอัตราการเจ็บป่วยท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่นับวันจะทำให้ประชากรยิ่งเสี่ยงต่อโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน และโรคหัวใจ

ยกตัวอย่างประเทศกาตาร์ซึ่งมีแพทย์ปฐมภูมิไม่ถึงร้อยละ 10 เทียบกับตัวเลข 1 ใน 3 ในสหรัฐฯ และเกือบ 2 ใน 3 ในฝรั่งเศส (ซึ่งมีรายจ่ายการรักษาพยาบาลต่ำกว่าแต่มีผลลัพธ์ดีกว่าเมื่อเทียบกับสหรัฐฯ) การพบแพทย์ในกาตาร์จึงมีค่าใช้จ่ายที่สูงเนื่องจากมีแพทย์เฉพาะทางเป็นจำนวนมาก อีกทั้งแนวทางการรักษาที่แพทย์เสนอก็มักครอบคลุมถึงการนอนโรงพยาบาลหรือหัตถการทางการแพทย์

ถึงแม้ผู้ป่วยเสาะหาจนพบแพทย์ปฐมภูมิก็ยังไม่แน่ว่าแพทย์จะมีเวลามากพอสำหรับประเมินรูปแบบการดำเนินชีวิต สุขภาวะ หรือวางแนวทางป้องกันให้ผู้ป่วย ดังที่ข้อมูลสถิติชี้ว่าแพทย์ปฐมภูมิมีเวลาให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยไม่ถึง 7 นาทีเท่านั้น หากต้องการควบคุมรายจ่ายระบบสุขภาพในระยะยาวอย่างแท้จริง ก็ควรส่งเสริมบทบาทของบุคลากรด้านการป้องกันโรค (เช่น โภชนากร ผดุงครรภ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านการเลิกบุหรี่) ให้เทียบเท่ากับแพทย์ โดยที่แพทย์ทั่วไปรับหน้าที่คอยประสานการบริการ

2.จัดสรรค่าตอบแทนตามจำนวนการให้บริการ

การจัดสรรค่าตอบแทนตามจำนวนการให้บริการกำลังเกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศทั้งจีน แอฟริกาใต้ และเวียดนาม ซึ่งสัมพันธ์กับอัตราการรักษาโดยไม่จำเป็นที่เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว เพราะการที่ผู้ให้บริการสุขภาพเพิ่มหัตถการหรือรับผู้ป่วยเพิ่มขึ้น ทำให้สามารถเรียกค่ารักษาเพิ่มขึ้นและนั่นก็หมายถึงผลกำไรที่จะสูงขึ้นด้วย แม้แต่ผู้ให้บริการซึ่งมีเจตจำนงที่แน่วแน่ก็อาจตกลงสู่หลุมพรางของการสั่งตรวจโดยไม่จำเป็น หรือแนะนำการผ่าตัดทั้งที่สามารถรักษาด้วยวิธีการที่เจ็บตัวน้อยกว่าหรือมีค่าใช้จ่ายต่ำกว่า

แล้วเหตุใดกันที่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ถึงยังคงเดินตามแนวทางนี้

ประการแรก...วิธีนี้ง่ายต่อการประเมินผลิตภาพ ต่างจากการประเมินคุณภาพและผลลัพธ์ด้านสุขภาพซึ่งซับซ้อนกว่ากันมาก

ประการที่สอง...การที่ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่มักได้รับเงินช่วยเหลือเพื่อพัฒนาสาธารณูปโภคด้านการรักษาพยาบาลทำให้การอวดศักยภาพการเติบโตและการทำกำไรตามตัวแบบธุรกิจมักดึงดูดเงินทุนและบุคลากรได้ง่ายกว่า

ในประเทศไทยประเมินกันว่ามีสถานพยาบาลเอกชนราวร้อยละ 28 และมีบริษัทโรงพยาบาลอยู่ในวงการอีกไม่น้อยกว่า 8 ราย รัฐบาลไทยเองก็พยายามส่งเสริมการลงทุนในบริการด้านการแพทย์เพื่อที่จะตอบสนองความต้องการภายในประเทศ รวมถึงรักษาสถานะของการเป็นประเทศแหล่งท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพซึ่งเน้นไปที่การรักษาพยาบาลด้วยหัตถการ เป็นธุรกิจที่กำลังผลิบานในหลายประเทศกำลังพัฒนา การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้สร้างธุรกิจสำหรับอุตสาหกรรมการแพทย์ในประเทศด้วยการเสนอบริการหัตถการที่ราคาถูกกว่าสำหรับชาวอเมริกันหรือพลเมืองประเทศอื่นซึ่งการรักษาพยาบาลในประเทศตนเองมีค่าใช้จ่ายแพงลิ่ว

