ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

จากข้อมูลของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดศรีสะเกษ ชาวศรีสะเกษมีผู้ดื่มสุราอายุ 15 ปีขึ้นไป 119,822 คน โดยมีผู้ติดสุราอายุ 15–19 ปี จำนวน 13,522 คน ซึ่งเด็กเยาวชนที่นี่เป็นกลุ่มเสี่ยงในการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สูงเป็นอันดับ 5 ของประเทศ

สถิติข้างต้นได้จากพฤติกรรมและค่านิยมของคนในพื้นที่ ที่งานใดๆ จะต้องมีเหล้า และการพนันเข้ามาเกี่ยวข้อง ที่ถูกส่งต่อมาจากมารุ่นสู่รุ่น แต่ในวันนี้ จ.ศรีสะเกษหลุดพ้นจากกับดักค่านิยมนี้ ผลที่ได้คือ ประชาชนในพื้นที่มีสุขภาพดีขึ้น ทางจังหวัดได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาเป็นหลักปฏิบัติในการลด ละ เลิกเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และการพนันในงานบุญต่างๆ ซึ่งประกาศนโยบายครบทั้ง 22 อำเภอ และขับเคลื่อนจนเกิดผลสำเร็จเป็นอันดับ 1 ของประเทศ เกิดชุมชนต้นแบบที่ ต.เสียว อ.โพธิ์ศรีสุวรรณ ซึ่งมีงานบุญปลอดเหล้า 13 งาน และเตรียมยกระดับงานบุญออกพรรษาเป็นงานบุญปลอดเหล้างานที่ 14 เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่ในหลวงรัชกาลที่ 9

ครูจันทร์ โต๊ะสิงห์

ครูจันทร์ โต๊ะสิงห์ ผู้ประสานงานประชาคมงดเหล้าจังหวัดศรีสะเกษ นักรณรงค์ชวนคนเลิกเหล้ารางวัลคนดีแทนคุณแผ่นดิน/รางวัลครูดีไม่มีอบายมุขปี 2559 จากกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ตั้งแต่เกิดมาตนไม่เคยดื่มเหล้า แต่อยู่ในสังคมที่มีการดื่มเหล้ามาโดยตลอด เห็นปัญหาครอบครัวพ่อแม่ตีกัน ลูกไม่เชื่อฟังพ่อแม่ ปัญหาต่างๆ ที่เกิดมานั้นมีต้นตอมาจากเหล้า

ส่วนแนวคิดของครูจันทร์ในการทำงานเรื่องงดเหล้า หลังจากที่เกษียณแล้วได้เข้ามาเริ่มทำงานในเรื่องดังกล่าวอย่างจริงจัง แต่งานแบบนี้ประสบความสำเร็จได้จะต้องมีกลุ่มคนทำงานโดยตลอดไม่ใช่ทำงานคนเดียว ประกอบกับจะต้องมีชุดความรู้ในเรื่องการณรงค์งดเหล้า ครูจันทร์จึงคิดว่าจะต้องมีการจัดตั้งคณะกรรมการตำบลเสียวขึ้นมาประมาณ 20 คน คณะกรรมการชุดนี้จะต้องออกไปพูดคุยกับประชาชน ทำประชาคมหมู่บ้าน เพื่อให้ประชาชนได้แสดงความคิดเห็นเรื่องที่เขาสูญเสียในเรื่องต่างๆที่มีสาเหตุจากการดื่มเหล้าว่ามีเรื่องอะไรบ้าง ทางด้านเศรษฐกิจมีความเสียหายอะไรบ้าง ด้านสังคมมีอะไรบ้าง แล้วขอมติจากพวกเขาว่าถ้าเราจะจัดงานอะไรก็ตามจะไม่ให้มีเหล้า เช่นในงานศพ บอกเขาว่าจะเอามั้ย เขาบอกว่าเอา ถามต่อไปอีกว่าแล้วจะเอางานอะไรอีก เขาบอกว่างานกฐินซึ่งเป็นงานบุญ งานบวชซึ่งทุกคนเห็นด้วย และอีกงานหนึ่งคืองานอัฐิ คืองานทำบุญกระดูกให้พ่อแม่ที่ล่วงลับไปแล้ว

“งานที่เสียค่าใช้จ่ายเยอะที่สุดคืองานศพกับงานแต่ง เช่น งานศพ ถ้าลูกเต้าอยู่ไกลก็มีการไว้ศพนานถึง 7-8 วัน จะต้องมีการอยู่เป็นเพื่อนศพ จะต้องเอาเหล้ามาตั้งไว้ทุกโต๊ะ งานหนึ่งๆ มีค่าใช้จ่ายค่าเหล้าประมาณ 4-5 หมื่นบาทสำหรับคนมีหน้ามีตา ถ้าคนจนหน่อยจะตกประมาณ 1 หมื่นบาท ซึ่งเป็นค่านิยมของคนสัมยก่อนถ้าไม่มีเหล้าไม่มีการพนันจะไม่มีคนอยู่เป็นเพื่อนศพ ซึ่งในที่สุดเรื่องดังกล่าวมันไม่ใช่”

และในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา ที่ตำบลเสียวจะไม่มีการเล่นการพนันเลย ส่วนกลุ่มที่ต่อต้านมีบ้างคือกลุ่มคนที่ดื่ม เขาเป็นคนกลุ่มน้อย เขาก็จะไม่ยกมือให้เวลาที่เราขอมือในการทำเวลาประชาพิจารณ์ที่สนับสนุนงดเหล้าในงานบุญ งานศพ โดยภาพรวมแล้วคนก็ยกให้เกือบ 100% ส่วนร้านค้าก็ลองๆดูไม่ยกมือ แต่ก็ไม่ถึงขนาดต่อต้าน

