ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เลขาธิการ สปสช.แนะเขต 11 พัฒนา “โครงการพร้อมใช้” ให้ท้องถิ่นเลือกหยิบไปดำเนินการถ้าคิดโครงการไม่ออก หลังพบเงินกองทุนสุขภาพตำบลค้างท่อกว่า 500 ล้านบาท ย้ำจุดสำคัญต้องเป็นโครงการที่สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่และให้ท้องถิ่นตัดสินใจทำเองโดยไม่มีการยัดเยียด

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา

นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ลงพื้นที่เขต 11 สุราษฎร์ธานีเพื่อตรวจเยี่ยมติดตามงานปีงบประมาณ 2561 เมื่อวันที่ 20-21 พ.ย. 2560 ที่ผ่านมา โดยพบว่าปัญหาของการดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพตำบลของเขต 11 คือคณะกรรมการบริหารกองทุนตำบลและผู้รับผิดชอบงานขาดความรู้ความเข้าใจในการบริหารจัดการกองทุน ขาดความมั่นใจในการใช้งบประมาณ เกรงว่าจะถูก สตง.เอาผิด

ขณะที่ในส่วนของภาคประชาชนและหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องก็ยังขาดความรู้หรือไม่ทราบแนวทางปฏิบัติ/แนวทางการจัดทำแผนงานโครงการ ทำให้มีเงินงบประมาณเหลือสะสมทุกปี โดย ณ วันที่ 30 ก.ย. 2560 จำนวน 513 ล้านบาท

นพ.ศักดิ์ชัย ได้ให้นโยบายว่าจุดชี้ขาดในการแก้ปัญหาน่าจะมีการผลิตเมนูหรือรายการโครงการในลักษณะที่เฉพาะหน้าและเป็นไปตามบริบทของท้องถิ่นขึ้นมา เพื่อเป็นทางเลือกให้สามารถนำไปใช้ได้เลย แต่ประเด็นหลักคือต้องให้ท้องถิ่นเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะเลือกทำหรือไม่ สปสช.จะไม่ยัดเยียดให้ทำ เพียงแต่ช่วยอำนวยความสะดวกในระยะเริ่มต้น

“อย่างกระทรวงสาธารณสุขก็มีเรื่อง Service Plan และงาน PP&P ในบางท้องที่ก็มีธรรมนูญสุขภาพตำบล มี Health Need ในพื้นที่ สิ่งเหล่านี้คือความสอดคล้องในพื้นที่ ลักษณะของโครงการต้องเป็นโครงการที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นประโยชน์ต่อชาวบ้านและผู้ตรวจสอบยอมรับว่าถูกต้อง ก็ให้ทำเป็นโครงการไว้ว่าใช้งบเท่าไหร่ ต้องทำอะไร พื้นที่ไหนที่คิดโครงการไม่ออกก็คุยกันว่ามีแบบนี้ๆ ถ้าสนใจก็เอาไปทำ คล้ายๆ กับเป็นโครงการสำเร็จรูปพร้อมให้ชุมชนหยิบเอาไปใช้” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว

นพ.ศักดิ์ชัย กล่าวต่อไปว่า หากสามารถผลิตเมนูโครงการในลักษณะนี้ ก็จะทำให้เกิดการทำงานในพื้นที่ได้จริงและสามารถทำให้เม็ดเงินกองทุนสุขภาพตำบลกระจายออกไป โดยตัวชี้วัดน่าจะมี 2 ด้านคือในส่วนของงานคือมีการเลือกใช้เมนูโครงการที่สอดคล้องกับบริบทพื้นที่ และเรื่องเม็ดเงินกองทุนฯ ที่ดีที่สุดคือได้มากเท่าไหร่ก็ต้องใช้ให้หมดหรือยิ่งเหลือน้อยยิ่งดี

“วัตถุประสงค์คือทำให้เกิดการทำงานในพื้นที่ พอมีการทำงาน เม็ดเงินมันก็จะกระจายออกไป ไม่อย่างนั้นทุกๆ ปีก็จะมีเงินสะสมเพิ่มขึ้นๆ ปีละประมาณ 80 ล้านบาท ถ้าเป็นแบบนี้ก็เหมือนน้ำท่วม เราก็ต้องบริหารจัดการให้ดี ถ้าเราเปิดทางน้ำให้ไหลออกมันก็จะไม่ท่วม ส่วนเรื่องงานก็เหมือนคุณภาพน้ำว่าจะเอาไปใช้อย่างไร บริโภคเท่าไหร่ ทำการเกษตรเท่าไหร่ขึ้นอยู่กับบริบทพื้นที่ว่าเน้นเรื่องอะไร แต่ในระยะยาวเราก็ต้องส่งเสริมให้ท้องถิ่นคิดโครงการขึ้นมาเอง หรือพอทำโครงการที่เตรียมไว้ให้แล้วเริ่มมั่นใจขึ้นก็สามารถนำไปพัฒนาต่อได้” นพ.ศักดิ์ชัย กล่าว