ระบบสุขภาพจำเป็นต้องกำหนดนิยามผลิตภาพที่ต่างออกไป โดยจ่ายค่าตอบแทนแก่แพทย์ตามผลลัพธ์ด้านสุขภาพแทนที่จะประเมินตามจำนวนหัตถการหรือการรักษา สนับสนุนงบประมาณแก่การป้องกันโรคและบริการปฐมภูมิ และเปลี่ยนโรงพยาบาลให้กลายเป็นหน่วยงานที่คำนึงถึงค่าใช้จ่ายไม่ใช่เพียงเครื่องจักรผลิตกำไร

ทุกสิ่งที่กล่าวมาล้วนต้องอาศัยความตระหนักถึงธรรมชาติของการให้บริการด้านสุขภาพและต้นทุนการบริการ

นอกจากนี้ความโปร่งใสของข้อมูลทางคลินิกและการไหลของเงินทุนก็ยังเป็นปัจจัยที่มีส่วนสำคัญต่อการก่อตั้งระบบการหากำไรอย่างสมเหตุสมผล

3.เน้นการพัฒนาแต่สาธารณูปโภค

เตียงแต่ละหลังล้วนมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษา ความต้องการที่จะปรับปรุงโรงพยาบาลให้ทันสมัยและรักษาความได้เปรียบด้านการแข่งขันบีบให้ประเทศกำลังพัฒนาต้องซื้อเครื่องมือราคาแพง เช่น เครื่องเอ็มอาร์ไอและซีทีสแกน ซึ่งบางครั้งค่าใช้จ่ายอาจโดดขึ้นไประดับเดียวกับค่าก่อสร้างตึกโรงพยาบาลทั้งหลัง และในระยะยาวยังต้องมีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรทั้งแพทย์ พยาบาล ผู้ช่วยแพทย์ เภสัชกร และนักเทคนิคการแพทย์ ซึ่งจะเห็นได้ว่าการพัฒนาในแนวทางนี้มีแต่จะก่อให้เกิดค่าใช้จ่ายไม่จบสิ้น

หากประเทศกำลังพัฒนาต้องการลงทุนด้านระบบสุขภาพก็ควรเริ่มต้นด้วยการศึกษาจากความสำเร็จของเครือข่ายการสื่อสารระบบไร้สาย ทุกวันนี้หลายประเทศในแอฟริกามีเสาสัญญาณโทรศัพท์ทั้งที่ไม่มีสายโทรศัพท์ภาคพื้นดินเสียด้วยซ้ำ และร้อยละ 80 ของประชากรวัยผู้ใหญ่สามารถเข้าถึงโทรศัพท์มือถืออันเป็นจำนวนที่สูงกว่ากันลิบลิ่วเมื่อเทียบกับจำนวนผู้ใช้เครือข่ายโทรศัพท์บ้าน

ระบบสุขภาพก็สามารถกระโดดข้ามแนวทางเก่าไปสู่เทคโนโลยีดิจิตอล เทคโนโลยีสื่อสารยุคใหม่ เช่น การแพทย์ทางไกลและการตรวจติดตามผู้ป่วยจากที่บ้านช่วยให้สามารถติดตามผู้ป่วยได้อย่างฉับไวซึ่งส่งผลต่อคุณภาพการบริการที่ดีและสะดวกด้วยค่าใช้จ่ายที่ต่ำกว่า เทคโนโลยีใหม่ยังเอื้อให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขสามารถติดตามข้อมูลสุขภาพ การฉีดวัคซีน หรือกระทั่งโภชนาการ และติดตามสุขภาพของประชากรได้ด้วยโทรศัพท์มือถือ

ล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขของรัฐดูไบประกาศจะติดตั้งหุ่นยนต์แพทย์ RoboDocs ทำงานร่วมกับพยาบาล ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการเข้าถึงแพทย์อย่างฉับไวจากทุกที่และทุกเวลา โดยคณะผู้เขียนประเมินว่าการบริการลักษณะนี้จะลดรายจ่ายสุขภาพในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาราวร้อยละ 15-20 และจะเห็นผลได้ในเวลาอันรวดเร็ว

ในระหว่างที่สหรัฐฯ กำลังพยายามนำระบบที่พังไปแล้วมาประดิษฐ์ใหม่นี้ เป็นโอกาสที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนาจะได้เรียนรู้จากความผิดพลาดของสหรัฐฯ และหันมาสร้างระบบสุขภาพบนพื้นฐานเทคโนโลยีดิจิตอลโดยเน้นไปที่การป้องกันโรคแทนที่จะมุ่งเพียงการรักษาโรคเท่านั้น

กุญแจสำคัญนั้นก็อยู่ที่การจัดลำดับความสำคัญและออกแบบตัวระบบให้สอดคล้องกัน แทนที่จะปล่อยให้ตัวระบบซึ่งมักกระหายแต่การเติบโตกำหนดรูปแบบการให้บริการรักษาพยาบาล

แปลจาก 3 Mistakes in U.S. Health Care That Emerging Economies Can’t Afford to Repeat: www.hbr.org