ปัจจัยที่ทำให้ชาวบ้านให้ความร่วมมือนั้น ครูจันทร์มองว่าเป็นเพราะพวกเขามองเห็นปัญหา ว่าปัญหาการดื่มเหล้ามันทำให้เสียเงิน เสียทอง ปัจจัยที่สองคนที่มาเป็นคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกออฮอล์ส่วนใหญ่มาจากครู กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน มีผู้เฒ่า หรือสภาผู้เฒ่า ที่คนในชุมชนให้ความไว้เนื้อเชื่อใจ เป็นคนที่มีคุณภาพ เป็นคนที่ไม่ดื่ม มีความตั้งใจจริงพอมาชวนทำมันให้ความรู้สึกว่าง่ายขึ้น สิ่งที่คัญที่สุดคือ ตัวค่าใช้จ่ายที่เขาเสียไป มันเป็นสิ่งที่สำคัญที่เขามองเห็น

ครูจันทร์ บอกว่า ความแตกต่างในสังคมก่อนและหลังการงดเหล้าในงานต่างๆที่เห็นเด่นชัดในสังคมคือ ความสงบเรียบร้อย สมมติว่า เมื่อก่อนเข้าไปในงานศพ จะมีการเล่นการพนัน ดื่มเหล้า ตีกัน พูดเสียงดังโวกเวก แต่ทุกวันนี้เมื่อรู้ว่ามีคนตายต่างก็มาช่วยกัน ไม่เมาเหล้า ทุกคนช่วยกันทำงาน ตอนกลางคืน สวดพระอภิธรรมก็มีความสงบเรียบร้อย ไม่มีเสียงดัง

“จะมองว่า ที่เรามองเห็นต่างคือ คุณภาพชีวิตของคนดีขึ้น คนพูดกันง่ายขึ้น ความแตกแยกก็ไม่มีเพราะว่าพอไม่มีเหล้าก็ไม่มีความแตกแยก คุยกันรู้เรื่อง”

สำหรับกลุ่มเยาวชนที่ยังเป็นห่วงเพราะว่าเด็กเหล่านี้ไม่ได้เข้ามาฟังเรื่องประชาพิจารณ์ของหมู่บ้าน แต่เรามีสโลแกน “ให้ดู อยูให้เห็น” โดยเรามีผู้เฒ่า ผู้แก่ทำให้เขาดู ทำให้เขาเห็น แต่ในความจริงให้เรารณรงค์ให้ตายเด็กเขาก็ไม่ได้ดูการรณรงค์ เพราะฉะนั้นต้องต้องพยายามเข้าใกล้เขา โดยใช้เพื่อนให้ชวนเพื่อนลดละเลิก เหล้า และมีก็มีเด็กสวนหนึ่งที่เค้าดีอยู่แล้วเราจะไปโทษว่าเป็นเด็กไม่ดีทั้งหมดไม่ได้ จะมีแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้นที่ไม่ค่อยให้ความสนใจเรื่องการรณรงค์ต่างๆ

ในการทำงาน จะเชิญชวนร้านค้า ภาคราชการทั้งหมดเข้ามาเป็นคณะทำงานด้วย เรียกว่าคณะกรรมการสุขภาพตำบล และมีการทำงานประสานงานกับจังหวัดโดยประสานกับสาธารณสุขจังหวัด ผู้ว่าราชการจังหวัด ที่สำคัญเวลามีกฎหมายใหม่ๆเข้ามา เช่น พ.ร.บ.เหล้า เราจะเชิญชวนร้านค้าเพื่อที่จะให้เขาได้รับรู้โดยด่วนเลย และทาง อบต.จะทำโบชัวร์ออกไปที่ร้านค้า ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีมากถึง 80% ส่วนโรงเรียน วัด สถานที่ราชการ นั้นไม่มีปัญหา เพราะสถานที่เหล่านี้ถือว่าเป็นของคนในชุนชน

ปีนี้การทำงานในภาพรวมจะมุ่งเข้าไปที่โรงเรียน ที่ตอนนี้ได้สานความสัมพันธ์ไว้กับศึกษาธิการจังหวัดและผู้ที่เกี่ยวข้องในแวดวงการศึกษา ซึ่งจะเข้าไปพูดคุยตั้งแต่ระดับศูนย์เด็กเล็กไปจนถึงมหาวิทยาลัย เป็นการสร้างความรู้ร่วมกัน และให้รับรู้ถึงปัญหาของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

สุดท้ายครูจันทร์ได้ให้แง่คิดไว้ว่า ถ้าในสังคมเราไม่ลุกขึ้นมา และการทำงานที่จะประสบความสำเร็จได้เราต้องหาเจ้าภาพให้ได้ ไม่ใช่นั้นครูจันทร์คงไม่สร้างพื้นที่ต้นแบบที่ตำบลเสียว ตำบลส้มป่อย คือแนวคิดว่าถ้าเราทำงานคนเดียวจะลำบาก การพูดประชาสัมพันธ์ จะไม่มีใครฟัง แต่ถ้าไปสร้างต้นแบบไว้โดยให้ต้นแบบเขาดำเนินการเอง สื่อสารเองในปัญหาของเขาจะได้ผลดีมาก ดังนั้นแนวคิดของตนคือจะยึดต้นแบบไว้สำคัญวางไว้ทั่วจังหวัดศรีสะเกษอำเภอละหนึ่งอำเภอ