ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ 16 ราชวิทยาลัย ลงนามบันทึกความร่วมมือพัฒนาระบบบริการและการผลิตและพัฒนาบุคลากร นับเป็นครั้งแรกของความร่วมมือ รองรับแผนงานด้านสาธารณสุข ปี 2561

นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร

เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2560 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และ นพ.เจษฎา โชคดำรงสุข ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานพิธีลงนามความร่วมมือระหว่างกระทรวงสาธารณสุขกับราชวิทยาลัยทุกแห่งของประเทศทั้ง 16 แห่ง เพื่อพัฒนาและเติมเต็มขีดความสามารถในการให้บริการประชาชน ทั้งเรื่องระบบบริการ บุคลากร งานวิชาชีพ นวัตกรรม

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกของวงการสาธารณสุขไทย ที่กระทรวงสาธารณสุข และ16 ราชวิทยาลัย ร่วมมือทำงานโดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนเป็นหลัก ความร่วมมือครั้งนี้มี 2 ประเด็นหลัก คือ

1.การผลิตและพัฒนาบุคลากร เช่น การส่งเสริมการผลิตแพทย์ 3 สาขา ประกอบด้วย สาขาเวชศาสตร์ครอบครัว สาขาระบาดวิทยาและสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน รองรับการดำเนินงานคลินิกหมอครอบครัวศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข และการดูแลผู้ป่วยวิกฤตฉุกเฉิน (UCEP)

2.การพัฒนาระบบบริการสุขภาพ เช่น โครงการรักษาพยาบาลแบบวันเดียวกลับบ้าน (One day surgery) และการผ่าตัดแผลเล็ก การพัฒนาระบบบริการ (Service Plan) และศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Excellence Center) เป็นต้น โดยจะมีการกำกับ ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานในทุก 3 เดือน ทั้งนี้ เพื่อดำเนินงานตามกรอบการขับเคลื่อนด้านสาธารณสุข จากมติคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์ (Mini Cabinet) ระยะเร่งด่วน 1 – 3 ปี และรองรับแผนการพัฒนาระบบบริการสุขภาพในปีงบประมาณ 2561

สำหรับความร่วมมือการผลิตและพัฒนาบุคลากร มี 8 ราชวิทยาลัยรองรับ คือ

1.ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย ผลิตแพทย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางสาขาจักษุ

2.ราชวิทยาลัยจิตแพทย์แห่งประเทศไทย จัดสรรทุนและเพิ่มการผลิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาจิตเวชศาสตร์

3.ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย ผลิตและพัฒนาแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว

4.ราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทย ผลิตสรรหาบุคลากร และการพัฒนาคุณภาพระบบบริการ

5.ราชวิทยาลัยวิสัญญีแพทย์แห่งประเทศไทย พัฒนาบุคลากรทางการแพทย์

6.ราชวิทยาลัยศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย พัฒนากำลังคนด้านศัลยแพทย์

7.ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย สร้างความร่วมมือในการผลิตบุคลากร

8.ราชวิทยาลัยแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย ฝึกอบรมเพิ่มการผลิตและธำรงรักษาแพทย์ผู้มีความรู้ความชำนาญสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน

สำหรับการพัฒนาระบบบริการ มี 8 ราชวิทยาลัยรองรับ คือ

1.ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทยบูรณาการส่งเสริมสุขภาพเด็กปฐมวัย วัยเรียน และวัยรุ่น

2.ราชวิทยาลัยทันตแพทย์แห่งประเทศไทย พัฒนาระบบบริการสุขภาพ สาขาสุขภาพช่องปาก

3.ราชวิทยาลัยประสาทศัลยแพทย์แห่งประเทศไทย พัฒนาระบบเวชปฏิบัติด้านประสาทศัลยศาสตร์

4.ราชวิทยาลัยพยาธิแพทย์แห่งประเทศไทย พัฒนาระบบบริการพยาธิวิทยากายวิภาค

5.ราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟูแห่งประเทศไทย การฟื้นฟูในกลุ่มผู้ป่วยระยะกลาง

6.ราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย การถ่ายทอดเทคโนโลยีและความรู้ด้านการป้องกันกระดูกหักซ้ำ ไปสู่โรงพยาบาลภูมิภาค

7.ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย การป้องกันมะเร็งปากมดลูกและการผ่าท้องคลอดโดยไม่จำเป็น

8.ราชวิทยาลัยโสต ศอ นาสิกแห่งประเทศไทย ประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วยด้านโสต ศอ นาสิก

การดำเนินการในครั้งนี้ จะทำให้เกิดความร่วมมือในการผลิตบุคลากรหลากหลายสาขา ที่มีความเชี่ยวชาญสูงและพัฒนามาตรฐานการให้บริการประชาชน ส่งผลดีในการดูแลรักษาประชาชนได้ดียิ่งขึ้น ทั้งระยะสั้นและระยะยาว